คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รัก สุดสัปดาห์ที่แล้วหลายท่านคงได้ทราบข่าวว่าหิมะตกหนักที่ญี่ปุ่นรวมถึงกรุงโตเกียวด้วย คราวก่อนฉันเองก็เขียนบทความเกี่ยวกับ เรื่องวุ่น ๆ เมื่อหิมะตกในโตเกียว พอดี ไม่นึกเลยค่ะว่าจะตกจริงอย่างประจวบเหมาะอย่างนั้น เห็นสภาพความวุ่นวายตอนหิมะตกกับนิสัยเอาจริงเอาจังของคนญี่ปุ่นแล้วก็นึกได้ว่ามีเรื่องมาเล่าสู่กันฟังได้อีก
ถ้าเพื่อนผู้อ่านที่รักได้เห็นข่าวทางโทรทัศน์หรืออินเทอร์เน็ตคงได้เห็นภาพคนญี่ปุ่นรอขึ้นรถไฟกันอย่างแน่นขนัดจนล้นสถานี หรือยืนต่อแถวรอรถไฟหรือรถเมล์มาเป็นชั่วโมงแล้วแต่ก็ยังยืนรอต่อไปอย่างอดทนแม้จะรู้ว่าตัวเองจะไปทำงานสายก็ตาม ดูจากสภาพแล้วอย่างเร็วกว่าจะไปถึงที่ทำงานได้ก็คงใช้เวลาอย่างต่ำสองสามชั่วโมง และตอนกลับบ้านถ้าหากหิมะยังตกหนักและการจราจรยังมีปัญหาอยู่ ก็น่าจะยังคงโกลาหลเช่นเคย
ฉันคิดเล่น ๆ ว่าถ้าให้พนักงานพักอยู่ที่บ้านหรือทำงานจากบ้านจะดีกว่าในระยะยาวไหม คือพนักงานไม่ต้องกังวลว่าจะไปสาย (เพราะการไปสายเป็นเรื่องคอขาดบาดตายมากสำหรับคนญี่ปุ่น) แถมพอไปถึงก็คงทำงานอะไรไม่ได้มากนัก เพราะบริษัทห้างร้านอื่น ๆ ที่ติดต่อด้วยก็คงได้รับผลกระทบ และหากเป็นร้านค้าก็คงไม่มีคนออกมาใช้บริการกันมากนัก คนญี่ปุ่นมีความเครียดสูงอยู่แล้ว ได้มีวันหยุดพักหนึ่งวันเต็ม ๆ คงรู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้นมาก แต่ในความเป็นจริงก็คงยากที่บริษัทห้างร้านจะยอมเสียรายได้ไปฟรี ๆ หนึ่งวัน
สามีฉันบอกว่าแม้ว่าสถานการณ์จะเป็นแบบนี้ หากที่ทำงานไม่ได้บอกให้หยุด อย่างไรก็ต้องไป และถ้าหากในวันทำงานปกติมีข่าวว่าสภาพอากาศจะย่ำแย่ในตอนบ่ายหรือเย็น บริษัทจะบอกพนักงานว่าให้กลับบ้านเร็วได้ แต่คนญี่ปุ่นก็ยังไม่กล้ากลับบ้านเร็วกันอยู่ดี ยังทำงานต่อแล้วกลับบ้านเอาตอนอากาศแย่ ๆ เดินทางลำบากแล้ว พอวันต่อมาไปทำงานก็คุยฟุ้งว่าเมื่อวานกลับบ้านลำบากขนาดไหนเสมือนเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง ที่เป็นอย่างนี้อาจเพราะส่วนหนึ่งคือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทและรับผิดชอบในหน้าที่การงาน อีกส่วนหนึ่งคือความเกรงอิทธิพลของกลุ่ม ไม่กล้าทำในสิ่งที่ต่างจากกลุ่มตนเองแม้จะมีสิทธิ์ เมื่อคนอื่นยังไม่กลับ ตนจึงไม่กล้ากลับไปด้วย
ตอนเห็นภาพฝูงชนชาวญี่ปุ่นที่กำลังตั้งหน้าตั้งตารอเข้าแถวขึ้นรถไฟไปทำงานกันอย่างล้นหลามอย่างน่าตกใจ แถมแต่ละคนยังอยู่ในความเป็นระเบียบและสงบราวกับว่าการเข้าแถวรอรถไฟเป็นเวลานานเป็นเรื่องปกติแล้ว ก็รู้สึกว่านั่นคงเป็นภาพที่เห็นได้ยากในประเทศอื่น และไม่น่าเกิดขึ้นกับคนอเมริกันได้
ข้อแรกคือเป็นเพราะคนอเมริกันคิดต่างจากคนญี่ปุ่นและยืดหยุ่นกว่าในหลายบริบท บริษัทหลายแห่งอนุญาตให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ อย่างเช่นในเวลาที่หิมะตกหนัก เดินทางลำบาก รถไฟไม่วิ่ง ถ้าทางการไม่ได้ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉิน นายที่บริษัทก็จะติดต่อมาบอกเองว่าวันนี้ไม่ต้องเข้าบริษัท แต่ให้ทำงานจากบ้านไปเลย ข้อที่สองคือคนอเมริกันไม่น่าจะมีความอดทนขนาดนั้น (ฮา) เพราะแค่เวลาขับรถแล้วติดไฟแดงอยู่ ทันทีที่ไฟเขียวปุ๊บ ก็จะมีรถที่บีบแตรไล่รถคันหน้า ๆ ให้รีบออกตัวไปเดี๋ยวนั้นเลยเป็นประจำ
ชมรมเทนนิสคนญี่ปุ่นที่ฉันเล่นด้วยที่สหรัฐ ฯ นี่ก็ออกจะคล้ายกันคือ แม้ว่าหิมะจะตกหนัก แต่ตราบใดที่ทางการไม่ได้ประกาศว่าเป็นภาวะฉุกเฉินและสนามเทนนิสไม่ได้ปิดให้บริการ ชมรมก็จะเล่นเทนนิสตามปกติ ส่วนใครจะมาไม่มาขอให้ตัดสินใจเอาเองและให้ติดต่อบอกหัวหน้าชมรมมาแต่เนิ่น ๆ ด้วย เวลาที่เราเล่นกันในสนามกลางแจ้งก็เหมือนกัน บางทีแอพลิเคชั่นพยากรณ์อากาศในมือถือมันก็บอกว่าฝนจะตก ซึ่งบางทีบ้านฉันตก แต่ที่สนามเทนนิสกลับไม่ตก หรือบางทีตอนออกจากบ้านยังไม่ตก แต่อาจตกในระหว่างเล่น หัวหน้าชมรมจะไม่บอกว่าวันนี้จะยกเลิกหรือไม่ แต่ให้ตัดสินใจเอาเองว่าจะมาหรือไม่มา ฉันอยากให้หัวหน้าติดต่อบอกทุกคนไปเลยมากกว่าว่าจะยกเลิกหรือไม่ จะได้ไม่ต้องมาวัดดวงเรื่องสภาพอากาศหรือคอยสแตนด์บายเฝ้าดูแอพลิเคชั่นพยากรณ์อากาศกันทุก ๆ ชั่วโมง
ถ้าเป็นคนไทยหรือคนชาติอื่น ๆ คงง่ายกว่านี้ คงสามารถบอกกันสบาย ๆ ได้ว่าวันนี้ขอไม่ไปนะ หรือวันนี้ยกเลิกนะ โดยที่ไม่ต้องรู้สึกผิดหรือเป็นหน้าที่รับผิดชอบ แต่พอเป็นกลุ่มคนญี่ปุ่นมันจะรู้สึกไม่สบายใจถ้าไม่ไป เหมือนเรามีภารกิจหนึ่งที่ต้องทำต่อกลุ่มแต่เราเลือกที่จะไม่ทำ รวมทั้งคนญี่ปุ่นก็มักกลัวว่าจะถูกมองอย่างไรด้วย บางทีไม่ได้อยากทำก็ต้องทำ
และถึงแม้ชมรมนี้จะเล่นเทนนิสเพื่อสุขภาพและสังสรรค์กัน แต่ก็ใช่ว่าจะเล่นสนุกไปเรื่อยแบบไม่มีทิศทาง ต้องเวียนกันเป็นฝ่ายกำหนดธีมล่วงหน้าว่าสัปดาห์ต่อไปจะซ้อมอะไร ใครจะเป็นคนนำ ใครจะเป็นคนจัดตารางแข่ง ใครรับผิดชอบอะไรบ้าง ทุกคนมีหน้าที่อย่างไรบ้าง ดูมีกฎเกณฑ์มากมาย ซึ่งนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ฉันได้รู้ว่าคนญี่ปุ่นจริงจังกระทั่งกับงานอดิเรก และจะได้ยินคนอุทาน “ขอโทษ” ทุกครั้งที่ตีพลาดหรือเล่นได้ไม่ดีระหว่างเล่นอยู่เสมอเพราะรู้สึกว่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน บางวันคนไหนเล่นได้แย่มากก็จะโทษตัวเองและรู้สึกผิดต่อคนอื่น พูดไปแล้วก็รู้สึกว่าไม่แปลกเลยที่คนญี่ปุ่นจะมีความเครียดสูงเพราะพยายามทำตามความคาดหวังของสังคม รับผิดชอบบทบาทหน้าที่ ปะปนกับอารมณ์และความคิดนึกอันสลับซับซ้อนในใจของตัวเองแบบที่ไม่ค่อยจะพบในคนชาติอื่นเท่าใดนัก
ภรรยาของสมาชิกในทีมคนหนึ่งเป็นคนโคลัมเบีย เธอเป็นฝ่ายสนใจอยากมาเล่นเทนนิสและชวนสามีชาวญี่ปุ่นของเธอมาด้วย แต่เธอมาเข้ากลุ่มหนเดียวแล้วก็ไม่มาอีกเลย ตอนเจอเธอนอกรอบครั้งหนึ่ง ฉันถามเธอว่าไม่อยากเล่นเทนนิสแล้วหรือ เธอบอกว่าเธออยากจะเล่นแบบสบาย ๆ ไม่ต้องมาเครียด เอาจริงเอาจังกันขนาดนั้น สามีชาวอเมริกันของเพื่อนในทีมคนหนึ่งก็เช่นกัน แม้เขาจะเล่นเทนนิสเป็น พูดญี่ปุ่นเก่ง และรู้จักสังคมญี่ปุ่นเป็นอย่างดีก็ยังขอผ่าน ขนาดสามีฉันเป็นคนญี่ปุ่นเองก็ยังไม่เอาด้วยเหมือนกัน ทุกคนทำสีหน้าท่าทางแบบเดียวกันคือส่ายหัวแล้วทอดถอนใจ ก็คงมีฉันคนเดียวแหละที่หลงมาติดกับ แถมยังคิดเสมอว่าทำไมแค่เล่นเทนนิสจะต้องเครียดขนาดนี้ด้วยนะ แต่ระหว่างเล่นหรือคุยกับเพื่อน ๆ ในกลุ่มก็สนุกดีจึงไม่ได้ออกจากชมรม
สมัยก่อนตอนอยู่ญี่ปุ่น ฉันเคยนัดกับเพื่อนสนิทชาวญี่ปุ่นว่าจะออกไปข้างนอกด้วยกัน เผอิญว่าวันนั้นฝนตกหนักและลมแรง ไม่เหมาะกับการไปเดินอยู่ข้างนอกเอาเลย ถ้าเป็นที่เมืองไทยก็คงเป็นที่รู้กันว่าวันนี้คงได้ยกเลิกนัดแน่ ไม่เพื่อนหรือฉันก็จะโทรไปหาอีกฝ่ายเพื่อขอยกเลิก ฉันรู้สึกว่ามันเป็นคอมม่อนเซ้นส์ที่จะยกเลิกโปรแกรมอะไรทั้งหลายยามฝนตกหนัก ๆ โดยเฉพาะในเมื่อการจราจรในกรุงเทพ ฯ เป็นอัมพาตทุกครั้งที่ฝนตก
พอชินกับสถานการณ์แบบนี้ในไทย ฉันก็เลยบอกเพื่อนคนญี่ปุ่นแบบเดียวกันว่าวันนี้ยกเลิกไปวันอื่นแทนก็แล้วกันนะเพราะฝนตก เพื่อนก็บอกว่าไม่เป็นไร เวลาผ่านไปนานหลังจากนั้นก็มีเหตุให้เราคุยกันเรื่องนี้ ฉันถึงได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วแม้ฝนจะตก แต่ถ้านัดไว้แล้วคนญี่ปุ่นก็ไม่เลื่อนนัด ยังออกมาเจอทั้ง ๆ ที่ฝนตกนี่แหละ ฉันฟังแล้วก็รู้สึกประหลาดใจมาก มานึกดูตอนนี้ฉันคิดว่าที่คนญี่ปุ่นไม่เลื่อนนัดกันง่าย ๆ นั้นคงเป็นเพราะรู้สึกว่ามีพันธะสัญญาแล้วจึงทำตามที่ได้ลั่นวาจาไว้เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัยจริง ๆ พอเวลาผ่านไปฉันก็เริ่มชินกับการที่จะออกไปเจอเพื่อนในเวลาที่ฝนตก คงเพราะนั่งรถไฟเลยไม่ได้รับผลกระทบเรื่องการจราจรเหมือนนั่งรถ และเวลาเดินอยู่ข้างนอกคนญี่ปุ่นก็มีรองเท้าบูทสำหรับใส่กันฝนเลยไม่เดือดร้อนเรื่องฝนกันเท่าไหร่นัก
อย่าว่าแต่คนเดินถนนเลย กระทั่งคนขี่จักรยานก็ยังไม่อนาทรเรื่องฝนนักเพราะมือหนึ่งจับคันจับจักรยาน อีกมือหนึ่งถือร่มขี่จักรยานอย่างสบายใจเฉิบโดยไม่ล้ม แถมยังสามารถเลี้ยวเลาะอะไรได้สบาย ๆ บางคนมีอุปกรณ์ที่สามารถยึดร่มไว้กับจักรยานโดยตัวเองไม่ต้องถือด้วย ฉันเองก็เคยขี่จักรยานด้วยมือเดียวและอีกมือถือร่มเหมือนกันเพราะฝนดันตกตอนไปซื้อกับข้าว แต่จริง ๆ มันก็ไม่ควรทำเท่าไหร่
พูดถึงจักรยานแล้ว ตามกฎหมายที่ญี่ปุ่นเขาห้ามซ้อนท้ายด้วยเพราะอันตราย (แต่ฉันว่าน่าจะอันตรายน้อยกว่าถือร่มไปขี่จักรยานไปนะ) ฉันเคยนั่งซ้อนจักรยานเพื่อนแล้วได้ยินเสียงประกาศผ่านลำโพงว่า “ลงมาเดี๋ยวนี้นะ” หันมาถึงเห็นรถตำรวจตามมาเลยต้องลง เพื่อนคนไทยของฉันสองคนเคยโดนตำรวจจับฐานให้นั่งซ้อนท้ายและซ้อนท้ายนี่แหละ พอดีเพื่อนคนหนึ่งไม่ได้เอาหลักฐานประจำตัวติดตัวไว้เลยโดนกักตัวอยู่ เพื่อนเลยโทรให้ฉันช่วยไปเอาพาสปอร์ตที่บ้านให้แล้วเอามาให้ที่สถานีตำรวจ โชคดีว่าประตูบ้านเพื่อนล็อคด้วยรหัสฉันเลยไม่ต้องวุ่นวายเรื่องกุญแจและสามารถเข้าไปเอาของให้ได้
ไปถึงสถานีตำรวจ ตำรวจคนที่ดูหนุ่มหน่อยมีท่าทางใจดี ยิ้มแย้มแจ่มใส คุยอย่างเป็นมิตร ส่วนตำรวจอีกคนที่ดูอาวุโสกว่ามีสีหน้าเข้ม ท่าทางดุทีเดียว ฉันมักมีนิสัยอยากรู้ที่มาที่ไปของการกระทำหรือไม่กระทำอะไรบางอย่าง แล้วก็สงสัยเต็มแก่ว่าทำไมต้องห้ามซ้อนท้ายจักรยานด้วยนะ เพราะฉันรู้สึกว่าจักรยานมีไว้สำหรับนั่งสองคนข้างหน้าข้างหลัง ฉันเลยทำใจดีสู้เสือถามว่า “ทำไมกฎหมายญี่ปุ่นถึงห้ามไม่ให้นั่งซ้อนท้ายจักรยานละคะ”
ตอนแรกเขาก็ตอบแค่ว่า "ก็กฎหมายมันว่าไว้อย่างนั้นก็ต้องตามนั้น" แต่คำตอบนั้นก็ไม่ได้ให้คำตอบอะไร ฉันเลยถามใหม่ว่า “งั้นเขามีเหตุผลอะไรถึงออกกฎหมายอย่างนั้นละคะ” ดูเหมือนตำรวจก็จะจำนนต่อคำถาม เลยตอบแค่ว่า “มันอันตราย”
ที่จริงฉันก็ยังสงสัยอยู่ดีว่าถ้าอย่างนั้นทำไมพวกคุณแม่ลูกสองถึงเอาลูกขึ้นรถซ้อนทั้งหน้าและหลังได้ล่ะ ดูอันตรายกว่าอีก แถมเด็กก็ยันเท้าไม่ถึงพื้นด้วย เวลาล้มอย่างไรก็เทกระจาดกันหมด ถ้าเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่ซ้อนท้าย หากจะล้มอย่างน้อยก็น่าจะมีสองขาช่วยยัน แต่ฉันขี้เกียจจะซักไซ้ต่อแล้ว เดี๋ยวจะโดนกักตัวไว้อีกคน
ที่เล่ามานี้ก็เป็นมุมหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความจริงจังในแบบฉบับของคนญี่ปุ่นที่ฉันได้เคยสัมผัสมา ยังมีเรื่องราวอื่น ๆ อยู่อีกประปรายแต่พื้นที่หมดลงแล้ว เอาเป็นว่าพบกันใหม่สัปดาห์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.