xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “ยะมะงุชิ-งุมิ” บิ๊กเนมแห่งวงการยากูซ่าญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


เหตุเกิดเมื่อค่ำวันที่ 24 กรกฎาคม 2546 ณ เมืองสึ จังหวัดมิเอะ คืนนั้นหมายเลข 119 ถูกใช้งานอีกครั้งเมื่อสตรีผู้หนึ่งพบเหตุไม่คาดฝัน

บ้านของเธออยู่ในย่านพักอาศัยไม่ไกลจากสถานีสึ เดินไปทางตะวันออกเพียง 1.5 กิโลเมตรเท่านั้น เธอกลับมาถึงบ้านประมาณสองทุ่มครึ่งและพบสามีฟุบอยู่ที่โถงประตูเข้าบ้าน จึงโทร.แจ้งตำรวจ เจ้าหน้าที่รุดไปยังบ้านของหญิงผู้แจ้งซึ่งกำลังจะกลายเป็นหม้าย สำนักข่าวเคียวโดรายงานไว้เช่นนั้นในวันถัดมา

และแล้วความจริงก็ปรากฏ ผู้ตายคือนายคะซุฮิโกะ โอะโตะเบะ อายุ 42 ปี ถูกยิงที่ศีรษะเสียชีวิต คนบ้านใกล้เรือนเคียงบอกว่าได้ยินเสียงกระสุน 2 นัด แล้วการสืบสวนคดีฆาตกรรมก็เริ่มต้น ตำรวจจังหวัดมิเอะมุ่งพิจารณาความเชื่อมโยงของคดีนี้กับความขัดแย้งในหมู่พวกยากูซ่าด้วย

ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้ตายเป็นสมาชิกระดับสูงของกลุ่มยากูซ่าที่มีชื่อว่า “คะมิยะอิกกะ” อันเป็นต้นเรื่องที่นำมาสู่การจับกุมอดีตสมาชิกยากูซ่าสูงวัยคนหนึ่งในไทยตามที่เป็นข่าวช่วงนี้ เมื่อยากูซ่าญี่ปุ่นกลายเป็นข่าวในไทย เรื่องที่ดูเหมือนไกลตัวก็ขยับมาใกล้ตัวคนไทยมากขึ้นและเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง ส่วนหนึ่งคงเพราะรอยสักกับพลังของเฟซบุ๊กที่นำไปสู่การจับกุม และอีกส่วนหนึ่งคงเพราะ ‘ความสมจริง’ ในแง่ที่ว่ายากูซ่าญี่ปุ่นมิได้เป็นแค่ตำนานเล่าขาน แต่มีตัวเป็น ๆ มาปรากฏให้เห็นในสังคมบ้านเรา

ผมเคยเล่าเรื่องยากูซ่าโดยสังเขปไว้พักใหญ่เมื่อปลายปี 2558 ด้วยสายตาที่มองแบบคนนอก ไม่นึกว่าวันหนึ่งจะกลายเป็นข่าวใกล้ตัวคนไทย สื่อมวลชนในญี่ปุ่นเองก็นำเสนอข่าวนี้ โดยอ้างอิงแหล่งข้อมูลของฝั่งไทยเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มิได้ถือว่าเป็นข่าวใหญ่เท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม คนไทยทั่วไปเมื่อฟังหรืออ่านข้อมูลคร่าว ๆ คงประมวลใจความได้ประมาณว่า ชายญี่ปุ่นสูงวัยคนหนึ่งซึ่งเชื่อกันว่าเป็นอดีตสมาชิกองค์กรอาชญากรรมถูกจับกุม เพราะต้องสงสัยว่าพัวกันคดีฆาตกรรมในญี่ปุ่นและหนีมาหลบอยู่ในเมืองไทยไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่ถ้าเจาะรายละเอียดอีกเล็กน้อยเกี่ยวกับยากูซ่าโดยเฉพาะ ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับชื่อญี่ปุ่นและลักษณะขององค์กรอาจสับสนว่าใครเป็นใครและเกี่ยวพันกันอย่างไร สืบเนื่องจากครั้งก่อน (https://mgronline.com/japan/detail/9580000121877) จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ขยายความเรื่องยากูซ่าและ “กลุ่มยะมะงุชิ” โดยเริ่มจากเหตุฆาตกรรมข้างต้น

ยากูซ่าในญี่ปุ่นเป็นองค์กรอาชญากรรมที่มีหลายกลุ่มและหลายระดับ ภาษาปากเรียกว่า “ยะ-กุ-ซะ”หรือ “ยากูซ่า” ตามที่คนไทยคุ้นหู แต่ภาษาทางการในปัจจุบันคือ “โบเรียวกุ-ดัง” (暴力団;bōryoku-dan) หรือ “กลุ่ม (ก่อ/ใช้) ความรุนแรง” ซึ่งมีอยู่ในสังคมญี่ปุ่นมาไม่ต่ำกว่าร้อยปี โครงสร้างโดยรวมมีความซับซ้อน แต่ก็มีรูปแบบชัดเจน และมีวัฒนธรรมองค์กรเคร่งครัดซึ่งคนนอกจำนวนไม่น้อยมองว่าน่าสนใจ เช่น การสักเต็มตัว การตัดนิ้วก้อยเมื่อทำผิดกฎ จึงมีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากมาย กลุ่มที่ทรงอิทธิพลสูงสุดและใหญ่ที่สุดในปัจจุบันคือ “กลุ่มยะมะงุชิ” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ยะมะงุชิ-งุมิ” (山口組;Yamaguchi-gumi) คำว่า “คุมิ” หรือ “งุมิ” (เมื่อใช้เป็นคำประสม) แปลว่า “กลุ่ม” และนอกจากกลุ่มนี้แล้ว ก็ยังมีอีกมากมายหลายกลุ่ม มีทั้งพวกที่เป็นมิตรกันดีและพวกที่ไม่ถูกกันด้วย

ย้อนไปเมื่อราว 30 ปีก่อน ตอนที่ศักราชเฮเซซึ่งเป็นรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบันเพิ่งเริ่มขึ้นนั้น (ค.ศ.1989) ยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ของญี่ปุ่นอยู่ในช่วงเฟื่องฟูถึงขีดสุด ว่ากันว่ารายได้ของยากูซ่าสูงกว่ารายได้ของคนทั่วไปถึง 100 เท่า กล่าวคือ รายรับทั้งปีโดยเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นตอนนั้นคือเกือบ ๆ 5 ล้านเยน ร้อยเท่าก็คือ 500 ล้านเยน โดยทั่วไปแหล่งเงินมาจากยาเสพติด การพนัน การค้ามนุษย์ ค่าคุ้มครอง และธุรกิจทั้งแบบที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ต้นทศวรรษ 1990 ทางการญี่ปุ่นแสดงท่าทีเอาจริงในด้านการปราบปราม ตอนต้นปี 1992 มีการประกาศใช้ “กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำไม่เหมาะสมอันเกิดจากสมาชิกกลุ่มก่อความรุนแรงและอื่น ๆ” (暴力団員による不当な行為の防止等に関する法律; Bōryoku-dan-in ni yoru futō-na kōi no bōshi tō ni kansuru hōritsu) ตำรวจชี้เป้าลงไปเลยว่า 22 องค์กรคือ “กลุ่มก่อความรุนแรงตามประกาศของทางการ” (指定暴力団;Shitei Bōryoku-dan) ซึ่งแน่นอนว่ามีชื่อของขาใหญ่ 3 กลุ่มอันได้แก่ กลุ่มยะมะงุชิ กลุ่มอินะงะวะ และกลุ่มซุมิโยะชิ รวมอยู่ด้วย

ต่อมามีการปรับแก้กฎหมายในปี 2008 และ 2012 ซึ่งทำให้ช่วง 10 ปีผ่านมานี้ จำนวนสมาชิกรวมของยากูซ่า อันประกอบด้วยสมาชิกหลัก (แกน) ผู้มีบทบาทเชิงนโยบาย กับสมาชิกเสริม เช่น ผู้ให้ความร่วมมือ และเครือข่ายปฏิบัติการ ลดลงมาก จาก 90,600 คนเมื่อสิ้นปี 1992 เหลือ 46,900 คนเมื่อสิ้นปี 2015 โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา สมาชิกหลักมีจำนวนน้อยกว่าสมาชิกเสริมแล้ว
Harukishi Yamaguchi
เมื่อกล่าวเฉพาะกลุ่มยะมะงุชิซึ่งเป็นทรงอิทธิพลสูงสุดตอนนี้ กลุ่มนี้ก่อตั้งเมื่อปี 1915 โดยฮะรุกิชิ ยะมะงุชิ ซึ่งเป็น “คุมิ-โช” (組長;kumi-chō) หรือ “หัวหน้า” รุ่นแรก ที่ทำการใหญ่อยู่ที่เมืองโกเบ จังหวัดเฮียวโงะ แรกเริ่มก็มิได้ใหญ่คับประเทศเหมือนในขณะนี้ แต่ขยายตัวอย่างมากในยุคของหัวหน้ารุ่นที่ 3 หัวหน้ากลุ่มคนปัจจุบันคือชิโนะบุ สึกะซะซึ่งเป็นรุ่นที่ 6 ดังนั้นบางครั้งจึงเรียกกลุ่มนี้ว่า “กลุ่มยะมะงุชิรุ่นที่ 6” ตามลำดับของผู้นำ และถือว่าเป็นกลุ่มหลักที่สืบทอดอำนาจบารมีกันมาแต่เดิม ทั้งนี้เมื่อปี 2015 มีกลุ่มที่แยกตัวจากกลุ่มหลักออกมาด้วยและตั้งเป็น “กลุ่มโกเบยะมะงุชิ” และการเรียกชื่อว่า “กลุ่มยะมะงุชิ” เฉย ๆ ในปัจจุบันจะหมายถึงกลุ่มเดิม

ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่นได้ระบุชื่อ กลุ่มยะมะงุชินรุ่นที่ 6, กลุ่มอินะงะวะ, กลุ่มซุมิโยะชิ และกลุ่มโกเบยะมะงุชิ ซึ่งรวมแล้วมีสมาชิกกว่า 70% ของจำนวนยากูซ่าทั้งประเทศ ว่าเป็น “กลุ่มก่อความรุนแรงหลัก” หมายความว่าเป็นตัวร้ายหลัก ๆ ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ สำหรับประวัติโดยสังเขปของกลุ่มยะมะงุชิกับผู้นำกลุ่มประมวลได้ดังนี้

Noboru Yamaguchi
Kazuo Taoka
Masahisa Takenaka
Yoshinori Watanabe
Shinobu Tsukasa
กลุ่มยะมะงุชิอยู่ในฐานะองค์กรแม่ และมีองค์กรสาขาย่อยคอยสนองนโยบายอยู่ทั่วประเทศ โดยจัดแบ่งความสำคัญลดหลั่นกันลงไป เช่น ระดับสอง ระดับสาม ควบคุมดูแลพื้นที่ในความรับผิดชอบ ใหญ่หน่อยในระดับภูมิภาคก็เรียกว่า “บล็อก” ถ้ายิบย่อยลงไปก็เรียกด้วยชื่อของพื้นที่นั้น และหนึ่งในองค์กรระดับสองที่อยู่ในสังกัดของกลุ่มยะมะงุชิ คือ “กลุ่มโคโด” หรือ “โคโด-ไก” (弘道会; Kōdō-kai) ปัจจุบันมีผู้นำรุ่นที่ 3 ทั้งนี้ผู้นำรุ่นแรกของกลุ่มโคโดได้ก้าวขึ้นไปสู่สถานะหัวหน้าใหญ่ในองค์กรแม่แล้ว ซึ่งก็คือชิโนะบุ สึกะซะนั่นเอง

ถัดจากกลุ่มโคโดลงไปมีองค์กรย่อยอีก เป็นกลุ่มระดับสาม เช่น “คะมิยะอิกกะ” (紙谷一家; Kamiya Ikka) เดิมเรียกว่า “อิเซะ คะมิยะ อิกกะ” (伊勢紙谷一家; Ise Kamiya Ikka) คำว่า “อิเซะ” คือชื่อเมืองที่อยู่ในจังหวัดมิเอะ จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่ายากูซ่ากลุ่มนี้ดำเนินการอยู่ในจังหวัดมิเอะ กลุ่มนี้เคยสังกัดองค์กรอื่นมาก่อน และย้ายมาสังกัดกลุ่มโคโดเมื่อปี 1985 โดยใช้ชื่อ “คะมิยะอิกกะ” เมื่อเขียนเป็นแผนภูมิลำดับชั้นอย่างง่ายจะได้ดังนี้

นายคะซุฮิโกะ โอะโตะเบะผู้ถูกสังหารที่บ้านของตนในจังหวัดมิเอะเมื่อปี 2546 นั้น เป็นสมาชิกระดับสูงของกลุ่มคะมิยะอิกกะ ในเหตุฆาตกรรมดังกล่าว ตำรวจญี่ปุ่นเชื่อว่านายชิเงะฮะรุ ชิระอิ (白井繁治; Shirai, Shigeharu) ซึ่งก็คือลุงผู้ถูกจับที่ลพบุรีคนนั้น มีส่วนพัวพันด้วย โดยก่อเหตุแล้วหลบหนีเข้ามาในประเทศไทย ส่วนมูลเหตุที่แน่ชัดแห่งการก่อคดียังไม่ปรากฏชัดนอกจากข้อมูลตามคำให้การที่บอกว่าเป็นการห้ำหั่นกันระหว่างคู่อริ

เรื่องก็เป็นไปด้วยประการฉะนี้ จะสังเกตได้ว่าเนื่องจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้เกี่ยวพันกับองค์กรยากูซ่าหลายระดับ ดังนั้น การเลือกใช้คำว่า “สมาชิกระดับสูง” กับ “หัวหน้า” เพื่อแบ่งแยกให้เห็นชัดเจนว่าใครเป็นใครนั้นมีความสำคัญมากทีเดียวเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ที่แน่ ๆ คือ “หัวหน้า” ของแต่ละองค์กรนั้นมีเพียงคนเดียว และ “หัวหน้าใหญ่” ของกลุ่มยะมะงุชิซึ่งเป็นองค์กรแม่หรือสำนักงานใหญ่คือนายชิโนะบุ สึกะซะ องค์กรย่อยระดับรองลงไปก็มีหัวหน้า 1 คนเหมือนกัน ส่วนคนอื่น ๆ ที่มีอำนาจพอสมควรภายในองค์กรคือ “สมาชิกระดับสูง”
นายชิเงะฮะรุ ชิระอิ ที่ถูกจับตัวได้ในประเทศไทย
สำหรับนายชิเงะฮะรุ ชิระอิที่ถูกจับกุมและอยู่ระหว่างกระบวนการเนรเทศกลับญี่ปุ่นนั้นเป็นบุคคลในระดับสูงหรือไม่ ถ้าสูง สูงแค่ไหน? อาจจะยังไม่แน่ชัด และคงด้วยความซับซ้อนขององค์กรกับการขาดแคลนข้อมูล จึงเกิดการระบุคำว่า “หัวหน้า” หลายครั้งดังที่ปรากฏในสื่อไทยบางแขนง ในด้านหนึ่งก็ได้สร้างความตื่นเต้นไม่น้อยแก่ผู้รับข่าวสาร แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ออกจะงง ๆ และไขว้เขวอยู่ไม่น้อย

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น