ผ่านวันปีใหม่มาได้สองสัปดาห์แล้ว เชื่อว่าหลายคนคงจะเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ ฉลองปีใหม่กันไปบ้างแล้วใช่ไหมคะ สำหรับชาวญี่ปุ่น นอกจากการไปไหว้ศาลเจ้า หรือรับประทานอาหารพิเศษในช่วงปีใหม่อย่าง “โซบะ” หรือ “โมจิ” กันแล้ว เค้ายังมีกิจกรรมอีกอย่างที่นิยมทำกันในช่วงปีใหม่และหลังปีใหม่ประมาณสองสัปดาห์อยู่ด้วย
คาคิโซเมะ (書き初め)
คาคิโซเมะ (書き初め) คือการเขียนพู่กันสไตล์ญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า “โชะโด” (書道) เป็นครั้งแรกของปี แต่เดิมเป็นพิธีที่ทำในที่พำนักของจักรพรรดิ แต่หลังจากสมัยเอโดะเป็นต้นมาก็แพร่หลายสู่ประชาชนด้วย
การเขียนคาคิโซเมะ มักทำในวันที่ 2 มกราคม โดยสามารถทำได้ในบ้านของตนเองค่ะ ส่วนเด็กนักเรียน เมื่อเปิดเรียนหลังปีใหม่ก็อาจมีกิจกรรมที่โรงเรียนเช่นกัน
น้ำที่นำมาฝนหมึกสำหรับเขียนพู่กันนั้นจะใช้น้ำที่เรียกว่า “วาคามิซึ” (若水) หมายถึงน้ำแรกของปีนั้น ๆ ซึ่งในปัจจุบัน น้ำที่เปิดจากก๊อกน้ำครั้งแรกก็สามารถเรียกว่าวาคามิซึได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่นยังนิยมหันไปทางทิศ “เอะโฮ” (恵方) ซึ่งหมายถึงทิศมงคลของปีนั้น ๆ ขณะเขียนคาคิโซเมะด้วย
ความเชื่อเกี่ยวกับคาคิโซเมะ
ว่ากันว่าหากเขียนคาคิโซเมะในวันที่ 2 มกราคม และนำสิ่งที่เขียนไปประดับไว้บนที่สูง ๆ ที่สามารถมองเห็นได้ง่ายจะทำให้เขียนพู่กันเก่งขึ้นค่ะ ส่วนสิ่งที่เขียนลงไปในกระดาษที่ชาวญี่ปุ่นเขียนกัน เช่น คำหรือข้อความที่เป็นมงคล บทกลอนความหมายดี ๆ หรือเป้าหมายของตนเองในปีนั้นค่ะ และการที่ให้นำไปประดับไว้สูง ๆ ก็เพื่อให้พระเจ้า (神様) มองเห็นได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
ดนโดะยากิ (どんど焼き)
เห็นชื่อมีคำว่า “ดน” กับ “ยากิ” แบบนี้ แต่ไม่ได้หมายถึงอาหารแต่อย่างใด พิธีดนโดะยากิ (どんど焼き) คือการนำสิ่งของที่ใช้ประดับในช่วงปีใหม่ รวมทั้งคาคิโซเมะมาเผาทิ้ง
สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว เมื่อจบพิธีดนโดะยากิ ก็จะรู้สึกว่าการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ได้จบลงแล้วจริง ๆ โดยส่วนมากมักจัดในวันที่ 15 มกราคม แต่อาจมีจัดก่อนหรือหลังเล็กน้อยแตกต่างกันไปตามท้องที่ด้วย
ความเชื่อเกี่ยวกับดนโดะยากิ
ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่า “ดนโดะยากิ” มีความหมายรวมถึงการส่งคำขอหรือสิ่งต่าง ๆ ขึ้นไปยังเบื้องบนพร้อมกับเปลวไฟ มีทั้งพิธีที่จัดในศาลเจ้าและพิธีที่จัดตามท้องที่ ชาวญี่ปุ่นก็จะนำของที่ใช้ประดับตกแต่งในช่วงปีใหม่มาร่วมกันเผาทิ้งในวันนี้ รวมทั้ง “คาคิโซเมะ” ด้วยค่ะ เพราะว่าเมื่อเผาแล้วก็จะเกิดควันลอยสูงขึ้น ไปเชื่อมโยงกับความเชื่อที่ได้กล่าวไว้ด้านบนว่าจะทำให้เขียนพู่กันเก่งขึ้นนั่นเอง
นอกจากนี้ยังเชื่อกันอีกว่า หากรับประทานโมจิและดังโงะที่ย่างด้วยไฟในพิธีดนโดะยากิ จะทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงตลอดปี ดังนั้นหากใครอยู่ญี่ปุ่นในช่วงวันที่ 15 มกราคมนี้ น่าจะได้เห็นชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะลุง ๆ ป้า ๆ ทานโมจิหรือดังโงะในวันนี้กัน
อย่างไรก็ตามชื่อเรียกพิธี “ดนโดะยากิ” อาจมีชื่อเรียกแตกต่างไปตามท้องถิ่นด้วย เช่น ที่จังหวัดโทยามะ อิชิคาวา ฟุคุอิ กิฟุ โคจิและฟุกุโอกะ จะเรียกพิธีนี้ว่า “ซากิจโจะ” (さぎっちょ)เป็นต้น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ anngle.org