xs
xsm
sm
md
lg

"ซูชิ โอะเซะจิ" และปณิธานปีใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจาก http://www.smilemarket-fukui.com/SHOP
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

“อาเกะมาชิเตะ โอเมเดโต โกะไซมัส!” สวัสดีปีใหม่เพื่อนผู้อ่านทุกท่านค่ะ ช่วงวันหยุดที่ผ่านมาเป็นอย่างไรกันบ้างคะ ปีนี้ฉันไม่ได้ไปไหนก็เลยอยู่บ้านพักผ่อนสบาย ๆ แต่ที่สหรัฐฯ หลายคนหยุดกันยาวมากตั้งแต่ก่อนคริสมาสต์หรือหลังคริสต์มาสจนถึงปีใหม่ ถ้าไม่ได้ไปไหนก็จะเบื่อ ๆ ฉันเลยชักเริ่มคิดถึงบรรยากาศปีใหม่ที่ญี่ปุ่นขึ้นมา

อันที่จริงตอนแรกฉันก็แอบดีใจที่ปีนี้ไม่ได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่ญี่ปุ่นเพราะไม่ต้องรับประทาน โอะเซะจิ ติดต่อกันหลาย ๆ มื้อ (อ่านเพิ่มเติมได้จาก “ญี่ปุ่นกับความครึกครื้นช่วงส่งท้ายปีเก่า”) คือบางทีหน้าตาโอะเซะจิมันอาจจะดูสวยงาม แต่รับประทานแค่ครั้งเดียวก็เบื่อแล้ว แถมเป็นอาหารที่รับประทานกันเย็นชืดเสียด้วย คุณแม่ของเพื่อนชาวญี่ปุ่นบอกว่าสมัยก่อนญี่ปุ่นไม่มีตู้เย็นก็เลยทำโอะเซะจิสำหรับรับประทานได้หลายวันต่อกัน เพื่อนฉันและน้อง ๆ ของเธอรวมทั้งลูก ๆ หลาน ๆ ก็ไม่ชอบโอะเซะจิ คุณแม่ของเธอก็เลยทำแค่อาหารบางชนิดอย่างเช่น ถั่วดำหวาน อาหารดองเปรี้ยว ไข่ปลา ที่เหลือทำเป็นข้าวราดแกงกะหรี่ญี่ปุ่น สุกิยากิ หรือโอเด็งแทน

ส่วนฉัน ทุกปีเวลากลับมาบ้านครอบครัวสามีตอนปีใหม่ คุณแม่จะสั่งซูชิถาดเบ้อเริ่มมาคู่กับโอะเซะจิอีกสามกล่อง แถมซูชิไม่ควรจะรับประทานข้ามวันด้วยเลยต้องพยายามรับประทานให้หมด นับเป็นมื้อจุกอันทุกข์ทรมาน พอมื้อต่อ ๆ ไปคุณแม่ก็จะเตรียมอาหารง่าย ๆ ไว้ให้แก้เบื่อ เช่น โซบะร้อน ๆ ซึ่งเรามักเอาโมจิแข็ง ๆ ก้อนสี่เหลี่ยมที่ซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตมาย่างบนเตาให้มันพอง ๆ มีรอยไหม้นิด ๆ และเริ่มนุ่ม ๆ ใส่ลงไปในโซบะด้วย หรือถ้าไม่ได้รับประทานโซบะ ก็มักสั่งราเม็งจากร้านใกล้บ้านให้มาส่ง ซึ่งราเม็งพวกนี้มีรสชาติพื้น ๆ ทั่วไป (น่าจะเรียกว่าเป็นรสชาติดั้งเดิม?) เช่น โชยุ เกลือ มิโสะ ไม่ได้อร่อยจัดจ้านหรือดูน่าน้ำลายหกแบบที่เห็นกันในกรุงโตเกียว
(โซบะใส่โมจิย่าง) ภาพจาก http://park1.wakwak.com
ซูชิที่สั่งให้มาส่งที่บ้านครอบครัวสามีซึ่งอยู่ต่างจังหวัดนี้มักมาในถาดกลมสีดำสวยงามและสามารถนำมาใช้ใหม่ได้อีก เวลาเรารับประทานเสร็จแล้วต้องเอาถาดไปล้างให้พอสะอาด จากนั้นจึงใส่ลงในถาดพลาสติกใบใหญ่ที่คนส่งเอาไว้ใส่ถาดซูชิตอนถือมา แล้วพอวันต่อมาคนที่ร้านก็จะมาเก็บกลับไป แต่ถ้าเป็นที่กรุงโตเกียวเวลาสั่งซูชิมามักมาในกล่องโฟม แต่ฉันก็ไม่แน่ใจว่าจริง ๆ แล้วเกี่ยวกับว่าเป็นร้านแพงเลยใช้ถาดแบบมาเก็บกลับไป ส่วนร้านราคาพอประมาณใช้วิธีลดค่าแรงงานในการตามเก็บและประหยัดเวลาเลยใช้ถาดโฟมหรือเปล่าก็ไม่ทราบ

ส่วนราเม็งที่สั่งให้มาส่งก็จะมาในชามแบบที่เรารับประทานในร้าน แต่จะมีพลาสติกคลุมที่ชามไว้ดูคล้าย ๆ หมวกคลุมผมอาบน้ำ มาถึงนี่ยังร้อนระอุลวกปากพองได้อยู่เลย ที่น่าประหลาดใจมากคือเขาส่งราเม็งกันด้วยมอเตอร์ไซด์แต่ไม่ยักหกเลอะเทอะ ขืนเป็นฉันขี่มาส่งคงทำหกตั้งแต่ตอนปีนขึ้นมอเตอร์ไซด์แล้ว บรรยากาศของการสั่งราเม็งมารับประทานทำให้ฉันย้อนนึกไปถึงสมัยเด็ก ๆ ที่แม่สั่งบะหมี่หมูแดงให้มาส่งที่บ้าน ฉันจะรู้สึกตื่นเต้นว่าเราสามารถรับประทานบะหมี่หมูแดงของร้านจากที่บ้านได้ด้วย (เป็นเด็กนี่อะไรก็สนุกไปหมดนะคะ) พอรับประทานราเม็งเสร็จก็ล้างชามด้วยน้ำเปล่าให้พอสะอาดแล้วใส่ถาดพลาสติกรอให้คนจากร้านมาเก็บคืน คนญี่ปุ่นนี่เรียบร้อยจริง ๆ ไม่มีแบบว่ารับประทานหมดแล้วก็วางทิ้งไว้ทั้งอย่างนั้น คงเพราะรู้สึกว่าไม่น่าดูสำหรับคนที่มาเก็บภาชนะคืนกระมัง
ภาพจาก http://ichii445.blog42.fc2.com
อ้อ คนญี่ปุ่นก็มีวัฒนธรรมในการให้แต๊ะเอียเหมือนกันนะคะ คือผู้ใหญ่ให้เด็ก ถ้าลูกเราได้รับแต๊ะเอียมาจากญาติก็ต้องให้ลูกอีกฝ่ายตอบเช่นกัน คล้าย ๆ ของจีน แต่ที่ต่างคือดูเหมือนจะไม่มีวัฒนธรรมที่ลูกหลานให้แต๊ะเอียกับพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่เคยเลี้ยงดูหรือให้แต๊ะเอียเรามาเหมือนคนจีนในไทย แต่ตัวฉันกับสามีจะเตรียมแต๊ะเอียไว้ให้คุณแม่กับคุณยายของสามีด้วยเพราะเห็นว่าเป็นโอกาสหนึ่งการแสดงความกตัญญู คุณแม่จะแอบเขิน ๆ เกรงใจ ส่วนคุณยายจะหัวเราะร่าเริงเสียงดังกลบเกลื่อนความเขินค่ะ น่ารักกันทั้งคู่

ส่วนกิจกรรมนอกบ้านในวันปีใหม่นั้นเป็นอะไรที่ชวนให้รู้สึกสดชื่นสนุกสนานได้อีก นับตั้งแต่การไปไหว้พระปีใหม่ หรือที่เรียกกันว่า “ฮัตสึโมเดะ” (初詣)พอไปถึงศาลเจ้าก็ต้องใส่เหรียญห้าเยนลงไปในกล่องขนาดใหญ่โตที่มีร่องเป็นซี่ ๆ หลายคนใช้วิธีโยนเหรียญกัน แต่ก็มีบางคนบอกว่าไม่สุภาพเพราะเหมือนไปโยนเศษเงินใส่พระ หลาย ๆ คนคงทราบอยู่แล้วว่าทำไมใช้เหรียญห้าเยน เพราะคำว่า “โกะเอ็น” (五円)ที่แปลว่าห้าเยนออกเสียงพ้องกับคำว่า “โกะเอ็น” (ご縁)ที่สื่อความหมายถึงโชคลาภ คุณแม่ของเพื่อนเคยสอนฉันว่าให้ใส่เหรียญสิบเยนลงไปพร้อมกับเหรียญห้าเยนด้วย คำว่า “สิบ” ในภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า “จู” (十)ทีนี้พอใส่ “โกะเอ็น” (ห้าเยน) คู่กับ “จู” (สิบเยน) เลยกลายเป็น “โกะเอ็น งะ จูบุง” (ご縁が十分)หมายถึงมีโชคที่พอเพียงหรือพอกับความต้องการ อะไรทำนองนี้มังคะ ไม่ทราบว่าคุณแม่เพื่อนคิดเอาเองหรืออย่างไรเพราะพอเล่าให้สามีฟัง สามีถามว่ามีแบบนี้ด้วยหรือ
ภาพจาก http://amamishimbun.co.jp
พอใส่เหรียญแล้ว ก็เขย่าเชือกอันโต ๆ ที่ห้อยอยู่เหนือกล่องใส่เงินทำบุญเพื่อสั่นกระดิ่ง เสร็จแล้วคำนับสองหน ปรบมือสองหน อธิษฐาน แล้วคำนับอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนี่เป็นวิธีไหว้แบบที่ใช้กันทั่วไป แต่ก็มีบางศาลเจ้าที่มีวิธีการไหว้แบบอื่น เช่น ศาลเจ้าอิซุโมะ ฉันยังไม่เคยไปศาสเจ้านี้หรอกค่ะแต่พอดีค้นเจอเลยเอามาเล่าสู่กันฟัง วิธีไหว้แบบทั่วไปนี่คนญี่ปุ่นหลายคนก็จำไม่ได้เหมือนกัน เวลาไปไหว้มักต้องถามกันไปรอบทิศว่าใครรู้บ้าง ฉันเองก็ลืมเป็นประจำเพราะไม่ได้ไปบ่อย ๆ

ไหว้พระเสร็จก็ไปเสี่ยงเซียมซีต่อ ต้องหยอดสตางค์หนึ่งร้อยเยน หรือบางที่ก็จ่ายกับคนขายเครื่องลางถึงจะได้รับใบเซียมซีซึ่งมักเป็นข้อความอ่านเข้าใจยาก บางทีก็ต้องวานให้คนญี่ปุ่นช่วยแปล เดี๋ยวนี้บางวัดอย่างเช่น วัดเซ็นโซจิ (หรือที่คนไทยมักคุ้นเคยในชื่อ “วัดอาซากุสะ”) มีภาษาอังกฤษแปลด้านหลังด้วย ถ้าได้เซียมซีโชคดีหรือโชคดีมากก็จะเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์ ถ้าได้โชคไม่ดีก็พับเซียมซีแล้วผูกไว้กับจุดที่ทางวัดจัดไว้ให้ ฉันเคยถามเพื่อนว่าได้โชคดีแล้วผูกทิ้งไว้ที่วัดจะเป็นอะไรไหม เพื่อนบอกอ้าว ถ้างั้นโชคดีก็หายไปด้วยสิ ฉันเลยเอาใส่กระเป๋าสตางค์พกไว้พอเป็นพิธี
ภาพจาก http://goldfishbox.net/omikujidaikitimoikaeri
อนอยู่โตเกียว เพื่อนชาวญี่ปุ่นชวนไปไหว้พระปีใหม่กันเป็นกลุ่ม แม้อากาศจะหนาวมากมายแต่ถ้าได้อยู่กับเพื่อนนี่อย่างไรก็สนุก บรรยากาศจะเป็นอีกแบบ พอไหว้พระเสร็จเราก็หาอะไรรับประทานกันต่อ ซึ่งภายในวัดจะมีการออกร้านกระจายกันไป มีขายโอเด็งร้อน ๆ และเหล้าหวาน ร้านที่มีที่ให้นั่งรับประทานได้ก็จะวางฮีตเตอร์ตัวเล็ก ๆ แบบตั้งกับพื้นไว้บริการลูกค้าด้วย

เพื่อนฉันเคยมาหาที่บ้านช่วงปีใหม่และซื้อโมจิสึกิมาฝาก เพื่อนผู้อ่านคงเคยเห็นเวลาคนญี่ปุ่นเขาตำข้าวเหนียวนึ่งจนกลายเป็นเหมือนก้อนแป้งขาว ๆ มีคนหนึ่งถือฆ้อนไม้หรือสากอันโต ๆ คอยตำ ส่วนอีกคนคอยเติมน้ำในจังหวะที่คนตำยกฆ้อนขึ้น ดูน่าหวาดเสียวว่าจะพลาดไปตำเอามือคนเติมน้ำไหม โมจิสึกิแบบที่เพื่อนเอามาฝากเป็นแบบโรยคินาโกะสีเหลืองทอง และแบบมีถั่วแดงหวานเคียง ฉันชอบโมจิสึกิมากเพราะมันนุ่มและยืด ๆ คล้ายมอซซาเรลล่าชีสบนพิซซ่า แต่แคลอรี่สูงมากเพราะเป็นข้าวเหนียวทั้งก้อน
ภาพจาก http://snap361.com/
ช่วงปีใหม่นี้บางคนก็จะสนุกกับการช้อปปิ้งถุงของขวัญตามห้างสรรพสินค้า ร้านรวงต่าง ๆ หรือตามเว็บไซต์ ซึ่งขายสินค้าที่มีมูลค่าสูงในราคาที่ต่ำกว่าปกติ หลายแห่งเราจะไม่ทราบว่าในถุงนั้นมีอะไรบ้าง แต่บางแห่งก็จะบอกไว้เลยว่าข้างในเป็นอะไร หลายคนจะเห็นว่าคุ้มและสนุกกับการลุ้นว่าจะได้ของอะไรบ้างก็เลยซื้อกันใหญ่ ฉันเคยเห็นเพื่อนกับคุณแม่ต่างคนต่างหิ้วถุงของขวัญกันมาเต็มมือทั้งสองข้าง สีหน้าเบิกบานเต็มที่ น้องสามีกับคุณแม่สามีฉันเองก็ไปซื้อกันมานิด ๆ หน่อย ๆ เหมือนกัน จำได้ว่าถุงหนึ่งมีเสื้อกันหนาวอย่างดีไซส์ใหญ่ (เรื่องไซส์นี่ก็รู้สึกจะวัดดวงเอาเหมือนกัน) กับของจุกจิกอย่างอื่นซึ่งดูไม่เลว แต่บางอย่างก็ไม่ได้ใช้ ไม่เข้ากับรสนิยม ต้องหาทางเอาไปให้คนอื่นอีก ฉันเห็นแล้วรู้สึกว่าการมีอะไรเกินจำเป็นนั้นมีแต่ภาระ แถมนี่ยังต้องไปเสียสตางค์ให้ได้สิ่งเหล่านี้มาอีก เลยไม่เคยคิดจะซื้อถุงของขวัญเลยสักครั้ง
ภาพจาก http://www.sumori-yamagata.com/blog
พูดถึงปีใหม่ ฉันว่าจะกลับไปสมัครฟิตเนสที่ห่างหายไปนานหลังจากหันมาวิ่งแถวบ้านทีละหลาย ๆ กิโลกับออกกำลังกายที่บ้าน แต่เพื่อนห้ามไว้ บอกว่าช่วงต้นปีนี่อย่าได้ไปฟิตเนสเชียวคนแน่นอย่างกับอะไรดี ถามว่าทำไม เพื่อนตอบว่า “เพราะคนพากันตั้งปณิธานปีใหม่ว่าจะออกกำลังกาย เลยแห่กันไปฟิตเนสน่ะสิ เสร็จแล้วก็ทำกันได้แค่เดือนสองเดือน เพราะงั้นถ้าจะไปนี่ต้องรอสักเดือนมีนาคม” ฟังแล้วก็ขำ ๆ เพราะเรื่องแบบนี้ดูเหมือนจะเป็นกันทั่วโลก

เคยมีคนแนะนำไว้ค่ะว่าเวลาตั้งปณิธานอย่าไปตั้งหลายข้อ เอาสักข้อสองข้อที่คิดว่าทำได้จริง แล้วตั้งเป้าหมายไว้สองวันก็พอ ซึ่งแค่สองวันนี่ไม่ยากเกินกำลัง พอทำได้แล้วก็ให้ตั้งใจว่าจะทำต่อไปอีกสองวัน แล้วก็ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เป็นการทำให้เป้าหมายนั้นดูอยู่ใกล้ตัว พอทำได้สำเร็จแต่ละครั้งก็จะรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรสำเร็จกับเขาได้เหมือนกัน ทำให้มีกำลังใจที่จะทำต่อไปให้สำเร็จอีก ช่วยสร้างนิสัยที่จะทำอะไรอย่างต่อเนื่องนาน ๆ ได้จนสิ่งที่ตั้งใจไว้บรรลุผล

บางทีผลที่เราอยากได้อาจจะไม่ได้มีคุณค่าเท่ากับเวลาที่เราพยายามและลงมือทำด้วยความอุตสาหะก็ได้นะคะ ฉันเคยสังเกตมาหลายหนแล้วว่าช่วงเวลาแห่งการลิ้มรสชาติของความสำเร็จนั้นสั้นนิดเดียว แต่สิ่งที่มีคุณค่าและให้เราได้เรียนรู้อะไรจริง ๆ มาจากช่วงเวลาที่เราพยายามอย่างไม่ยอมแพ้ มันทำให้คนเรากล้าที่จะท้าทายตัวเอง และสิ่งนี้ก็จะติดตัวเราไปด้วย เพราะฉะนั้นหากลงมือทำอะไรเต็มที่แล้วยังไม่สำเร็จก็อย่าเสียใจ อย่างน้อยก็น่าดีใจว่าเรากล้าที่จะลอง ได้พยายามเต็มที่แล้ว ดีกว่าไม่ยอมลงมือทำอะไรเลยเพราะคิดว่าคงไม่สำเร็จ อย่างหลังนี้จะประสบความสำเร็จอะไรสักอย่างก็ยากกว่ากันมาก

ขอให้เป็นอีกปีที่ดีจากการให้พรแก่ตนเองด้วยการลงมือทำในสิ่งที่ดีได้อย่างต่อเนื่องนะคะ




"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น