คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
ช่วงท้าย ๆ ของปีน่าจะเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกผ่อนคลาย ได้หยุดพักผ่อน เตรียมพร้อมลุยต่อเมื่อปีใหม่มาเยือน แต่ฉันรู้สึกว่าสำหรับญี่ปุ่นแล้วออกจะเป็นช่วงที่มีเรื่องต้องทำมากมาย เต็มไปด้วยกิจกรรมต่าง ๆ คึกคักมากไปตลอดจนถึงปีใหม่เลยทีเดียว
กิจกรรมแรกฉลองช่วงท้ายปีคือการส่งของขวัญประจำเทศกาลไปให้ญาติหรือผู้ใหญ่ เรียกว่า “โอะเซโบะ” (お歳暮)ซึ่งมักส่งกันในเดือนธันวาคม ตามธรรมเนียมแล้วว่ากันว่าควรส่งระหว่างวันที่ 13-20 ธันวาคม แต่สมัยนี้บางคนก็อาจจะไม่ได้ยึดตามนี้เป๊ะ นิยมส่งเป็นอาหาร ขนม หรือเหล้า ไม่ก็ของใช้ในบ้าน เช่น น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก และผ้าขนหนูเป็นเซ็ท ตามมารยาทแล้วหากได้รับโอะเซโบะจากใครแล้วก็ต้องส่งตอบกลับไปด้วย บางคนเห็นว่าเป็นเรื่องวุ่นวายก็เลยตัดปัญหาด้วยการไม่ส่งให้ใครเว้นแต่จะเป็นฝ่ายได้รับก่อนจึงต้องส่งตอบ
ในช่วงเดียวกันนี้ ธุรกิจ ส.ค.ส. ก็เริ่มคึกคักเช่นกัน คนญี่ปุ่นนิยมส่ง ส.ค.ส. กันเป็นไปรษณียบัตร เรียกว่า “เน็งกะโจ” (年賀状)ซึ่งมักส่งกันภายในวันที่ 25 ธันวาคมก่อนที่บุรุษไปรษณีย์จะมาเก็บจดหมายรอบสุดท้ายเพื่อให้สามารถส่งได้ถึงผู้รับในวันที่ 1 มกราคมพอดีเป๊ะ ความใส่ใจเป็นพิเศษนี้เองที่ทำให้ไปรษณีย์ต้องทำงานกันอย่างหนักมากในช่วงท้ายปีจนถึงปีใหม่ จนถึงกับต้องรับคนมาทำงานพิเศษในช่วงนี้
ส.ค.ส. นี้เวลาส่งทีหนึ่งจะส่งกันเป็นปึกให้ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และคนรู้จัก ถ้าหากได้รับจากคนที่ตนเองไม่ได้ส่งให้ ก็มักส่งตอบกลับไปเป็นมารยาท หากทราบว่าคนที่เราต้องการส่ง ส.ค.ส. ให้เพิ่งผ่านการสูญเสียบุคคลในครอบครัวในปีนั้น ก็จะงดไม่ส่งไปเพราะยังไม่ใช่ช่วงจะมารื่นเริง
ช่วงแรก ๆ ที่อยู่ญี่ปุ่นฉันมักรู้สึกสนุกกับการนั่งทำ ส.ค.ส.ด้วยตัวเอง โดยไปซื้อไปรษณียบัตรเปล่าสำหรับใช้ทำ ส.ค.ส. มาจากไปรษณีย์แล้วมานั่งประดิษฐ์ลวดลายทีละแผ่น ๆ โดยใช้ตราประทับที่มีลวดลายเหมาะกับปีนั้น ๆ ที่ซื้อจากร้านเครื่องเขียน เช่น ถ้าเป็นปีจอก็เป็นรูปสุนัข ปีเถาะก็เป็นรูปกระต่าย และมีตราประทับอีกอันหนึ่งเป็นข้อความยาวเหยียด ฟอนท์เก๋ไก๋เขียนว่า “อา-เก-มา-ชิ-เตะ-โอะ-เม-เด-โต-โกะ-ไซ-มัส”(明けましておめでとうございます)ซึ่งแปลว่า “สวัสดีปีใหม่” หรือถ้าอยากทำลวดลายแบบอื่น ๆ ก็มีให้เลือกหลากหลายทั้งสไตล์ญี่ปุ่น สไตล์ฝรั่ง ถ้าไม่ใช้ตราประทับก็ใช้เป็นสติกเกอร์แปะเอา แต่แบบนี้อาจจะดูเด็ก ๆ ไปบ้าง
ถ้าอยากได้เป็นภาพสีสวยงามก็สามารถไปเลือกซื้อหนังสือรวมลาย ส.ค.ส. ซึ่งมีให้เลือกกันเป็นร้อย ๆ แบบในเล่มเดียวอย่างจุใจได้จากร้านหนังสือ แต่กว่าจะเลือกเล่มที่ถูกใจได้ก็ใช้เวลามากเหมือนกันเพราะมีหลายสำนักพิมพ์มาก เรียกได้ว่ามีไอเดียทำลวดลายกันอย่างไม่หวั่นไม่ไหวเลยทีเดียว เล่มไหนก็ดูดีไปหมด พอได้หนังสือมาแล้ว ก็ไปซื้อไปรษณียบัตรเปล่ามา ใส่เข้าเครื่องพิมพ์สีที่บ้าน เลือกลายจากซีดีที่มาพร้อมหนังสือแล้วก็สั่งพิมพ์ทีเดียว สำหรับที่อยู่ผู้ส่งผู้รับสามารถใช้โปรแกรม Excel ทำได้ แต่ฉันชอบเขียนเองมากกว่า เพราะไม่อย่างนั้นจะรู้สึกว่า ส.ค.ส. นั้นผลิตด้วยเครื่องจักร ดูจืดชืดและเย็นชาราวกับใบปลิวโฆษณาที่ได้รับแจก ไม่มีมุมที่ทำให้รู้สึกว่าผู้ส่งตั้งใจส่งมาหาผู้รับจริง ๆ ทำนองเดียวกับเวลาได้รับจดหมายจากใครสักคนนั่นเองค่ะ ถ้าเป็นลายมือเขียนมาจะรู้สึกว่าอบอุ่น ประทับใจ น่าอ่านกว่าที่เป็นการพิมพ์เอาจากคอมพิวเตอร์มาก
การส่ง ส.ค.ส. นี้มักส่งกันทีละหลายสิบใบ ฉันกับสามีเองส่งรวมกันยังนับได้ราว 70 ใบ คนอื่น ๆ ที่รู้จักคนมากหน้าหลายตากว่านี้คงส่งกันทีเป็นร้อย และหลายคนก็ไม่อยากมานั่งทำเองทีละใบ ๆ ก็จะสั่งทำจากร้าน โดยให้พิมพ์ทั้งลวดลายและชื่อที่อยู่ผู้รับผู้ส่งพร้อม ซึ่งลวดลายเหล่านี้ก็ไม่ได้ต่างจากลายในหนังสือรวมลาย ส.ค.ส. เลย
ไปรษณียบัตรที่เอามาทำเป็น ส.ค.ส. นั้นจริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องซื้อจากไปรษณีย์เท่านั้น สามารถซื้อไปรษณียบัตรเปล่าจากร้านร้อยเยนแล้วไปซื้อแสตมป์มาติดก็ได้ แต่ไปรษณียบัตรที่ซื้อจากไปรษณีย์จะมีความพิเศษกว่าตรงที่ระบุว่าเป็น ส.ค.ส. ระบุปี มีลวดลายแทนแสตมป์เก๋ ๆ และมีชนิดกระดาษให้เลือกว่าจะเอาแบบพิมพ์ลาย หรือพิมพ์รูปถ่าย หรือแบบธรรมดา รวมทั้งยังมีเลขท้ายให้ลุ้นรางวัลนิด ๆ หน่อย ๆ ในช่วงหลังปีใหม่ได้ด้วย แต่ฉันก็ยังไม่เคยถูกรางวัลกับเขาเสียที สงสัยว่าคงไม่มีดวงทางนี้
ความใจดีอีกอย่างของไปรษณีย์ญี่ปุ่นคือถึงแม้ว่าเราจะพิมพ์หรือทำลวดลายบนไปรษณียบัตร ส.ค.ส. นั้นไปแล้วหรือเขียนผิด ตราบใดที่เราไม่ได้ใช้และไปรษณียบัตรยังดีอยู่ ก็สามารถเอาไปขอแลกเป็นแสตมป์จากไปรษณีย์ได้ด้วย โดยเสียค่าธรรมเนียมใบละ 5 เยน แต่ดูเหมือนว่าจะต้องเป็นภายในช่วงที่ไปรษณีย์ยังจำหน่ายไปรษณียบัตรนั้น ๆ อยู่ ถ้าเลยช่วงนี้ไปแล้วก็อด
ช่วงเดือนธันวาคมนี้ยังเป็นช่วงที่บริษัทต่าง ๆ หรือเพื่อนฝูงจะมีการเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าที่เรียกกันว่า “โบเน็งไก” (忘年会)ซึ่งร้านอาหารมักถูกจองไว้ล่วงหน้ากันเต็ม คน ๆ หนึ่งอาจไปโบเน็งไกกันหลายหนกับคนโน้นบ้างคนนี้บ้าง ร้านอาหารมักจัดเป็นคอร์สที่คิดราคาต่อหัว ส่วนมากเท่าที่ฉันเคยไปรู้สึกว่าปริมาณและคุณภาพอาหารไม่คุ้มราคา บางทีจ่ายไปหลายพันเยนยังรับประทานไม่อิ่มเลย บางทีออกจากร้านยังรู้สึกท้องกิ่วและหงุดหงิดใจ ต้องไปหาราเม็งรับประทานต่อ
ก่อนถึงวันสิ้นปีแต่ละบ้านจะทำความสะอาดกันครั้งใหญ่ และมีการเตรียมทำ โอะเซะจิ(お節)ซึ่งเป็นอาหารหลากหลายชนิดไว้รับประทานในวันปีใหม่ สามารถเก็บไว้รับประทานได้หลายวัน หากไม่ทำเองก็สามารถสั่งจองจากร้านไว้ล่วงหน้าได้ ราคาตั้งแต่หมื่นกว่าเยนไปจนถึงหลายหมื่นเยนแล้วแต่ปริมาณและชนิดอาหารที่เลือก อาหารเหล่านี้จะถูกจัดวางมาอย่างเป็นระเบียบ อัดแน่นอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่แบ่งเป็นช่องเล็ก ๆ หลายช่อง ที่บ้านสามีมักสั่งเป็นอาหารญี่ปุ่น จีน ฝรั่งปนกันมา จำได้ว่าจะมีคามาโบโกะ (แป้งปั้นเป็นก้อนยาว ๆ หั่นแว่นรสชาติคล้าย ๆ ลูกชิ้นปลา) ถั่วดำหวาน เกาลัดเชื่อม ขนมจีบ เป๋าฮื้อแข็ง ๆ เย็น ๆ ที่หาความอร่อยไม่เจอ เนื้อวัวย่างหั่นเป็นแผ่นบาง ๆ และอื่น ๆ ทุกอย่างรับประทานแบบชืด ๆ ไม่ต้องเอาไปอุ่นให้ร้อนก่อน
ในวันสิ้นปีคนส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่บ้านนั่งดูโทรทัศน์ร่วมกัน โดยเฉพาะรายการเพลงทีมขาว-แดงของสถานีโทรทัศน์ NHK ซึ่งถ่ายทอดสดตั้งแต่หัวค่ำยันดึกดื่น โดยมีการเชิญนักร้องดังทั้งเดี่ยวและกลุ่มมาขับร้อง แต่ละปีจะมีการกำหนดล่วงหน้าว่าใครจะได้เป็นพิธีกรรายการ พอใกล้จบรายการจะประกาศว่าทีมไหนชนะ และร้องเพลง “แสงหิ่งห้อย” หรือ “โฮตารุ โนะ หิกาหริ” (蛍の光)เป็นการปิดท้าย เพลงนี้ใช้ทำนองเพลง Auld Lang Syne ซึ่งคนไทยจะรู้จักเพลงนี้ในชื่อเพลง “สามัคคีชุมนุม” ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกว่าสมัยฉันยังเด็กก็ได้ดูถ่ายทอดรายการเพลงทีมขาว-แดงนี้ที่ประเทศไทยเช่นกัน ไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้ยังมีอยู่ไหม
นอกจากนี้ โดยธรรมเนียมแล้วคนญี่ปุ่นยังนิยมรับประทานโซบะสิ้นปีทีเรียกว่า “โทชิโคชิโซบะ”(年越しそば) แปลตรงตัวว่า “โซบะข้ามปี” โดยเส้นยาว ๆ ของโซบะมีความหมายสื่อถึงอายุที่ยืนยาว บางคนก็ว่าจริง ๆ แล้วที่รับประทานโซบะก็เพราะเป็นอาหารที่ทำง่าย เหมาะสำหรับแม่บ้านที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำโอะเซะจิแล้วไม่ต้องมาวุ่นวายทำอะไรให้ยุ่งยากอีก ส่วนฉันเห็นมันเป็นอาหารแก้หิวยามดึกวันสิ้นปีมากกว่าอะไรอื่น
พอใกล้เวลานับถอยหลังสู่วันขึ้นปีใหม่ ผู้คนจะไปรอเค้าน์ดาวน์กันที่ศาลเจ้า มีการถ่ายทอดสดตามศาลเจ้าดัง ๆ ที่มีคนแห่ไปรอไหว้พระปีใหม่กันอย่างเนืองแน่น ก่อนเข้าสู่วันปีใหม่จะมีการตีระฆัง 108 ครั้ง สาเหตุที่ต้องตีจำนวนเท่านี้นั้นว่ากันว่ามนุษย์มีกิเลส 108 อย่าง เมื่อตีจำนวนเท่านี้แล้วกิเลสจะได้สิ้นไป พอเข้าสู่ปีใหม่แล้วก็ไหว้พระขอพรปีใหม่กันที่ศาลเจ้าต่อเลย
แม้ว่าคนไทยหรือคนอเมริกันอาจจะกล่าวอวยพรปีใหม่กันล่วงหน้าได้ แต่คนญี่ปุ่นจะไม่ยอมพูดคำว่า
“อา-เก-มา-ชิ-เตะ-โอะ-เม-เด-โต-โกะ-ไซ-มัส” ซึ่งแปลว่า “สวัสดีปีใหม่” ก่อนถึงปีใหม่เด็ดขาด จะใช้คำว่า “โยย-โอะ-โต-ฉิ-โอะ” ซึ่งแปลว่า “ขอให้มีปีใหม่ที่ดี” ในช่วงท้าย ๆ ของปีหากพบเจอหรือคุยกับคนรู้จัก แล้วพอขึ้นปีใหม่ถึงจะหันมาใช้ประโยคยาว ๆ ข้างต้น สมัยเด็ก ๆ ฉันก็เปิ่นไม่รู้เรื่องนี้ ไปพูดอวยพรปีใหม่คนญี่ปุ่นก่อนถึงปีใหม่ด้วยคำว่า “อา-เก-มา-ชิ-เตะ-โอะ-เม-เด-โต-โกะ-ไซ-มัส” เลยไม่มีใครพูดตอบกลับมาสักคนเดียว มารู้เอาตอนหลัง ๆ นี่เองค่ะว่าเขาไม่ใช้กันอย่างนี้
แล้วพบกันใหม่ปีหน้านะคะ โยยโอะโตฉิโอะ!
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.