xs
xsm
sm
md
lg

พาไปดู "ร้านตัดผม" ในญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

มีเพื่อนผู้อ่านที่รักท่านไหนชอบไปร้านทำผมหรือร้านตัดผมบ้างไหมคะ ตัวฉันเองชอบร้านทำ/ตัดผมมาแต่เด็ก ๆ เพราะชอบเตียงสระผมแบบนอนราบแล้วให้คนสระผมให้ มันช่างสบ๊ายสบายอย่างบอกไม่ถูก ไม่ทราบเพื่อนผู้อ่านเป็นเหมือนกันไหม?

ส่วนร้านตัดผมชายก็เป็นร้านหนึ่งที่ฉันชอบ แต่ไม่ได้ไปให้เขาโกนผมให้ คือชอบดูช่างเขาเอาปัดตาเลี่ยนไถศีรษะลูกค้า ดูสนุกอย่างไรบอกไม่ถูก พอโกนผมเสร็จก็มีการเอาแป้งประที่คอ ปั่นหู นวดให้นิดหนึ่ง ดูท่าทางน่าสบายอยู่ ราคาก็สบายกระเป๋าด้วย ที่ญี่ปุ่นก็มีร้านที่ภายนอกดูคล้าย ๆ แบบนี้อยู่บ้างเหมือนกัน แต่นาน ๆ จะเห็นเสียทีหนึ่ง วันนี้ขอพาเพื่อนผู้อ่านไปดูร้านทำ/ตัดผมทั่วไปที่ฉันเคยไปใช้บริการที่ญี่ปุ่นกันบ้างค่ะ

จำได้ว่าสมัยแรก ๆ ที่ฉันไปร้านตัดผมญี่ปุ่นนี่จะตื่นเต้นไม่น้อยเพราะไม่รู้จักศัพท์ที่ใช้ในร้านตัดผมเลย กลัวจะสื่อสารกับช่างได้ไม่ถูก แต่จริง ๆ ก็อาจจะไม่ต้องกลัวเท่าไหร่ เพราะว่าอย่างไรช่างก็ไม่เคยตัดผมได้อย่างที่เราอยากได้ (ฮา) อาจเพราะเป็นช่างคนละคนกับที่ตัดผมนางแบบในหนังสือ หรือไม่ก็เพราะลักษณะเส้นผมของแต่ละคนที่แตกต่างกันทำให้ทรงผมออกมาไม่เหมือนกัน หรือช่างเองก็อาจจะไม่ถนัดตัดทรงนั้นก็เป็นไปได้อีก บางทีก็เลยให้ช่างแนะนำให้ว่าอยากได้อิมเมจแบบนี้ ๆ ช่างก็จะคิดแล้วอธิบายให้เราฟังว่าอย่างนี้ดีไหม อันนี้ก็วัดดวงเอาแต่โดยมากก็ออกมาไม่ค่อยผิดหวัง
ภาพจาก http://gahag.net/
มีร้านตัดผมอยู่ร้านหนึ่งที่มีสาขาอยู่ทั่วญี่ปุ่น ถือเป็นร้านที่ราคาไม่แพง ถ้าแค่สระและตัดก็อยู่ที่ประมาณ 3,000 เยน เว้นแต่จะเลือกบริการจากช่างที่มีฝีมือซึ่งเขามีจัดอันดับช่างแตกต่างกัน ยิ่งช่างตำแหน่งสูง ๆ ก็เสียค่าบริการแพงสูงขึ้น ถ้าเลือกแชมพูชนิดพิเศษก็แพงขึ้นอีก เวลาโทรไปนัดเขาจะถามว่าเป็นสมาชิกไหม จะเลือกช่างคนไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า มาทำอะไรบ้าง

เวลามาถึงร้านแล้ว พนักงานหน้าเคาน์เตอร์ก็จะรับเสื้อแจ็คเก็ตหรือเสื้อโค้ทเราไปเก็บ แล้วให้เราเอากระเป๋าถือไปเก็บในล็อกเกอร์และเก็บกุญแจไว้ สังเกตว่าเวลาไปร้านอื่น ๆ ที่เป็นร้านเล็ก ๆ นั้นจะไม่มีล็อกเกอร์ให้ แต่ให้เราวางของไว้ตรงโต๊ะกระจกหน้าเก้าอี้ตัดผม พอลุกไปสระผมก็อาจให้เราย้ายของไปวางที่ชั้นใกล้ ๆ เตียงสระผมเพื่อความสบายใจ(ของลูกค้าและทางร้าน) หรือบางร้านพอเห็นฉันหยิบกระเป๋าไปเตียงสระผมด้วยก็จะทักว่าวางไว้ที่เก้าอี้ตัดผมก็ได้ แต่ฉันก็คิดว่าตัวเองควรรับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยของสิ่งของตัวเองก็เลยเอาติดตัวไว้เป็นนิสัย ทั้งนี้ ร้านเล็กไม่ได้แปลว่าเป็นร้านราคาไม่แพง ต้องดูลักษณะร้านเอา หลาย ๆ ร้านที่เป็นร้านเล็กจะคิดค่าบริการสูงกว่าและมักมีช่างฝีมือดี

พอเก็บของแล้วก็รอช่างมาเรียก คนที่มาเรียกเราโดยมากเป็นช่างระดับต้น ๆ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผู้ช่วยเสียมากกว่า ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง เขาจะสวมเสื้อคลุมตัวใหญ่ ๆ ให้เรา แล้วพาไปนั่งที่เก้าอี้ตัดผม จากนั้นจะถามว่าอยากดื่มชาหรือกาแฟดี แล้วก็จะยกถ้วยเล็ก ๆ มาให้ตามที่ขอแล้วถอยออกไป รอให้ช่างคนที่จะตัดผมเราจะมาทักทาย แนะนำตัวเอง แล้วทวนกับเราว่าต้องการทำอย่างไรกับผมบ้างว่าถูกต้องตามที่แจ้งไว้ทางโทรศัพท์ไหม และถามเราว่าอยากได้ทรงผมอย่างไรบ้าง จากนั้นผู้ช่วย(?) คนที่เราเจอเป็นคนแรกจะพาเราไปสระผมต่อไป

เตียงสระผมในญี่ปุ่นเดี๋ยวนี้มักเป็นเก้าอี้ที่สามารถปรับเอนได้เล็กน้อย ด้านหลังเก้าอี้เป็นอ่างสระผมซึ่งเราก็แหงนคอไปด้านหลังวางเหนืออ่าง พอลงนั่ง ผู้ช่วยก็จะเอาผ้าห่มสำหรับคลุมขามาคลุมให้เราแล้วจัดเราให้นั่งให้สบาย ส่วนมากมันก็ไม่สบายเพราะที่วางคอก็เป็นอ่างแข็ง ๆ ไม่เหมือนเตียงสระผมของไทยที่ใช้กันทั่วไปแบบสมัยก่อนซึ่งเป็นเบาะแสนสบาย เดี๋ยวนี้ในไทยเองก็คงน้อยลง หันมาใช้เตียงสมัยใหม่ที่มีที่วางคอแข็ง ๆ กันมากขึ้น
ภาพจาก http://gahag.net/
ก่อนจะลงมือสระผม ช่างจะเอากระดาษแผ่นหนึ่งมาคลุมหน้าเราเพื่อกันไม่ให้น้ำและแชมพูกระเด็นใส่ กระดาษแผ่นนี้เล็กมาก เหมือนจะมีกาวแปะบริเวณหน้าผากสองจุดซ้ายขวาช่วยยึด จากนั้นช่างก็จะเริ่มสระผมโดยมายืนที่ด้านข้างของเราแทนที่จะยืนด้านหลังของอ่าง ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไม รู้แต่ว่าจะเห็นรักแร้ของช่าง ซึ่งทำให้ฉันแอบคิดอยู่เสมอว่าถ้าช่างคนไหนเหงื่อออกมาก เครียด หรือตื่นเต้นก็คงจะแย่เพราะรักแร้คงส่งกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ แต่ฉันก็ยังไม่เคยเจอช่างคนไหนที่มีกลิ่นรักแร้เสียที

ระหว่างสระ ช่างจะคอยถามหรือบอกโน่นนี่เราตลอด อย่างเช่น พอเปิดน้ำฝักบัวแล้วก็จะถามว่าน้ำร้อนหรือเย็นไปอย่างไรบ้าง ส่วนใหญ่มันจะร้อนชวนสะดุ้งไปเสียทุกที จะเพราะฉันกระหม่อมบางหรืออย่างไรก็สุดจะเดา จริง ๆ แล้วอยากบอกช่างว่าเปิดน้ำเย็นเลย แต่เกรงใจช่างที่อาจจะมือชาเสียก่อน เลยบอกช่างว่าเอาพออุ่นนิดหน่อยก็พอ ช่างก็ปรับแล้วถามอีกว่าอย่างนี้พอไหม เวลาสระ ช่างจะไม่มีการเอาเล็บเกาศีรษะเราเด็ดขาด พอสระ ๆ ไปก็ถามอีกว่ามีรู้สึกไม่สบายอะไรบ้างไหม ซึ่งก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าถามเรื่องอะไร เดาเอาเองว่าคงหมายถึงนั่ง ๆ ไปแล้วปวดคออะไรหรือเปล่ากระมัง พอล้างแชมพูเสร็จจะลงทรีตเมนท์ ช่างก็จะบอกเราว่าจะลงทรีตเมนท์แล้วนะ บอกทุกขั้นตอนให้เรารู้ว่าช่างกำลังทำอะไรกับเรา ละเอียดมากมาย

พอสระเสร็จช่างก็พาเราไปนั่งที่เก้าอี้ตัดผม หมุนเก้าอี้ให้ แล้วให้เรานั่งรอช่างตัดมาหาอีกครั้ง เวลาเดินไปยังที่นั่ง ช่างคนอื่น ๆ จะพากันบอกเราว่า “โอะ-สึ-กา-เร-ซา-หมะ-เดส” (คำนี้สื่อความหมายว่าอย่างไร ลองอ่านในบทความ วลีติดหู ถ้อยคำติดปากในชีวิตประจำวันคนญี่ปุ่น) ได้ยินคำนี้ทีไรอยากจะบอกช่างกลับไปด้วยคำเดียวกันเสียทุกที เพราะลูกค้าน่ะไม่เหนื่อยแน่ แต่ช่างแต่ละคนเหนื่อยมาก แค่ยืนทั้งวันก็แย่แล้ว เคยถามช่างประจำว่าปกติได้รับประทานข้าวกลางวันไหม เขาบอกว่าไม่ได้หรอก ลูกค้าเข้าร้านตลอด กินได้แค่สองมื้อเอง คือมื้อเช้าซึ่งต้องจัดหนัก ๆ ไว้ และมื้อดึกหลังเลิกงาน

อาจเพราะร้านนี้มีลูกค้าเข้าออกเยอะมาก ช่างคนหนึ่ง ๆ จึงต้องรับคิวตัดผมลูกค้าพร้อมกันหลายราย ช่างคนเดียวเดี๋ยวก็ไปอยู่กับลูกค้าคนอื่น ๆ มุมนั้นที มุมนี้ที ฉันเคยลองนับดูว่าช่างตัวเองดูลูกค้ากี่คน ก็นับได้ถึงห้าคน บางทีสระผมเสร็จ ต้องรออีก 10-20 นาทีกว่าช่างจะมาตัด พอตัดเสร็จ ผู้ช่วยหรือช่างคนอื่นก็มาเป่าผมให้ แล้วรอช่างของเรามาดูความเรียบร้อยครั้งสุดท้ายอีกที บางทีก็เบื่อจนไม่อยากมาร้านนี้แล้วเพราะต้องรอนานมากจนเคยหลับไป แค่สระกับตัดจริง ๆ ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเอง แต่เคยเสียเวลาอยู่ตั้ง 3 ชั่วโมง ฉันเคยบอกช่างของลูกค้าอื่นที่อยู่ข้าง ๆ ว่าฉันขี้เกียจรอแล้ว ขอกลับได้ไหม เขาก็ตกใจ คงกลัวว่าลูกค้าจะไม่พอใจ เลยรีบไปเรียกช่างของเรามาให้จัดการเราให้เสร็จเรียบร้อย
ภาพจาก http://gahag.net/
ฉันเคยเห็นช่างตัวเองจากเงาสะท้อนในกระจก เขาเพิ่งเสร็จจากการไปดูลูกค้าคนอื่นและกำลังเดินกลับมาหาด้วยสีหน้าเนือย ๆ พอใกล้จะมาถึงปุ๊บ เขาก็รีบปั้นหน้ายิ้มแบบร่าเริงสุดขีดมารับ ฉันต้องกลั้นหัวเราะแทบแย่ แต่ใจหนึ่งก็สงสารช่างที่ต้องฝืนทำตัวให้ร่าเริงผิดธรรมชาติเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกดี คงเครียดไม่เบาเหมือนกัน

ช่างแต่ละคนในร้านนี้(ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย)จะแต่งตัวกันแฟชั่นจ๋ามากแบบที่เดินข้างนอกทั่วไปคงไม่เจอ เว้นแต่จะไปแถว ๆ ชิบุยะหรือฮาราจุกุ คงเพราะต้องดูดี เก๋ไก๋ ชวนให้ลูกค้ารู้สึกว่าช่างร้านนี้ทันสมัยตลอดเวลา แต่ละคนก็จะมีสไตล์ไม่เหมือนกัน ช่างประจำของฉันเองก็เปลี่ยนสไตล์อยู่เสมอจนฉันแซวว่ามาทีไรจำช่างไม่ได้เพราะดูเหมือนคนละคนทุกครั้งที่เจอ

ช่างตัดผมร้านนี้ก็แปลกอยู่อย่างหนึ่งที่เวลาคุยกับลูกค้าจะไม่ค่อยใช้ภาษาสุภาพ แต่คุยแบบเป็นกันเองเหมือนเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกัน สร้างความรู้สึกอีหลักอีเหลื่อให้ฉันพอสมควร เพราะมันดูจงใจเกินไปที่จะใช้ภาษาเป็นกันเองเพื่อร่นระยะความใกล้ชิดกับคนที่เพิ่งเคยเจอกันในสังคมญี่ปุ่น ถ้าเป็นเพื่อนร่วมชั้นในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็ว่าไปอย่าง ฉันชอบช่างประจำของตัวเองตรงที่เขาทำตัวค่อนข้างเป็นปกติ ใช้ภาษาสุภาพตั้งแต่ต้นจนพอคุ้นเคยกันระดับหนึ่งถึงเริ่มคุยภาษากันเองตามธรรมชาติ

บนโต๊ะหน้ากระจกที่เราตัดผมนั้นจะมีป้ายโฆษณาบริการอื่น ๆ ของทางร้านด้วย เช่น นวดมือระหว่างทำผม ซึ่งอาจจะเป็นวิธีฆ่าเวลาอันเพลิดเพลินระหว่างรอช่างนานแทนที่จะนั่งสัปหงกแบบฉัน แต่เห็นราคา 1 พันเยนแล้วรู้สึกว่าเก็บตังค์ไว้เอาไปนวดตัวหรือนวดเท้า 1 ชั่วโมงที่เมืองไทยดีกว่า แล้วก็มีบริการทำสีผมทุกเดือนโดยจ่ายเหมาล่วงหน้าสำหรับ 5 ครั้งซึ่งถูกกว่า อาจจะคุ้มจริงแต่ทำสีผมบ่อยขนาดนั้นเส้นผมคงกลายเป็นขนไม้กวาดเสียก่อน สรุปฉันเลยไม่เคยได้ใช้บริการพวกนี้เสียที

พอตัดผมเสร็จเรียบร้อย ช่างก็จะไปส่งเราที่เคาน์เตอร์จ่ายเงิน หยิบแจ็คเก็ตหรือเสื้อโค้ทที่เราฝากไว้มาสวมให้ และไปส่งเราถึงหน้าร้านพร้อมโค้งศีรษะกล่าวคำขอบคุณ

ถ้าเป็นร้านเล็กที่มีช่างไม่กี่คน ส่วนใหญ่จะรอไม่นานเพราะช่างจะดูแลเราตลอด หรืออย่างมากก็อาจจะดูลูกค้าทีละสองคน เว้นแต่ตอนสระผมซึ่งมักเป็นช่างหรือผู้ช่วยระดับต้น ๆ ถ้ายอมจ่ายเยอะกว่าได้ ฉันว่ามาร้านเล็กที่ราคาสูงกว่าอาจจะคุ้มกว่า เพราะช่างก็ฝีมือดี และไม่ต้องเสียเวลารอนาน ส่วนใหญ่ฉันก็ได้ทรงผมอย่างที่ต้องการกลับไป เว้นแต่จะมีอยู่ครั้งเดียวที่ฉันบอกช่างว่าขอลุคแบบผู้ใหญ่ที่ดูเก๋ไก๋หน่อยเพราะฉันหน้าตาไม่ค่อยสมเป็นผู้ใหญ่ วันนั้นฉันเลยได้ทรงอาม่ากลับไปแทน สร้างความปวดร้าวในหัวใจไปหลายวัน

เพื่อนผู้อ่านที่รักมีเรื่องสนุก ๆ ในร้านตัดผมก็เล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ วันนี้ขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.



"ซาระซัง"
สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.
กำลังโหลดความคิดเห็น