คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
ชีวิตประจำวันในญี่ปุ่นนั้น เรามักจะพบเจอประโยคที่กำหนดไว้ตายตัวแล้วว่าในสถานการณ์ไหนใช้อย่างไหน ประโยคเหล่านี้เป็นทั้งทักทาย คำพูดก่อนและหลังรับประทานอาหาร แสดงความขอบคุณ ชื่นชม ให้กำลังใจ และอื่น ๆ อีกมายมาย เรียกได้ว่าเป็นธรรมเนียมและมารยาทที่ทุกคนจะพูดกันติดปากไว้เสมอ ๆ
ถ้าอยู่ในสังคมญี่ปุ่นระยะหนึ่งก็จะใช้ประโยคเหล่านี้ได้ชินปากไปเอง หากถ้าไม่ได้อยู่ แต่มีปฏิสัมพันธ์กับคนญี่ปุ่นอยู่เรื่อย ๆ แล้ว การรู้จักประโยคเหล่านี้ไว้บ้างก็น่าจะเป็นประโยชน์ได้เหมือนกันในการสร้างความรู้สึกกลมเกลียวกัน เหมือนเวลาที่เราได้ยินคนต่างชาติพูดภาษาไทยแล้วเรารู้สึกเปิดใจง่ายกว่า ทำนองนั้นนะคะ
ด้วยความเคยชินกับชีวิตในญี่ปุ่นว่าในสถานการณ์แบบไหนต้องใช้คำพูดแบบไหน ตอนที่ฉันย้ายมาอยู่สหรัฐฯ ช่วงแรก ๆ นั้นเกือบหลุดคำพูดพวกนี้ออกไปหลายต่อหลายครากับคนอเมริกัน แล้วก็ต้องชะงักตอนพยายามนึกคำพวกนี้ออกมาเป็นภาษาอังกฤษแล้วนึกได้ว่าในภาษาอังกฤษไม่มีคำพวกนี้อยู่ แรก ๆ ฉันจะรู้สึกอึดอัดมากที่อยู่ในสถานการณ์ที่ปกติต้องพูดคำพวกนี้แล้วต้องรูดซิปปากไว้ไม่พูดเพราะมันไม่มีในวัฒนธรรมอเมริกัน พอชินกับชีวิตในสหรัฐฯ พอกลับไปญี่ปุ่นก็เกือบลืมคำพูดเหล่านี้ไปเสียอีก
สถานการณ์พวกนี้ก็ได้อย่างเช่นเวลาที่ต้องใช้ประโยคเหล่านี้ค่ะ
1.“โอะ-สึ-กา-เร-ซา-มะ-เด-ชิ-ตะ” お疲れ様でした
ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นเวลาเลิกงานหรือทำงานใด ๆ เสร็จ ถ้างานนั้นเป็นงานที่ทำร่วมกัน เสร็จพร้อมกัน เขาจะพูดให้กันและกันว่า “โอะ-สึ-กา-เร-ซา-มะ-เด-ชิ-ตะ” (บางทีก็เปลี่ยนจาก “เดชิตะ” เป็น “เดส”) ซาระซังใส่ “-” ไว้เพื่อให้เห็นเป็นคำ ๆ ดูง่ายหน่อย แต่เวลาพูดจริง ไม่ต้องพูดทีละพยางค์แบบนี้นะคะ เดี๋ยวคนฟังนึกว่าข้าวติดคอ ให้พูดต่อกันไปเลยทั้งประโยค ใช้เวลาประมาณ 1 วินาที
ถ้าถามว่ามันแปลว่าอะไร ซาระซังก็ยังนึกไม่ค่อยออกว่าจะแปลเป็นภาษาไทยอย่างไรให้ได้ใจความเหมาะ ๆ แต่มันให้ความรู้สึกทำนองว่าเรามองเห็นความเหนื่อยยากของอีกฝ่าย เห็นความพยายามอุตสาหะของเขาที่ทำงานหนักให้เสร็จลงได้ แสดงถึงการยอมรับ ชื่นชมไปในตัว ทำนองว่า “เหนื่อยแย่เลย” หรือ “คุณคงเหนื่อย” ประมาณนี้
เวลาเลิกงานแล้ว ตัวเองจะกลับบ้านก่อน พอจะเดินออกไปต้องบอกคนอื่น ๆ ว่า “โอะ-ซะ-กิ-นิ-ชิ-สึ-เร-ชิ-มัส” お先に失礼します (แปลตรงตัวว่า “ขอเสียมารยาทที่กลับก่อน” หรือ “ขออนุญาตกลับก่อน”) พร้อมโค้งให้ คนอื่น ๆ ก็จะตอบว่า “โอะ-สึ-กา-เร-ซา-มะ-เด-ชิ-ตะ” ใช้แบบนี้นะคะ
ชมรมเทนนิสที่ฉันอยู่ในสหรัฐฯ นี้เป็นชมรมที่มีแต่คนญี่ปุ่น เวลาเราเล่นเทนนิสกันเสร็จ จะแยกย้ายกันกลับบ้าน ก็จะพูดทั้งสองประโยคนี้เหมือนกันค่ะ แสดงว่านอกจากการใช้ในบริบทของการทำงานแล้วยังใช้กับบริบทของกิจกรรมได้ด้วยเมื่อกิจกรรมนั้นสิ้นสุดลง
อ้อ เวลาคนเลิกงานแล้วไปดื่มกัน เวลาชนแก้วเขาก็จะพูดกันว่า “โอะ-สึ-กา-เร-ซา-มะ-เด-ชิ-ตะ” เหมือนกัน แต่พอมาบริบทนี้ ในบางคราวจะให้ความรู้สึกว่า “เฮ้อ เลิกงานเสียทีนะพวกเรา (เหนื่อยหลาย)” แต่ถ้าเกิดเป็นการดื่มฉลองแก่ใครที่ทำอะไรเสร็จสิ้นสำเร็จ ก็พูดประโยคนี้ตอนชนแก้วเหมือนกัน คนที่เป็นฝ่ายได้รับคำพูดนี้ก็จะตอบขอบคุณกลับมา
แม้บ้านเราจะไม่มีการใช้ประโยคทำนองนี้ แต่สังเกตว่าคนไทยจะแสดงความเป็นห่วงเป็นใยระหว่างการทำงานหลาย ๆ ชั่วโมงต่อเนื่องกัน ด้วยการถามว่ากินข้าวหรือยังเมื่อถึงเวลามื้ออาหารโดยปกติ ฉันเคยทำงานประสานงานในอีเว้นต์อาหารไทยงานหนึ่งที่มีทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพร่วม งานนั้นเป็นงานตอนเย็น แม้จะไม่มีการแบ่งเวรเป็นกะ แต่คนไทยจะสับเปลี่ยนกันไปกินข้าวเมื่อถึงเวลา และพากันถามไถ่ว่ากินหรือยัง ๆ ขืนรอไว้ก่อนยังไม่ไป คนอื่น ๆ ก็จะมาตามตัวหรือดุให้ไปกินจนได้ แล้วค่อยกลับมาทำงานต่อ แต่คนญี่ปุ่นจะไม่ยอมกินเลยแม้ว่าจะท้องกิ่วหรือเลยเวลามื้ออาหารมาหลายชั่วโมงแล้ว เพราะรู้สึกว่านี่ยังเป็นเวลางาน ไม่ใช่เวลากินข้าว ก็จะอดทนไว้ พอเลิกงานถึงจะค่อยเฮโลไปกินข้าวพร้อมกัน คราวนี้มาดคนทำงานก็จะหายไปอย่างสิ้นเชิง เรียกได้ว่าแบ่งชัดเจนมากว่าเวลาไหนต้องมีบทบาทหน้าที่อย่างไร
2.“โอะ-เซะ-หวะ-หนิ-นา-ริ-มา-ชิ-ตะ” お世話になりました
ประโยคหนึ่งที่จะน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่ได้เข้าไปอยู่ในสังคมญี่ปุ่นช่วงหนึ่ง ๆ เช่น ไปอยู่กับโฮสแฟมิลี่ญี่ปุ่น ไปอาศัยอยู่บ้านคนญี่ปุ่นหลาย ๆ วัน ไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่นช่วงหนึ่ง ในกรณีแบบนี้เวลาจะจากลากัน ฝ่ายที่จะลาจากไปจะพูดว่า “โอะ-เซะ-หวะ-หนิ-นา-ริ-มา-ชิ-ตะ” แปลตรง ๆ อาจจะแปลได้ว่า “ที่ผ่านมาได้มารบกวนให้คุณดูแล” ซึ่งน่าจะสรุปความหมายได้ว่า “ขอบคุณสำหรับทุก ๆ สิ่งที่ผ่านมา(และขอโทษที่มารบกวน)” จะฟังดูน่ารักมากเลยค่ะถ้าเราใช้ประโยคนี้ได้ ดีกว่าคำว่า “อะ-ริ-งา-โต่” ซึ่งแปลว่า “ขอบคุณ” เสียอีก มันมีนัยที่แสดงถึงความใส่ใจและรู้คุณที่อีกฝ่ายทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งเป็นการแสดงความเกรงใจไปด้วยในตัวที่เรามารบกวนเขาให้เอื้อเฟื้อเรา
ในชมรมเทนนิสคนญี่ปุ่นแห่งเดิมที่เล่าไว้ข้างต้น เวลาคนไหนถึงวาระจะกลับประเทศ ฉันสังเกตว่าเขาจะพูดประโยคเดียวนี้กันเสมอ ๆ แม้กรณีนี้จะไม่ได้เป็นการที่เขาไปรบกวนคนอื่นโดยตรงก็ตาม แต่การทำกิจกรรมร่วมกันกับหมู่คณะซึ่งต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ก็คงเป็นเรื่องธรรมดาที่บางทีก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะไปรบกวนคนอื่น หรือคนอื่นเอื้อเฟื้อเรา การพูดว่า “โอะ-เซะ-หวะ-หนิ-นา-ริ-มา-ชิ-ตะ” ทำให้คนฟังรู้สึกดี แม้คนพูดอาจจะพูดเป็นธรรมเนียมติดปากก็ตาม
ประโยคนี้เองยังมีการใช้ในการกล่าวทักทายเมื่อสิ้นปีด้วย โดยกล่าวคำพูดเพิ่มเติมว่า “โขะ-โต-ฉิ-โมะ” ข้างหน้า กลายเป็น “โขะ-โต-ฉิ-โมะ” (ปีนี้ก็) + “โอะ-เซะ-หวะ-หนิ-นา-ริ-มา-ชิ-ตะ” แปลตรงตัวคร่าว ๆ ได้ว่า “ขอบคุณที่ปีนี้ก็ยังให้ความกรุณาเช่นเคย” (พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ “ขอบคุณสำหรับทุกอย่างตลอดปีนี้”)
นอกจากนี้ยังใช้ในการเขียน ส.ค.ส. ได้ด้วย แต่จะเปลี่ยนคำว่า “ปีนี้” เป็น “ปีที่แล้ว” กลายเป็น “สะ-คุ-เน็น-วะ” (ปีที่แล้วนั้น) + “โอะ-เซะ-หวะ-หนิ-นา-ริ-มา-ชิ-ตะ” แปลตรง ๆ ว่า “ปีที่แล้วได้รับความกรุณาจากท่าน” (ก็คือหมายถึง “ขอบคุณสำหรับปีที่แล้ว”) แล้วมักต่อท้ายว่าปีนี้ก็ขอฝากเนื้อฝากตัวเช่นเคย
3. “อิ-ต๊ะ-ด๊ะ-คิ-มัส” いただきます และ “โกะ-จิ-โซ-ซา-มา-เด-ชิ-ตะ” ごちそうさまでした
ถ้าเพื่อนผู้อ่านเคยดูการ์ตูนญี่ปุ่นทางทีวี โดยเฉพาะโดราเอม่อน (ถ้าฉันจำไม่ผิดนะคะ) คงพอคุ้น ๆว่าเวลาโนบิตะจะกินข้าวทีก็จะพูดว่า “ทานละคร้าบ” พอกินเสร็จก็จะพูดว่า “อิ่มแล้วคร้าบ” ใช่ไหมคะ คำที่โนบิตะพูดก่อนกินข้าวนั้นก็คือ “อิ-ต๊ะ-ด๊ะ-คิ-มัส” และที่พูดหลังกินข้าวคือ “โกะ-จิ-โซ-ซา-มา-เด-ชิ-ตะ” นั่นเอง
น้องฉันเคยไปเก็บข้อมูลในโรงเรียนอนุบาลหรือโรงเรียนประถมของญี่ปุ่นนี่แหละ เป็นช่วงเวลาอาหารกลางวันพอดี ก่อนจะรับประทานคุณครูก็บอกเด็ก ๆ ว่า “เอาล่ะ เดี๋ยวพี่เขาจะพูดคำว่า อิต๊ะด๊ะคิมัส เป็นภาษาไทยให้เราฟังนะ” แล้วคะยั้นคะยอให้น้องฉันพูด น้องฉันยังไม่ทันตั้งตัว ก็พูดตอบกลับไปว่า “อิต๊ะด๊ะคิมัส” เหมือนกัน คุณครูงง เพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ก่อนรับประทานข้าวจะต้องพูดคำนี้ เลยไม่ได้คิดว่าประเทศอื่นไม่ได้มีคำพูดแบบเดียวกัน วันนั้นคุณครูเลยได้เป็นฝ่ายเรียนรู้ความต่างของวัฒนธรรมไปแทน
หลายบ้านในญี่ปุ่นจะสอนลูก ๆ ว่าต้องพูดคำนี้ก่อนกินข้าวทุกครั้ง คาดว่าคงเป็นการแสดงความขอบคุณที่มีคนทำกับข้าวให้เรากิน หรือขอบคุณที่เรายังมีข้าวกิน และเป็นมารยาทไปด้วยในตัว พอพูดคำนี้แล้วทุกคนก็จะเริ่มกินข้าวพร้อมกัน แต่ถ้าเราไปร้านอาหารก็ไม่ต้องพูด
ส่วนคำว่า “โกะ-จิ-โซ-ซา-มา-เด-ชิ-ตะ” ที่พูดหลังกินข้าวเสร็จนั้น นอกจากใช้ในบ้านตัวเองหรือบ้านคนอื่นแล้ว สามารถใช้เวลาเราไปรับประทานอาหารนอกบ้านได้ด้วย เช่น เรากำลังจะลุกไปเช็คบิลแล้วต้องการเรียกพนักงานให้ไปที่แคชเชียร์ เราก็พูดคำนี้ได้ หรือเวลาเราจ่ายเงินที่แคชเชียร์เสร็จแล้ว จะเดินออกจากร้านก็บอกพนักงานด้วยประโยคนี้ คล้าย ๆ เป็นการทักทายสักนิดก่อนจากไปไม่ให้ดูเย็นชา ตามร้านราเม็งจะได้ยินผู้ชายพูดกันบ่อย ๆ เวลาเขากินเสร็จแล้วจะลุกไป ผู้หญิงบางคนก็อาจพูดต่อท้ายว่า “อร่อยดีค่ะ” ให้คนทำดีใจด้วย
เวลาเราไปรับประทานอาหารนอกบ้านกับคนอื่น แล้วคนอื่นเป็นคนเลี้ยงเรา เราก็จะพูดว่า “โกะ-จิ-โซ-ซา-มะ-เด-ชิ-ตะ” เช่นกัน เป็นการแสดงความขอบคุณที่เขาเลี้ยงเรา สังเกตว่าในกรณีนี้จะไม่ใช้คำว่า “อะ-ริ-งา-โต่-โกะ-ไซ-มัส” ที่แปลว่า “ขอบคุณ” ทั่ว ๆ ไปนะคะ
ด้วยความที่ถ้อยคำติดปากพวกนี้มีเยอะมาก และใช้กันบ่อยในชีวิตประจำวัน บางทีสมองฉันก็เลยสับสน พูดผิดประโยคไป ฉันเคยไปซื้อของในร้านสะดวกซื้อ ตอนไปจ่ายเงินนั้น ด้วยความที่สภาพการณ์มันคล้าย ๆ กับเวลาจ่ายเงินที่แคชเชียร์ในร้านอาหาร พอจ่ายเงินเสร็จ ฉันก็หลุดปากออกมาว่า “โกะ-จิ-โซ-ซา-มา-เด-ชิ-ตะ” เฉยเลย พอรู้สึกตัวว่าฉันเพิ่งกล่าวคำขอบคุณร้านสะดวกซื้อที่ให้อาหารฉันกิน (เสียเมื่อไหร่) ฉันก็รีบเผ่นออกไปจากร้าน แล้วออกไปยืนหัวร่องอหายอยู่กับเพื่อน ๆ ในความมึนของตัวเอง เพื่อนคนญี่ปุ่นก็บอกว่าเขาเองก็เคยเผลอพูดผิดทำนองนี้เป็นบางคราวเหมือนกัน
ประโยคเหล่านี้ยังมีอีกมากมายที่ต้องใช้จริงในชีวิตประจำวันที่ญี่ปุ่น รายละเอียดปลีกย่อยว่าใช้อย่างไรก็เยอะ วันนี้ขอเล่าพอหอมปากหอมคอเท่านี้ก่อนจะกลายเป็นบทความสอนภาษาญี่ปุ่นไปแทน ไว้พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.