xs
xsm
sm
md
lg

สถานการณ์แบบนี้.. กล้าชกหน้าหัวหน้าตัวเองไหม?! (Yoshitsune, Benkei)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้วครับ อาทิตย์ที่แล้วผมเล่าเกริ่นถึง Minamoto no Yoshitsune (源 義経 ) มินะโมะโตะ โยะชิสึเนะ ผู้พันในยุค 鎌倉Kamakura ของประเทศญี่ปุ่น ผู้ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อพี่ชายของตัวเอง แต่กลับถูกพี่ชายแท้ๆ สั่งฆ่า ชีวประวัติของโยะชิสึเนะถูกนำมาสร้างเป็นละครโบราณและละครโทรทัศน์มากมายครับ เป็นบุคคลที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบ เลยอยากเล่าให้เพื่อนๆ ฟังด้วยครับ คราวที่แล้วเล่าเรื่องละครคาบุกิ ตอนที่ดังมากๆ ตอนหนึ่ง ค่อนข้างเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ชื่อตอน「勧進帳」Kanjinchou ที่กล่าวถึงตอนที่โยะชิสึเนะหลบหนีการตามล่าของพี่ชายโดยใช้อุบายการปลอมตัวเป็นพระ และใช้อุบายหลบหนีผู้เฝ้าด่านชายแดนออกไปได้

ตอนนั้นโยะชิสึเนะหนีไปกับ Benkei ผู้ซึ่งเป็นบอดี้การ์ด เพื่อนๆ สามารถติดตามอ่านได้ที่ลิ้งค์นี้ครับ ( ใครคือฮีโร่-ใครคือผู้ร้ายตัวจริงกันแน่ !?)  ซึ่งบอดี้การ์ดคนนี้นี่ก็มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจมากครับ เขาชื่อ Musashibō Benkei 武蔵坊弁慶 ก่อนหน้าที่จะเป็นบอดี้การ์ดของโยะชิสึเนะเขาเคยเป็นพระนักรบในยุคสงครามเฮจิ Benkei เป็นเด็กกำพร้าครับ ถูกนำมาทิ้งไว้ที่วัดและเติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูของพระในวัด ต่อมาจึงได้บวชเป็นพระและเป็นพระนักรบ ได้รับการฝึกวิชาการต่อสู้หลายแขนง ถือว่าเป็นพระนักรบที่เก่งกาจและแข็งแกร่งที่สุดในยุคนั้นก็ว่าได้ Benkei มีความแตกต่างจากคนทั่วไปเพราะว่าเขามีรูปร่างที่ใหญ่โตผิดมนุษย์ ตอนที่มีอายุได้ 17 ปี ก็สูงถึง 2 เมตรเข้าไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีลักษณะท่าทางที่แข็งแรงดุดันเหมือนยักษ์ (ตามที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกขานเช่นนี้) นึกภาพนะครับคนญี่ปุ่นสมัยก่อนก็ไม่ได้ตัวใหญ่อะไร แต่ Benkei นี่ใหญ่โต บึกบึน แค่เห็นก็น่ากลัวแล้ว

แต่เนื่องจาก Benkei ถูกพระในวัดใส่ร้าย จึงต้องหลบหนีออกจากวัดและใช้ชีวิตเร่ร่อนเป็นนักบวชนอกรีตคอยดักปล้นเหล่าทหารและซามูไรและยึดอาวุธของคนเหล่านั้นสะสมไว้ แหล่งที่เขาคอยดักปล้นคือที่สะพานโกะโจ กรุงเกียวโต ดาบที่ยึดได้มีมากถึง 999 เล่ม แต่แล้ว Benkei ก็ต้องพ่ายแพ้แก่คู่ต่อสู้คนที่ 1,000 ที่เหนือชั้นกว่าด้วยความรวดเร็วและความเก่งกาจ ผู้นั้นคือ มินาโมโตะ โยชิซึเนะนั่นเอง Benkei ยอมรับในความพ่ายแพ้และรู้สึกศรัทธาในความตั้งใจจริงของโยชิซึเนะผู้ที่สามารถเอาชนะตนได้ แถมยังมีอายุน้อยกว่าอีกด้วย จึงปฏิญาณตัวขอเป็นข้ารับใช้ต่อโยชิสึเนะตั้งแต่บัดนั้นตราบจนสิ้นลมหายใจเลยครับ

สิ่งที่น่าชื่นชมอีกอย่างของ Benkei ก็คือเขาเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ต่อโยะชิสึเนะมาโดยตลอด ทั้งคู่เป็นทั้งสหายที่ร่วมรบในศึกสงครามและเป็นบ่าวที่คอยปกป้องเจ้านายแบบถวายหัว แม้ว่าบั้นปลายชีวิตของทั้งคู่จะจบลงแบบน่าเศร้าก็ตาม ..Benkei เฝ้าปกป้องดูแลเจ้านายจนจบชีวิตด้วยน้ำมือทหารของโยริโตโมะที่บุกเข้ามา และถูกธนูระดมยิงจนร่างพรุน แต่กระนั้น Benkei ก็ไม่ยอมล้มลงแต่ยืนตายอย่างทะนง ซึ่งการยืนตายของ Benkei นั้นถูกกล่าวขานถึงเป็นอย่างมาก ถูกเรียกว่า "Benkei no tachi oujou " (弁慶の立往生) แปลว่า การยืนตายแบบ Benkei ซึ่งคำนี้ถูกใช้จนถึงปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวกับธุรกิจการงาน ด้วยความหมายที่แสดงความรู้สึกผิดคาด เมื่อโปรเจ็คหรืองานที่คาดหวังไม่เป็นไปตามคาด งานที่คิดว่าจะไปได้สวยกลับสะดุดหรือชะงัก เป็นต้น หรืออาจจะใช้ในความหมายที่ว่า「ยืนตัวแข็งจนทำอะไรไม่ถูก」ก็ได้ และมีคำศัพท์อื่นๆ อีกมากมายที่มีพื้นฐานมาจากเรื่องของ Benkei เช่น
♢「内弁慶 Uchibenkei คือคนที่มักจะทำตัวกร่าง นักเลง แสดงตนว่ามีพาวเวอร์มากแต่ก็เฉพาะเมื่ออยู่ในบ้านตัวเองหรือสถานที่ที่ตัวเองข่มคนอื่นได้ แต่ถ้าอยู่ที่อื่นๆ กลับทำตัวหงิมหงอย สงบเสงี่ยบเจียมตัว 」
♢「ネット弁慶 Net-Benkei นักเลงคีย์บอร์ด ตัวอย่างเช่นด้านบนครับคือเก่งกร่างเฉพาะในกระทู้หรือในโลกออนไลน์ แต่ชีวิตจริงคือแมวเหมียวที่ไม่กล้าหรือบ้าบิ่นอะไรเหมือนกับที่แสดงออกทางอินเตอร์เน็ต 」
♢「弁慶の泣きどころ Benkei no nakidokoro แม้จะมีความเข้มแข็งที่สุด ย่อมมีจุดใดจุดหนึ่งที่เป็นจุดอ่อน หรือจุดอ่อนที่กระทบเพียงเล็กน้อยก็เจ็บปวด ตัวอย่างเช่นแม้จะเป็นคนที่เก่งกาจแข็งแกร่งอย่าง Benkei เองแต่ถ้าโดนฟาดแรงๆ ที่หน้าแข็งก็เจ็บถึงร้องไห้ได้เลยทีเดียว」

พูดถึงฉากที่ละครคาบุกินำเสนอนั้นผมติดใจตรงที่บอกว่า Benkei ชกหน้าโยชิสึเนะ เพื่อแสร้งให้คนที่เฝ้าประตูเข้าใจผิดนั้น สมัยเป็นเด็กผมพยายามคิดว่าเขาทำแบบนั้นกับเจ้านายที่รักยิ่งทำไมกัน นึกดูนะครับว่าสถานการณ์เช่นนั้นเพื่อนๆ กล้าชกหน้าหัวหน้าตัวเองหรือเปล่าเอ่ย ด้วยเหตุผลใดกัน หรือเพราะว่า「Benkei แอบแค้นโยะชิสึเนะเล็กๆ ที่ใช้งานตัวเองอย่างกับทาสหรือเปล่า !! ( ˘•ω•˘ ) 」หรือฉลาดล้ำไม่มีทางไหนแล้วนอกจากชกและแสดงเช่นนี้ อะไรก็ว่าไป แต่ก็ทำให้ทั้งคู่หนีการจับกุมผ่านด่านชายแดนตรงนั้นได้

ที่เล่าเรื่อง Benkei ผู้เป็นลูกน้องไปข้างต้น จะเห็นว่าขนาดลูกน้องยังเก่งกล้าและมีไหวพริบมากขนาดนี้แล้วตัว โยะชิสึเนะละจะเก่งและได้รับความนิยมมากแค่ไหน โยะชิสึเนะเป็นผู้พันของกลุ่มนักรบมินะโมะโตะในช่วงระหว่างปลายยุคเฮอังถึงต้นยุคคะมะกุระ ถือว่าเขาเป็นหนึ่งในตำนานของผู้กล้าของญี่ปุ่น อย่างที่เล่าไปว่ามักจะมีการกล่าวถึงในทางวรรณกรรม ละครโบราณ หรือแม้แต่ละครทีวี

源義経 Minanoto no Yoshitsune โยะชิสึเนะ เกิดเมื่อค.ศ. 1159 เป็นบุตรชายคนที่เก้าของ 源義朝 Minanoto no Yoshitomo เมื่อเกิดกบฏเฮจิขึ้นระหว่างตระกูลมินะโมะโตะกับตระกูลเฮชิ ที่นำโดย Taira no Kiyomori ผลปรากฏว่าตระกูลมิโนะโมะโตะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จึงถูกกวาดล้างและประหารชีวิตไปจนเกือบหมดสิ้น เหลือเพียง 源頼朝 Minamoto no Yoritomo พี่ชายต่างมารดา ซึ่งถูกเนรเทศไปยังแคว้นอิซุทางตะวันออก และโยะชิสึเนะกับพี่ชายมารดาเดียวกันที่ขณะนั้นอายุยังไม่กี่ขวบ เมื่อเติบโตถึงเวลาบวชได้จึงถูกส่งตัวไปอยู่ที่วัดเพื่อเตรียมตัวบวชตามสัญญาที่ไทระไว้ชีวิตตั้งแต่ตอนมินะโมโตะแพ้สงคราม แต่โยะชิสึเนะหลบหนีไปพร้อมกับบอดี้การ์ดประจำตัวนั่นคือ Benkei และได้รับการอุปถัมภ์โดย Fujiwara no Hidehira เจ้าเมืองฮิระอิซุมิ (平泉) ในภูมิภาคโทโฮะกุทางเหนือ หรือจังหวัดอิวะเตะในปัจจุบันครับ

โยะชิสึเนะอาศัยอยู่ที่เมืองฮิระอิซุมิจนกระทั่งในค.ศ. 1180 ได้ทราบข่าวว่าพี่ชายต่างมารดาของตนคือ Minamoto no Yoritomo ยังมีชีวิตอยู่และกำลังทำการต่อต้านการปกครองของตระกูลไทระโดยมีฐานที่มั่นอยู่ที่เมือง Kamakura จังหวัดคะนะงะวะในปัจจุบัน โยะชิซึเนะจึงเดินทางจากเมืองฮิระอิซุมิพร้อมกับ Benkei มาพบกับพี่ชายของตน และร่วมทำงานเป็นหนึ่งในขุนพลตระกูลมินะโมะโตะในการทำสงครามกับตระกูลไทระต่อไป

เนื่องจากโยะชิสึเนะมีความสามารถมากและเก่งกาจเชี่ยวชาญเรื่องการรบ ทำศึกหลายครั้งก็ได้รับชัยชนะมาตลอดทำให้ความสำเร็จอันโดดเด่นและรวดเร็วของโยะชิสึเนะเป็นที่อิจฉาของขุนพลคนอื่นๆ โดยเฉพาะ Kajiwara Kagetoki (梶原景時) เขาได้ยุยงให้ Yoritomo เชื่อว่าโยะชิสึเนะไม่เชื่อฟังและต้องการที่จะสร้างชื่อเสียงให้แก่ตนเองเพียงอย่างเดียว

แถมในค.ศ. 1185 อดีตจักรพรรดิโกะ-ชิระกะวะยังทรงแต่งตั้งให้โยะชิสึเนะเป็นองครักษ์ จึงสร้างความไม่พอใจแก่ Yoritomo เป็นอย่างมากและประกาศว่าหากขุนพลคนใดรับตำแหน่งในราชสำนักจะถือว่าทรยศ นี่เองคือที่มาของการตามล่าและหลบหนีการไล่ล่าจากพี่ชายตัวเองครับ

สำหรับตัวอย่างความเก่งกาจที่เขียนบันทึกไว้ เช่น ครั้งที่โยะชิสึเนะใช้กลยุทธ์สู้ศึกกับศัตรูคู่อริ โดยที่ตอนนั้นฝ่ายของโยะชิสึเนะมีกำลังพลน้อยกว่าเป็นสิบเท่า ศัตรูฝ่ายตรงข้ามปิดทางล้อมไว้ที่เชิงหน้าผาสูง ฉากนี้มีชื่อเสียงมาก เรียกว่าฉาก「鵯越」Hiyodorigoe ( หมายความว่า หน้าผาสูงชัน ถ้าไม่ใช่นกระจอกก็ไม่มีอะไรบินลงไปได้ ) แต่โยะชิสึเนะขี่ม้าศึกดิ่งลงจากหน้าผานั้น ทหารกล้าคนอื่นๆ ก็ทำเช่นเดียวกัน พอข้าศึกเห็นความกล้าบ้าบิ่นเช่นนั้นก็ถอยทัพหนี เพราะไม่รู้ว่ามาไม้ไหน นับว่าไม่บ้าไม่กล้า ทำแบบนี้ไม่ได้นะครับ

อีกครั้งหนึ่งเคยนำทัพที่มีกำลังทหารเพียง 50 คน ต่อสู้กับศัตรูที่มีอยู่มากกว่าหนึ่งพันคน ทำการต่อสู้กันหลายวันโดยไม่หลับไม่นอน จนสามารถยึดปราสาทของศัตรูได้ 「屋島 Yashima の戦い การต่อสู้ที่ Yashima」ด้วยกำลังคนที่น้อยกว่ามากบางคนคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ การที่ชนะศัตรูนั้นอาจจะพูดได้ว่าชนะสงครามได้ด้วยความสามารถแบบยอดมนุษย์ของโยะชิสึเนะหรือป่าวนะ

แต่ใช่ว่าคนเก่งและเด่นมากอย่างเช่นโยะชิสึเนะจะไม่มีศัตรูเลย มีศัตรูเยอะและก็ยังมีการกระทำหลายๆ อย่างที่ไม่ค่อยเหมาะสมกับการเป็นผู้นำที่ดีนัก เช่น ความถือตนเป็นหลัก เช่นเรื่องการตามเก็บลูกธนูที่ทำตกน้ำทะเล ถ้าเป็นหัวหน้าทั่วไปแค่ต่อสู้กับคู่อริแล้วเกิดทำกล่องใส่ลูกธนู หรือแม้กระทั่งลูกธนูตัวเองหล่นลอยไปตามน้ำ ในทะเลกระแสน้ำเชี่ยว การตามไปเก็บอาจจะทำให้ถูกศัตรูจับตัวได้ ถ้าผู้นำถูกจับนั่นหมายถึงการพ่ายแพ้ แม้จะมีคนห้ามว่าไม่ควรลงไปตามเก็บลูกธนูเพียงลำพัง แต่เหตุเขาทำลงไปนั้น ช่างเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นเหตุผลของคนระดับนี้ได้เลย เขาบอกว่า อาย「เพราะลูกธนูที่ตัวเองใช้นั้นคนละระดับกับทาเมะโตะโมะ ผู้เป็นน้าของตัวเองอย่างมาก โยะชิสึเนะจะใช้ธนูที่อ่อน เพราะเขาตัวเล็กพละกำลังอาจไม่มากนัก ดังนั้นถ้าศัตรูเก็บได้จะรู้ทันทีว่าเขาใช้ธนูอ่อน จะกลายเป็นเรื่องที่น่าอายมาก」

และในกองทัพเดียวกันนั้นมีซามูไรที่ชื่อว่า คะจิวะระ คาเงะโทะกิ ที่มักจะเป็นคู่แข่งกับโยะชิสึเนะอยู่เสมอ คะจิวะระเป็นเสมือน Audit หรือผู้ตรวจสอบกองทัพ คะจิวะระ คาเงะโทะกิกับโยะชิสึเนะนั้นมีเรื่องให้ต้องทะเลาะกัน ไม่ลงรอยกันอยู่ร่ำไป ความเห็นก็มักจะตรงกันข้ามเสมอ เช่นครั้งหนึ่งเคยเถียงกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องนัก แค่ว่า ควรจะติดอุปกรณ์ควบคุมทิศทางเรือหรือไม่ คือสมัยก่อนต้องใช้เรือเพื่อนำทัพเดินทางข้ามทะเลไปเกาะต่างๆ การนำเรือข้ามจากเกียวโตไปเกาะชิโกกุ ควรติดอุปกรณ์ควบคุมทิศทางไหม คะจิวะระ คาเงะโทะกิ เสนอให้เรือของกองทัพติดเครื่องช่วยควบคุมทิศทางเพราะจะได้ควบคุมทิศทางได้ตรงเป้าหมาย อย่างดี ส่วนโยะชิสึเนะเห็นต่าง เขาให้เหตุผลว่า「ถ้าเป็นอย่างนั้นจะทำให้เหล่าทหารบางคนคุมเรือหนีกองทัพได้อย่างง่าย เพื่อป้องกันไม่ให้หลบหนีไปเกาะอื่น หรือทิศทางอื่นห้ามติดเครื่องควบคุมเรือนะ !」

เถียงกันไปเถียงกันมา ไม่จบ ..ถ้าเอาความแตกต่างของสองคนนี้มาคิดในในมุมมองบริษัทญี่ปุ่นปัจจุบัน ก็จะตีกันตลอด จากการเถียงเรื่องอุปกรณ์ควบคุมทิศทางเรือ ถ้าเทียบกับการถกเถียงในเวทีของการทำงานในบริษัทยุคปัจจุบันคงเปรียบไปแล้วคงจะกำลังเถียงกันว่าจะเปลี่ยนรูปแบบกระดาษจาก A4 เป็น A5 ดีไหม ในเวทีการประชุมกลยุทธ์สำคัญของบริษัท มีเรื่องหลักๆ ที่ต้องหารือมากมาย แต่หัวหน้าฝ่ายขาย (มีฐานะเป็นพี่น้องของประธานบริษัท คือโยะชิสึเนะ ) กับหัวหน้าฝ่ายบัญชี (คะจิวะระ คาเงะโทะกิ ) มักจะหาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มาถกเถียงและจะไม่ลงรอยกันตลอด อย่างที่บอกไปข้องต้นว่าเถียงกันว่าถ้าจะเปลี่ยนรูปแบบกระดาษที่ใช้ในบริษัทจาก A4 ไปเป็น A5 ลูกน้องคงจะคัดค้านใช่ไหม เห็นต่างกันจนวนไปวนมา สุดท้ายคำตอบของคะจิวะระ คาเงะโทะกิจะตอบว่า 「หัวหน้าของผม คือ ท่านโชกุนโยะริโตะโมะ ไม่ใช่ท่านนะโยะชิสึเนะ!」เหมือนกับเรื่องประเด็นอุปกรณ์ควบคุมทิศทางเรือ คาเงะโทะกิตอบว่า 「หัวหน้าของผม คือ ท่านโชกุนโยะริโตะโมะ ไม่ใช่ท่านนะโยะชิสึเนะ!」 และเถียงกันอีกกลายๆ ครั้ง ส่วนใหญ่ผลสรุปคือ โยะชิสึเนะ ชนะ เลยทำให้คาเงะโทะกิถูกมองเป็นตัวร้ายตลอดๆ ก็ยิ่งไม่ถูกกันเพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ

จากตัวอย่างที่เล่าไปวันนี้สองคนคือ Minanoto no Yoshitsune และ Musashibō Benkei ไว้โอกาสหน้าจะเล่าถึงคนอื่นๆ ให้ฟังอีกนะครับ วันนี้สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น