xs
xsm
sm
md
lg

ใครคือฮีโร่-ใครคือผู้ร้ายตัวจริงกันแน่ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้วครับ สมัยเป็นนักเรียนเพื่อนๆ ชอบเรียนวิชาอะไรกันบ้างครับ สำหรับผมวิชาหนึ่งที่ผมชอบคือ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เพราะผมชอบเล่นเกมส์ที่จะมีนักรบ ไปทำสงครามกับเมืองต่างๆ เลยทำให้ผมชอบหาประวัตินักรบยุคก่อนมาอ่าน ไม่เพียงแค่ที่ญี่ปุ่นเท่านั้น นิยายอิงประวัติศาสตร์ของประเทศอื่นๆ ผมก็ชอบอ่าน เช่นตำราพิชัยสงครามสามก๊ก เป็นต้น ที่ญี่ปุ่นเองสามก๊กนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีการนำมาดัดแปลงสร้างสรรค์ในรูปแบบการ์ตูนอนิเมชั่น หรือแม้แต่เกมส์คอมพิวเตอร์ ผมคิดว่าจะเล่าเรื่องนี้กับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นครับ

ถ้าพูดถึงฮีโร่ (Hero) แท้ที่จริงแล้วเขาคือฮีโร่จริงๆ หรือไม่ แล้วผู้ร้ายล่ะที่จริงคือผู้ร้ายอย่างที่เขียนไหม อยากให้เพื่อนลองคิดมุมนี้อีกประเด็นครับ ..

อิทธิพลจากเกมส์คอมพิวเตอร์เอย การ์ตูนอนิเมชั่นต่างๆ ที่ญี่ปุ่นทำออกมาส่งขายประเทศต่างๆ แม้กระทั่งส่งขายในเมืองจีน ทำให้เด็กรุ่นใหม่หลายๆ คนแทบจะมองไปแล้วล่ะว่าสามก๊กฉบับอนิเมชั่นต่างๆ นี่เป็น Fiction ญี่ปุ่นใช่ไหม ?! แน่นอนคำตอบคือไม่ใช่ครับ ไม่ว่าจะอนิเมชั่นเอย หรือนิยายฉบับสามก๊ก ล้วนเป็นงานเขียนที่อ้างอิงมาจากประวัติศาสตร์ 「三国志正史」ดังนั้นเมื่อเป็นงานเขียนในรูปแบบนวนิยาย ย่อมต้องมีการใส่ไอเดีย ความคิดที่สร้างสรรค์ออกมา หรือเรียกว่า เรื่องที่ไม่ใช่ความจริงอยู่เยอะ แม้จะเป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์จริง แต่ถ้าพูดถึงสามก๊กก็จะนึกถึงสามก๊กภาคนวนิยายเสียมากกว่า

นอกจากนี้ผู้แต่งสามก๊กคือคนของอาณาจักรจ๊กก๊ก หรือ สู่ฮั่น (Shǔ Hàn) เพราะฉะนั้นอาณาจักรจ๊กก๊กจึงเป็นตัวเอกโดยมีเล่าปี่และขงเบ้งเป็นตัวหลักในการดำเนินเรื่อง ด้วยเหตุนี้เนื้อเรื่องจึงมีเนื้อหาที่แสดงความเห็นอกเห็นใจอาณาจักรจ๊กก๊กอยู่มาก ที่ประเทศญี่ปุ่นเองก็รู้จักอาณาจักรจ๊กก๊กกันอย่างแพร่หลายและได้รับความนิยมมาก

ตอนที่ผมอยู่ชั้น ป. 6 เคยอ่านนิตยสารที่คุณพ่อซื้อมา ในคอลัมน์ประวัติศาสตร์พูดถึงประเด็นที่ชวนให้คิดว่า 「ใครเป็นคนโค้นล้มอาณาจักรจ๊กก๊ก ผู้ร้ายคือใคร?」 ความประทับใจสมัยเด็ก อย่างเช่นการได้อ่านหนังสือที่ชวนคิดเช่นนี้มันเป็นอะไรที่พิเศษฝังใจมากครับ แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านล่วงเลยไปแล้วกว่า 20 ปี ผมก็ยังจดจำเรื่องราวได้ดี

เรื่องราวที่ว่านั้นคือ เปิดเรื่องขึ้นมาจากการเล่าเชิงคำถามว่า มีร้านขายไม้กวาดเล็กๆ แถวบ้านของผู้เขียนได้ปิดตัวลงซะแล้ว ผู้เขียนมีคำถามว่า สาเหตุเกิดจากอะไรกันแน่ ผู้ร้ายคือใคร? ถ้าจะบอกว่าเป็นเพราะเจ้าของร้านขายไม้กวาดไร้ความสามารถ ? ก็ไม่น่าใช่ !! เพราะเป็นร้านที่สืบทอดกิจการแบบรุ่นสู่รุ่น เจ้าของย่อมต้องขยันขันแข็งและมีใจรักในร้านค้าของตนสูง แถมเจ้าของร้านเองก็มีความซื่อสัตย์มาก .. หรือถ้าจะบอกว่าผู้ร้ายคือ ผู้ผลิตเครื่องดูดฝุ่น made in japan ? .. หรือเพราะว่าเกิดจากการที่รัฐพยายามจะส่งเสริมให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสมบูรณ์ มีผลทำให้ไม้กวาดกลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น รัฐบาลผิดใช่มั้ย ?? ต่างๆ นานา แค่การคิดหาเหตุผลว่าทำไมร้านขายไม้กวาดเล็กๆ จึงต้องปิดตัวลง ยังเป็นเรื่องที่ยาก เพราะมากไปด้วยเหตุผลที่ยากจะคาดเดาร้อยแปดพันเก้า แล้วเรื่องใหญ่ๆ ที่จะถามหาสาเหตุว่าทำไมอาณาจักรจ๊กก๊กจึงล่มสลาย ใครคือคนร้าย?? จึงเป็นเรื่องที่ยากมากๆ กว่านี้หลายเท่าใช่ไหม

นิตยสารเขียนต่อว่า มีการเอ่ยชื่อตัวละครขึ้นมาหลายตัว ที่คล้ายจะเป็นกุญแจที่จะใช้ในการค้นหาสาเหตุการล่มสลายของอาณาจักรจ๊กก๊ก เช่น เป็นเพราะจักรพรรดิเล่าเสี้ยนไม่มีความสามารถหรือไม่ ? หรือเพราะว่าคนสนิทเป็นคนไม่ดีเป็นเหตุให้จักรพรรดิเล่าเสี้ยนตกต่ำด้วยอบายมุข? หรือเป็นเพราะโชคชะตา? มีหลากหลายเหตุผลที่หยิบยกขึ้นมา และหนึ่งในนั้นมีชื่อของเกียงอุยด้วยครับ ที่ถูกพาดพิงถึงในฐานะคนร้าย ตอนที่อ่านเมื่อสมัยเป็นเด็กนี่แหละที่ทำให้ผมสงสัยว่า เกียงอุยที่ทุ่มเททำงานด้วยกำลังแรงกายแรงใจทั้งหมดเพื่ออาณาจักรจ๊กก๊กจนวาระสุดท้ายที่ต้องตายอย่าน่าเศร้านี่อ่ะนะจะเป็นสาเหตุของการล่มสลาย เอ๊ะ มันใช่เหรอ?

เกียงอุยเป็นตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องสามก๊กที่ได้รับความนิยมอย่างมากที่ญี่ปุ่น ผลสำรวจความนิยมจากอินเตอร์เน็ต เรื่องนายพลทหารที่ถูกชื่นชอบคือใคร ? พบว่าเขาถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 2 ซึ่งในสามก๊กมีตัวละครมากกว่าสามพันตัว การที่ได้อยู่ในอันดับที่ 2 นั้นถือว่าสุดยอดมากใช่ไหมครับ

เหตุผลหนึ่งที่เขาได้รับความนิยมนั้น มาจากมุมมองที่ว่าคนญี่ปุ่นนั้นมักจะมีพฤติกรรมที่เห็นใจคนที่อ่อนแอกว่าคู่ต่อสู้ 判官贔屓(Hougan biiki) (ความเห็นอกเห็นใจสำหรับคนตกอับ หรือคนที่เป็นมวยรอง หรือผู้ที่เป็นเบี้ยล่าง เป็นต้น)
ดังนั้นคนญี่ปุ่นจึงชอบเกียงอุยครับ ที่มาของคำว่า 判官(Hougan) นั้นสมัยก่อนคือสารวัตรใหญ่ของเกียวโต แต่ที่จริงเมื่อประมาณหนึ่งพันปีก่อนนี้ มาจากเรื่องของ Minamoto no Yoshitsune (源 義経 ) มินะโมะโตะ โยะชิสึเนะ เขาเป็นผู้พันในยุคคะมะกุระของประเทศญี่ปุ่น มีชื่อเล่นว่า 九郎判官義経 Kurou Hougan Yoshitsune (九郎Kurou แปลว่าบุตรชายคนที่เก้า ) โยะชิสึเนะนั้นเป็นคนที่มีความตั้งใจทำงานอย่างมาก ทำงานเพื่อพี่ชายของตัวเอง แต่ช่วงสุดท้ายของชีวิตกลับต้องเผชิญหน้ากับความตายอย่างโศกเศร้าและน่าเวทนา เพราะว่าเขาถูกพี่ชายตัวเองฆ่าตาย คำว่า 判官贔屓(Hougan biiki) จึงมีความหมายว่า การช่วยเหลือและเห็นใจคนที่เป็นมวยรอง หรืออ่อนแอกว่าคู่แข่ง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น Hero ที่ขมขื่น หรือคนที่ไม่มีโชค ทั้งโยะชิสึเนะและเกียงอุยจึงมีชะตาชีวิตที่คล้ายคลึงกัน เหตุนี้เองที่ทำคนญี่ปุ่นจึงรู้สึกสนับสนุนและชื่นชอบทั้งคู่

ตั้งแต่ยุคสมัยก่อนเรื่อยมาถึงปัจจุบันนี้คนญี่ปุ่นก็ยังสนใจและมีความนิยมชมชอบโยะชิสึเนะมากๆ ตัวละครเอกในการละเล่นและแสดงต่างๆ ทั้งการแสดงละครโบราณ เช่น ละครคาบุกิ 歌舞伎 Kabuki , ละครโน 能 Noh ก็เป็นโยะชิสึเนะนอกจากนั้นละครโทรทัศน์จากสถานีโทรทัศน์ NHK เมื่อสัก 10 ปีแล้ว มีการสร้างละครอิงประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นออกอากาศทุกอาทิตย์ เป็นละครที่ใช้คาแรคเตอร์ของโยะชิสึเนะเป็นตัวเอกอีกด้วย ละครเรื่องนี่ได้รับความนิยมอย่างมาก จนได้รับการกล่าวว่า 義経ブーム(Yoshitsune Boom) เลยล่ะครับ

เล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับชีวประวัติของ โยะชิสึเนะ ครับ พี่ชายของโยะชิสึเนะชื่อ Minamoto no Yoritomo (源 頼朝 ) มินะโมะโตะ โนะ โยะริโตะโมะเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นโชกุนตำแหน่ง Sei-i Taishōgun ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งรัฐบาลโชกุนของยุคซามูไรระยะแรกของประเทศญี่ปุ่นครับ แม้ว่าชื่อและชีวประวัติของผู้เป็นพี่ชายคือ มินะโมะโตะ โนะ โยะริโตะโมะจะมีสอนในวิชาเรียนประวัติศาสตร์ของเด็กนักเรียนญี่ปุ่น แต่ถ้าถามว่ามีใครจดจำเขาได้บ้างคงต้องบอกว่าน้อยกว่า โยะชิสึเนะผู้เป็นน้องชายแน่ๆ แม้ว่าชีวประวัติของโยะชิสึเนะไม่มีสอนในวิชาประวัติศาตร์แต่นักเรียนญี่ปุ่นจะได้เรียนเรื่องราวเกี่ยวกับโยะชิสึเนะในคาบชั้นเรียนดนตรี และเขาได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักจากพวกละครคาบุกิจะเพราะมีการนำเรื่องราวของโยะชิสึเนะมาใช้ในการแสดงเยอะมากครับ ละครคาบุกิ「勧進帳」Kanjinchou ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากในบรรดาละครคาบุกิทั้งหมดโดยมีคาแรคเตอร์ของโยะชิสึเนะเป็นตัวละครหลักครับ เนื้อเรื่องกินใจ เล่าเรื่องย่อนิดหน่อยดังนี้ครับ

โครงเรื่อง → "โยะชิสึเนะพยายามจะหลบหนีโยะริโตะโมะผู้ซึ่งเป็นพี่ชาย เพราะว่าพี่ชายจะฆ่าเขา เขาจึงหนีไปกับเบงเกงผู้ซึ่งเป็นบอดี้การ์ด ตอนที่มาถึงด่านพรหมแดนจังหวัดจึงปลอมตัวเป็นพระ เพื่อจะได้ผ่านด่านไปให้ได้.. เหตุการณ์ของคาบุกิ ต่อจากนี้เป็นที่ประทับใจคนดูครับ

ที่ด่านพรหมแดนมีโทะงะชิ เป็นผู้ที่เฝ้าด่านตอนนั้น เขาเกิดความสงสัยทั้งคู่เลยถามว่า 「พวกนาย คือ โยะชิสึเนะหรือเปล่า?」เบงเกงผู้ซึ่งเป็นบอดี้การ์ดตอบว่า พวกเราคือพระที่กำลังเรี่ยไรเงินบริจาคเพื่อทำการสร้างวัด โทะงะชิจึงบอกว่า งั้นลองอ่านหนังสือรับบริจาคเงินให้ฟังหน่อยสิ เบงเกงจึงแกล้งทำเป็นอ่านหนังสือข้อความขอบริจาคที่ฟังแล้วไพเราะจับใจมาก (แต่ความจริงแล้วไม่มีข้อความอะไรเขียนในหนังสือนั้นทั้งสิ้น )โทะงะชิรู้สึกชื่นชมและจับใจในบทกวีที่เบงเกงร่ายให้ฟังมาก จึงพูดอนุญาตว่า 「ผ่านไปได้เลย」แต่คนเฝ้าประตูอีกคนหนึ่งเห็นว่าพระอีกคนคล้ายกับโยะชิสึเนะ และกำลังสงสัยจะขอตรวจ ในตอนนั้นเองเบงเกงจึงชกโยะชิสึเนะ( ที่อยู่ในชุดปลอมเป็นพระ ) ไปอย่างแรง และแสร้งโกรธขึงขังว่า 「นายดูคล้ายกับโยะชิสึเนะ!」คือแกล้งทำให้คนอื่นมองว่าเพื่อนที่ถูกชกจะนำปัญหามาให้ล่ะ แกจะทำข้าเดือดร้อนไปด้วยประมาณนั้น พอเห็นดังนั้นผู้เฝ้าประตูอีกคนจึงตายใจคิดว่าพระจริงไม่ใช่โยะชิสึเนะ แน่ๆ จึงปล่อยให้ผ่านด่านไปได้ เมื่อพระทั้งคู่เดินผ่านด่านไปแล้ว ฉากจบเรื่องฉายมาที่โทะงะชิยืนมองตามทั้งสองคนจนลับตาและโบกมือบ๊ายบาย " .. คาบุกิชอบจบแบบทิ้งประเด็นให้กินใจเช่นนี้เอง หมายความว่าโทะงะชิรู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าพระทั้งสองคือโยะชิสึเนะและเบงเกและรู้อีกด้วยว่ากวีที่เบงเกงร่ายให้ฟังไม่ได้มีเขียนไว้ในหนังสือที่ทำเป็นยกขึ้นมาอ่านเลย

ละครคาบุกิก็สนุกดีนะครับ นำประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาถ่ายทอด คนที่ดูก็สนุกและได้ความรู้ไปด้วย ใครสนใจก็อยากจะไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ที่จริงยังมีเรื่องเล่าต่อนะครับ แต่ไม่รู้ว่ายังสนใจเรื่องประมาณนี้หรือไม่ วันนี้สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น