xs
xsm
sm
md
lg

สะดุดคำ : ภัยพิบัติ-ฝนตกหนัก-เมฆระเบิด

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

แฟ้มภาพ
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสภาเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น

ด้วยลักษณะภูมิประเทศ ญี่ปุ่นเป็นพื้นที่ที่เผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อย เป็นแบบนี้มาเนิ่นนาน แต่ก็เพราะความบ่อยนี่เอง คนญี่ปุ่นถึงได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันโดยลดความความสูญเสียให้มากที่สุด และเท่าที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ดังนั้น หากไม่เกิดความเสียหายหนักๆ คนภายนอกจะไม่ค่อยทราบข่าวว่าคนญี่ปุ่นเผชิญภัยธรรมชาติถี่มากในแต่ละปี เพราะทุกทีก็มักจะผ่านพ้นไปได้โดยไม่ลำบากนัก แต่ปัจจุบันนี้ ภัยที่ไม่ใช่ขาประจำอย่างแผ่นดินไหว ชักจะร้ายกาจขึ้นจนคนญี่ปุ่นเริ่มเอาไม่อยู่ ดังที่ปรากฏซ้ำๆ ในช่วงนี้ ภัยที่ว่านั้นคือ “โกอุ”

“โกอุ” (豪雨;gōu) คือ ฝนตกหนัก ตัวอักษร 豪แปลว่า “รุนแรง” ส่วน 雨 ปกติอ่านว่า “อะเมะ” แปลว่า “ฝน” เมื่อก่อน คนญี่ปุ่นพูดถึงปรากฏการณ์ฝนตกหนักโดยมักใช้คำว่า “โอ-อะเมะ” (大雨; ō-ame) แต่ในระยะสี่ห้าปีมานี้ คำว่า “โกอุ” มาแรง สื่อมวลชนก็ใช้คำนี้บ่อย หากว่ากันตามความเข้าใจของคนทั่วไป สองคำนี้หมายถึงฝนตกหนักทั้งคู่ แต่ด้วยภัยจากฝนกับน้ำที่เกิดบ่อยกว่าเดิม รวมถึงเหตุการณ์ที่เกาะคิวชูช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2560 ตลอดจนความหมายทางเทคนิคของคำนี้ด้วย “โกอุ” จึงส่อนัยที่รุนแรงกว่า “โอ-อะเมะ” ซึ่งเป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นรู้จักมาแต่เดิม
การก่อตัวของเมฆก่อนเกิด “เมฆระเบิด” (ภาพจาก NASA)
ในทางอุตุนิยมวิทยา (ความหมายทางเทคนิคซึ่งไม่ใช่คำที่ประชาชนพูดเพื่อสื่อความเข้าใจกันอย่างกว้างๆ) สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นจะพยากรณ์อากาศโดยใช้คำว่า “โอ-อะเมะ” ซึ่งเจาะจงถึง “ฝนตกหนักในระดับที่น่าวิตกว่าจะนำมาซึ่งความเสียหาย” โดยจะไม่มีการใช้คำว่า “โกอุ” เดี่ยวๆ แต่จะใช้คำนี้เป็นชื่อเฉพาะเมื่อพูดถึงเหตุการณ์ในอดีต เช่น “โกอุทางเหนือของคิวชูเดือนกรกฎาคม 2560” หรือใช้เป็นศัพท์เทคนิคว่า “ชูชู-โกอุ” (集中豪雨;shūchū- gōu) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่คนไทยเริ่มรู้จักแล้วในชื่อ “เมฆระเบิด” โดยแปลมาจากภาษาอังกฤษ cloudburst ที่สื่อปรากฏการณ์ฝนเทลงมาหนักมากเหมือนฟ้ารั่ว กระหน่ำอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นช่วงสั้นๆ อันอาจทำให้เกิดโคลนถล่ม แม่น้ำล้น น้ำท่วม และเป็นสภาพอากาศที่คาดการณ์ได้ยาก

สำหรับการบ่งชี้ความแรง (ตามปริมาณ) ของน้ำฝนนั้น แต่ละประเทศอาจใช้คำที่แตกต่างกันออกไป ของญี่ปุ่นแบ่งไว้ค่อนข้างละเอียด และแน่นอนว่า “โกอุ” ไม่ใช่คำทางการที่ใช้เรียกความแรงของฝน แต่ใช้เรียกสถานการณ์ดังที่อธิบายไว้ข้างต้น ความแรงของฝนญี่ปุ่นตามที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาบัญญัติไว้มีดังนี้

หน้าฝนของญี่ปุ่นตรงกับเดือนมิถุนายน คาบเกี่ยวระหว่างฤดูใบไม้ผลิกับฤดูร้อน ตามความรู้สึกของคนญี่ปุ่น หน้าฝนไม่ได้เป็น 1 ใน 4 ฤดูกาลประจำปี (ใบไม้ผลิ ร้อน ใบไม้ร่วง หนาว) แต่ถือเป็นแค่ระยะเวลาสั้นๆ ราว 1 เดือนที่ฝนตกชุกกว่าปกติ และเป็นช่วงที่คำประกาศในรถไฟจะเพิ่มข้อความเข้าไปด้วยว่า “อย่าลืมร่มไว้บนรถไฟ” พอเข้าปลายหน้าฝน ประกาศแบบนั้นจะค่อยๆ หายไปพร้อมกับฝน แต่ช่วงทิ้งท้ายหน้าฝนเป็นระยะที่มีแนวโน้มว่าจะเกิด “ชูชู-โกอุ” หรือเมฆระเบิดได้ง่าย เพราะขณะที่ในอากาศมีละอองน้ำมาก อุณหภูมิก็สูงขึ้น เมฆก่อตัวต่อเนื่องได้ง่าย

ในช่วงที่ว่านี้เอง ด้วยความแปรปรวนของภูมิอากาศ ญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติซ้ำถึง 2 ครั้ง ครั้งที่เป็นข่าวใหญ่ติดต่อกันหลายวัน คือ ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม โดยเฉพาะในจังหวัดฟุกุโอะกะกับโออิตะ ทางการตั้งชื่อว่า “ฝนตกหนัก (โกอุ) ทางเหนือของคิวชูเดือนกรกฎาคม 2560” โดยมีฝนตกหนักครอบคลุมพื้นที่แถบตะวันตกของญี่ปุ่นไปถึงแถบตะวันออก เริ่มตกมาตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน และตกรุนแรงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันที่ 5-6 กรกฎาคมทางแถบตะวันตก ส่วนอีกครั้งคือ แถบจังหวัดอะกิตะทางตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 22 – 23 กรกฎาคม ซึ่งมีประชาชนได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน
ภาพแสดงปริมาณน้ำฝนแถบเกาะคิวชูวันที่ 4-5 กรกฎาคม 2560 (Japan Meteorological Agency)
ต่อไปก็มาถึงคำถามที่ว่า ทำไม “โกอุ” ถึงเกิดบ่อยขึ้น อันที่จริงรวมไปถึงพายุไต้ฝุ่นที่เกิดบ่อยขึ้นด้วย ทฤษฎีหนึ่งซึ่งเป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางคือ เป็นเพราะโลกร้อนขึ้น ซึ่งทำให้สภาพอากาศแปรปรวนชนิดที่พยากรณ์ได้ยาก ในญี่ปุ่นเอง หน้าร้อนก็ร้อนเกินความอดทนของคนญี่ปุ่นติดๆ กันมาหลายปี ในหน้าหนาว หิมะกรุงโตเกียวไม่ทับถมให้เด็กๆ ได้ออกไปปั้นอีกแล้ว คนญี่ปุ่นรุ่นพ่อรุ่นแม่พูดเหมือนกันว่าอากาศสมัยนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน พอถึงหน้าร้อน ค่าไฟก็แพงลิบเพราะค่าแอร์ ส่วนในหน้าหนาว ภาพหิมะสวยๆ ในโตเกียวก็ไม่มีให้เห็น

เมื่อว่ากันถึงโลกร้อน ความพยายามหนึ่งที่ญี่ปุ่นนำมาใช้เพื่อให้ความร่วมมือกับการลดปัญหานี้ คือ สร้างความตระหนักในหมู่ประชาชนด้วยการรณรงค์มาตั้งแต่ปี 2548 ให้ตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศที่ 28 องศาเซลเซียสเพื่อลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศ โดยเฉพาะในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมไม่ค่อยเห็นด้วย (ที่บ้านจึงตั้ง 26-27 องศา) เพราะหากไม่ได้นั่งเฉยๆ และต้องทำอะไรที่ขยับตัวไปด้วย อุณหภูมิ 28 องศายังถือว่าค่อนข้างร้อนน่าอึดอัด และถ้ามีคนอยู่ในห้อง 2-3 คนยิ่งไปกันใหญ่ จนระยะหลังๆ ก็เริ่มมีคนญี่ปุ่นบ่นกันมากขึ้นถึงขั้นอภิปรายผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ว่า มาตรฐาน 28 องศานี่คิดดีแล้วหรือ

อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยการรณรงค์แบบนี้ก็แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นพยายาม แต่การแก้ปัญหาโลกร้อนจะคืบหน้าไปได้แค่ไหนคงต้องดูกันต่อไป ที่แน่ๆ คือ อากาศที่แปรปรวนทั่วโลกกำลังส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดขึ้นทุกวันดังที่ภาคอีสานของไทยก็กำลังประสบอยู่ หากดูจากตัวอย่างของญี่ปุ่นจะเห็นได้ว่า แม้ขอบข่ายและความถี่ของภัยธรรมชาติเริ่มส่อเค้าว่าอาจเกินพิกัดการเตรียมตัวของคนญี่ปุ่น แต่ด้วยระบบการเฝ้าระวังและการกำหนดสถานที่ปลอดภัยเพื่อรองรับการอพยพไว้เสมอ ประกอบกับการฝึกซ้อมรับมือภัยพิบัติอยู่ตลอด ก็ถือได้ว่าคนญี่ปุ่นพร้อมกว่าคนไทย
ภาพความเสียหายที่คิวชู (Geospatial Information Authority of Japan)
หากเรารู้แล้วว่า จากนี้ต่อไป สภาพอากาศจะแปรปรวนวิปริตชนิดที่คาดเดาได้ยาก ไทยก็ควรจะเพิ่มความตระหนักในการรับมือให้มากขึ้น อย่างน้อยหากมีการจัดสถานที่ปลอดภัยเพื่อรองรับประชาชนในยามฉุกเฉินได้พอเพียงในทุกชุมชน ตลอดจนปลูกฝังการเตรียมถุงยังชีพไว้เพื่อให้อยู่ได้ในยามคับขันอย่างน้อย 3 วันดังที่คนญี่ปุ่นสอนกันในโรงเรียนและครอบครัว ความสูญเสียก็น่าจะบรรเทาลงได้บ้าง

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น