ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
รู้จักชื่อมานาน รู้จักอาการผ่านตัวอักษรมาก่อน ทั้งยังได้ยินคนญี่ปุ่นเอ่ยอยู่บ่อยๆ แล้วก็มีหลายครั้งที่ตัวเองเอาเกณฑ์อาการเหล่านั้นมาวัดสภาพของตัวเอง เอ...วันนี้เราไม่อยากตื่น ง่วงทั้งๆ ที่นอนพอ ไม่อยากลุกจากที่นอน แต่ก็ไม่อยากนอน เพลียทั้งๆ ที่นอนเฉยๆ ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากกิน ไม่อยากเจอคน
เมื่อสังเกตดูก็พบว่าอาการแบบนี้เกิดบ่อยช่วงหน้าฝนโดยเฉพาะในวันที่อากาศขมุกขมัว แล้วตัวเองก็สรุปว่า อ้อ...วันนี้เราคงถูกความเกียจคร้านเข้ายึดร่างกาย โรคซึมเศร้ารึ? อาการคล้ายกัน แต่ไม่น่าจะใช่ เพราะพอฝืนใจลุกขึ้นมาอาบน้ำเสร็จ ก็ผ่านพ้นสภาพนั้นไปได้ และก็เป็นๆ หายๆ เท่านั้น แต่สำหรับคนที่เป็นจริงๆ นี่สิ น่าเห็นใจและต้องการความเข้าใจจากคนรอบข้างอย่างยิ่ง
ตั้งแต่มาญี่ปุ่นใหม่ๆ ผมก็รู้จักคำว่า “โรคซึมเศร้า” แล้วเพราะได้ยินบ่อย ภาษาญี่ปุ่นพูดว่า “อุสึ-เบียว” (うつ病;utsu-byō) ภาษาอังกฤษทางการแพทย์เรียกว่า major depressive disorder หรือ clinical depression เรียกง่ายๆ ตามความเข้าใจของคนทั่วไปว่า depression คำว่า “อุสึ-เบียว” ดูเหมือนเป็นคำธรรมดาที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคย คงเป็นเพราะเกิดกรณีฆ่าตัวตายที่สืบเนื่องมาจากโรคนี้อยู่บ่อยๆ
ในญี่ปุ่น กระทรวงสาธารณสุขสำรวจทุก 3 ปี และพบว่าจำนวนผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ (รวมถึงโรคซึมเศร้า) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปี 2011 มีประมาณ 9 แสน 6 หมื่นคน มาถึงปี 2014 เพิ่มเป็น 1 ล้าน 1 แสนคนเศษ ในจำนวนนี้ อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีประมาณ 3 แสน 4 หมื่นคน และอายุ 35-54 ปีซึ่งเป็นวัยกลางคนช่วงทำงาน มีประมาณ 4 แสน 3 หมื่นคน และโรคซึมเศร้าคือสาเหตุใหญ่ของการฆ่าตัวตาย แต่ในขณะที่หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย ผมเองก็เคยคิดแบบนั้น แต่ตอนหลังต้องเปลี่ยนความคิดเพราะเกิดเหตุขึ้นกับคนใกล้ตัวนี่เอง จึงตระหนักด้วยว่า เมื่อมองจากภายนอก แทบจะดูไม่ออกเลยว่าคนผู้นั้นเป็นโรคนี้อยู่
เพื่อนญี่ปุ่นคนหนึ่ง เรียนร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกัน ปกติเป็นคนนิ่งๆ แต่ก็เป็นมิตรกับทุกคน หลังจากที่เรารู้จักกันราวสองปี เขาไปเรียนที่ออสเตรเลีย ผมไปร่วมงานเลี้ยงส่งและพูดอวยพร เป็นการได้เห็นหน้ากันครั้งสุดท้ายจริงๆ พอผ่านไปได้ประมาณ 3 เดือนก็ได้ข่าวว่าเขาแขวนคอตายในห้องตัวเองที่ออสเตรเลีย จบชีวิตวัยหนุ่มด้วยอายุยี่สิบต้นๆ ทีแรกเมื่อได้ทราบข่าวจากเพื่อนอีกคน ผมถามทวนอยู่หลายทีจนต้องยอมรับอย่างเศร้าใจในที่สุด และเมื่อพ่อแม่เขาบินไปรับศพกลับมา ผมก็ไปร่วมงานศพ ด้วยบรรยากาศแบบนั้น ก็ไม่เหมาะที่จะถามถึงสาเหตุการเสียชีวิต แต่พอจะประมวลความจากหลายกระแสได้ว่า ขณะที่อยู่ในออสเตรเลีย ความกดดันจากการสื่อสารที่ไม่ราบรื่นและการเรียนไม่ทัน ได้บีบคั้นให้เขาเลือกที่จะทำอย่างนั้น คนวงนอกคงจะคิดว่า ฆ่าตัวตายด้วยเรื่องแค่นี่น่ะหรือ?...แต่นี่คือโรคซึมเศร้า ซึ่งผมมาเข้าใจทีหลังว่ามันควบคุมได้ยาก
และอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นคนที่ทำให้ผมเข้าใจโรคซึมเศร้ามากขึ้น ขอเรียกชื่อสมมุติว่าจุมเป จุมเปเรียนจบจากมหาวิทยลัยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง อายุน้อยกว่าผมไม่กี่ปี ตอนที่เขาจะเรียนจบ ผมก็สงสัยว่าจุมเปไม่หางานทำเหมือนคนญี่ปุ่นคนอื่นๆ หรือ เขาตอบว่าไม่ และมีอยู่วันหนึ่งหลังจากสนิทกันมากขึ้น เขาก็มาสารภาพตรงๆ ว่า เขาไม่สามารถหางานทำได้และคงจะทำงานที่ไหนไม่ได้ด้วย เพราะเป็นโรคซึมเศร้า
แวบแรกก็งง เพราะรูปลักษณ์ภายนอกของจุมเปไม่ได้ส่อว่ามีความผิดปกติใดๆ ทั้งสิ้น และด้วยความไม่เข้าใจ ผมนึกว่าเขาขี้เกียจ และเพียงแค่ยกข้ออ้างขึ้นมาพูดเพื่อเลี่ยงการทำงาน จึงถามซื่อๆ ว่า “ขนาดนั้นเชียวรึ แล้วอาการมันยังไง”
“ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร เบื่อไปหมด ไม่อยากเจอคน กลัวไปหมดทุกเรื่อง”
“อ้าว แล้วจะอยู่ยังไง ไม่ทำงานทำการ?”
“ทางบ้านให้เดือนละ 20,000 เยน อยู่บ้าน กินข้าวที่บ้าน ค่าน้ำค่าไฟไม่ต้องเสีย”
“แล้วถ้าพ่อแม่เสียหมดล่ะ”
ถือว่าเป็นคำถามที่ค่อนข้างแรงสำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า และผมถามออกไปด้วยความไม่รู้จริง ๆ
พอจุมเปตอบว่า “ก็ไม่รู้สิ” ผมก็ไปต่อไม่ถูก จึงเลิกถาม
เกือบสิบปีให้หลัง จุมเปก็ยังไม่ทำงาน มีอยู่ช่วงหนึ่ง เขาไปเรียนภาษาจีนที่ไต้หวัน ซึ่งผมก็ดีใจด้วยที่จุมเปตัดสินใจเริ่มทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่แล้วเมื่อผ่านไป 2-3 เดือน ผมก็ได้รับการติดต่อจากจุมเป
“กลับมาญี่ปุ่นแล้ว”
“อ้าว ทำไมกลับไว เรียนจบแล้วเหรอ”
“เปล่า อยู่ไม่ได้”
แล้วเราก็ได้เจอกันอีกที่ญี่ปุ่น ผมถามว่าทำไมอยู่ไต้หวันไม่ได้ จุมเปบอกว่าก็เพราะสาเหตุเดิม คือทำอะไรไม่ได้เลย จิตใจ (จริง ๆ แล้วคือสมอง) ผวาไปหมด กลัวไปหมด สรุปแล้วจุมเปต้องกลับมาอยู่กับครอบครัวเหมือนเดิม ดำรงชีวิตซึ่งดูเหมือนจะปกติแต่ก็ไม่ปกติ และยังคงไม่ได้ทำงานที่ไหน เจ้าตัวใช้คำว่า “อยู่ไปวันๆ”
เมื่อมาคิดดูอีกที การที่จุมเปกลับญี่ปุ่นก็อาจจะเป็นเรื่องดี เพราะเมื่อห่างจากครอบครัว จะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้ และทุกวันนี้ผมได้ขอร้องให้เขามาเป็นผู้ช่วย โดยให้มาเดือนละ 2-3 ครั้ง โดยมอบค่าตอบแทบให้เป็นรายได้ พร้อมกันนี้ก็ให้จุมเปอธิบายให้ฟังหน่อยว่าโรคซึมเศร้ามันคืออะไรกันแน่ โดยที่ผมเป็นคนรับฟัง ฟังเฉยๆ และถามแบบคนอยากรู้ โดยไม่กล้าออกความคิดเห็นเพราะไม่ใช่แพทย์ สิ่งที่สรุปได้จากจุมเปคือ เมื่ออาการของโรคซึมเศร้าปรากฏออกมาแล้ว นั่นคือโรคที่เกี่ยวกับกลไกทางประสาท คนอาจมองว่าเป็นโรคทางสภาพจิตใจ แต่จริงๆ แล้วภาวะอารมณ์ห่อเหี่ยวนั้นเกิดจากสมอง
เมื่อเกิดเหตุนักร้องชื่อดัง เชสเตอร์ เบนนิงตัน แห่งวงลิงคินพาร์กฆ่าตัวตาย ซึ่งมองกันว่ามีสาเหตุมาจากโรคซึมเศร้านั้น ก็เกิดกระแสการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้นในสังคมไทย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะดูเหมือนคนไทยจำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจอยู่มาก เท่าที่ผ่านมา เนื่องจากโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มองดูอาการภายนอกแล้วไม่ค่อยต่างจากภาวะปกติ ผู้คนก็มีแนวโน้มว่าจะมองข้ามไป ทั้งเจ้าตัวและคนรอบข้าง และก่อให้ความไม่เข้าใจในวงกว้าง จนนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้ป่วย
นิยามของ “โรคซึมเศร้า” ตามที่กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นระบุไว้ คือ ภาวะหงอยเหงาหดหู่ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจนเกินเกณฑ์ในระดับหนึ่ง (โดยทั่วไปคือ ต่อเนื่องตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป) และเท่าที่การศึกษาวิจัยระบุออกมา คือ อาการของโรคซึมเศร้าเกิดเมื่อสารสื่อประสาท “เซโรโทนิน” (serotonin) กับ “นอร์อะดรีนาลีน” (noradrenaline หรือ norepinephrine) ไม่เพียงพอ หรือเส้นประสาทที่ตอบสนองต่อเซโรโทนินทำงานผิดปกติ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดถึงกลไกที่ทำให้สารสื่อประสาท 2 ชนิดนี้ไม่พอ หรือกลไกที่ทำให้เส้นประสาทอันเกี่ยวเนื่องกับสารสื่อประสาทเหล่านี้ทำงานผิดปกติ ปัจจัยเสี่ยงอันอาจนำไปสู่กระบวนการที่ว่านี้ เชื่อกันว่าเกิดจากพันธุกรรมกับสิ่งแวดล้อมประกอบกัน เช่น ความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ความเครียด อารมณ์ โรคทางกาย
สรุปว่านี่คือโรคทางระบบประสาท ซึ่งบางครั้งเมื่อออกอาการแล้ว ก็อยู่เหนือการควบคุมของผู้ป่วยและนำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายดังที่เกิดขึ้นหลายกรณี ดังนั้น ถ้ามองที่ “ผล” กับ “เหตุ” โดยไม่มองกระบวนการอันนำไปสู่วาระสุดท้ายก็จะเข้าใจมากขึ้น อย่างโรคอื่น เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หากผู้ป่วยเสียชีวิตลง คนก็จะมองว่าสาเหตุของการเสียชีวิตคือโรคนั้น จริงอยู่ที่ว่าอาจรักษาได้ในระยะหนึ่ง แต่เมื่อถึงจุดท้าย การรักษาก็เอาชนะโรคไม่ได้ ในทำนองเดียวกัน กรณีโรคซึมเศร้า หากผลสุดท้าย ผู้ป่วยเสียชีวิตลง นั่นก็คือการเสียชีวิตเพราะโรค แม้ว่ากระบวนการเสียชีวิตเกิดขึ้นเพราะการฆ่าตัวตายก็ตาม
และเมื่อขึ้นชื่อว่าโรค ก่อนอื่นต้องคิดว่าเมื่อเป็นโรคก็ต้องรักษาที่โรค จะถือว่าเป็นการรักษาที่ปลายเหตุก็คงได้ เพราะเมื่ออาการของโรคปรากฏ นั่นหมายความว่าเกิดผลออกมาแล้ว ก็ต้องจี้ตรงนั้นก่อน เพราะ ณ จุดนั้น การจี้ที่เหตุอาจจะไม่ทัน เมื่อเริ่มสกัดผลไม่ให้ลุกลาม ขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุใหม่ๆ ดังเช่นคนเป็นไข้หวัดและออกอาการแล้ว หากเราจะบอกให้คนป่วยทำใจเข้มแข็ง ก็คงมีส่วนช่วยได้บ้าง แต่ถ้าไม่กินยา ก็จะหายช้าหรือลุกลามใหญ่โต ในทำนองเดียวกัน การรักษาโรคซึมเศร้า ก็อาจต้องใช้ยาโดยแพทย์เป็นผู้สั่ง และโรคนี้รักษาให้หายได้ (ระยะเวลาแล้วแต่คน)
ในกรณีจุมเป ผมเคยถามว่ารู้ไหมว่าสาเหตุที่ตัวเองเป็นโรคนี้คืออะไร เขาบอกว่า จริงๆ แล้วหมอก็ไม่รู้แน่ชัดหรอก มีแต่คำอธิบายทางการแพทย์ดังข้างต้นเท่านั้น แต่จากการประเมินของเจ้าตัว พบว่า ประการแรก ตระกูลของเขาก็มีคนที่เข้าข่ายแบบนี้เหมือนกัน ฉะนั้น ก็เป็นไปได้ว่าพันธุกรรมมีส่วน และประการที่สองคือ คงเพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างตัวเขากับแม่ในวัยเด็ก ทำให้เกิดความไม่สมดุลทางอารมณ์อย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีแรงกระทบครั้งใหญ่เรื่องการผิดหวังในความรักช่วงวัยรุ่นตอนปลาย อาการจึงเริ่มปรากฏออกมา แล้วจุมเปก็ไปหาหมอและถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า ตั้งแต่นั้นมา จุมเปต้องกินยามาโดยตลอดนับสิบปีจนถึงปัจจุบัน และถึงแม้จะกินยาไม่ขาด แต่เมื่อเวลาผ่านไป ยาขนานเดิมก็อาจได้ผลน้อยลง จนถึงตอนนี้จุมเปเปลี่ยนยาไปหลายขนานแล้ว
หลังจากที่เข้าใจโรคซึมเศร้ามากกว่าก่อน ผมก็ใช้ความยืดหยุ่นกับผู้ช่วยคนนี้มากขึ้น วันดีคืนดีจุมเปก็จะส่งข้อความไลน์มาบอกว่า “พรุ่งนี้ไปช่วยงานไม่ได้แล้วครับ” ผมก็จะไม่ถามต่อ เพราะเป็นที่รู้กันว่าจุมเปคงต้องการเวลาเพื่อปรับสภาพความรู้สึก ซึ่งมักจะแปรปรวนอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย และผมพยายามระวังคำพูดมากกว่าเดิม เพราะคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะอ่อนไหวต่อคำพูดที่ดูเหมือนจะธรรมดามากกว่าคนทั่วไป และอาจตีความไปในทางลบโดยที่ผู้พูดคาดไม่ถึง
สูตรของญี่ปุ่นบอกว่า คำพูดที่เข้าข่ายลักษณะนี้ควรหลีกเลี่ยง
คำพูดที่ตีความได้ว่าโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องเล็ก คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มว่าจะเห็นตัวเองไร้ค่า ดังนั้นคำพูดที่ลดความสำคัญของผู้ป่วยลงเป็นสิ่งที่ควรเลี่ยง เช่น “ใคร ๆ ก็มีช่วงที่รู้สึกแย่ทั้งนั้นแหละ”, “เรื่องเล็กน่า ไม่เป็นไรหรอก”, “ในโลกนี้มีคนที่เดือดร้อนกว่านี้อีกเยอะน่า”, “เป็นไรไปเนี่ย”, “อย่าคิดมาก”
คำพูดที่ใช้อารมณ์เชิงตำหนิ ตามปกติคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีความกระตือรือร้นต่ำ หากถูกตำหนิเพราะไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังของผู้อื่นได้ ก็จะเป็นผลเสียต่อจิตใจ เช่น “อุตส่าห์ทำให้นะเนี่ย”, “ทำให้มันดี ๆ หน่อย”, “อย่าลอยไปลอยมา ทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันหน่อย”, “ไปไกล ๆ เลยไป”
คำพูดให้กำลังใจหรือคะยั้นคะยอ ในญี่ปุ่น มองกันว่าคำพูดให้กำลังใจสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นไม่ดี เพราะการเป็นโรคนี้หมายความว่า ภายในสมองเกิดความไม่สมดุล ถึงแม้อยากจะพยายาม แต่ก็พยายามไม่ขึ้น ถึงได้มีอาการแบบนี้ และผลที่สุด หากถูกบอกให้พยายามยิ่งขึ้น ก็จะกลายเป็นการกดดัน คำพูดเหล่านี้จึงควรเลี่ยง เช่น “สู้ ๆ นะ”, “พยายามเข้านะ”, “ยิ้มบ้างสิ”, “ทำตัวให้ร่าเริงหน่อย”
สำหรับวิธีปฏิบัติที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย คือ แทนที่จะเป็นการพูดแนะนำ ก็เปลี่ยนมาเป็นผู้ฟังที่ดี โดยให้ผู้ป่วยได้พูดสิ่งที่อยากพูด และพยายามไม่แทรกขณะที่ฝ่ายนั้นกำลังพูด เพื่อสร้างบรรยากาศให้รู้สึกว่าพูดอะไร ๆ ได้ง่าย และเมื่อต้องการจะให้กำลังใจ แทนที่จะใช้คำพูด ก็เปลี่ยนไปใช้การตบบ่าเบา ๆ หรือลูบหลังเพื่อแสดงความใกล้ชิด (https://allabout.co.jp/gm/gc/302271/)
สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้มีอาการ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็น วิธีการป้องกันในระดับที่ทำได้คือ หมั่นสำรวจความรู้สึกตัวเองอยู่เสมอ และต้องฝึกบริหารความรู้สึกในทางลบ อย่าปล่อยให้มันอยู่กับตัวเรานาน เพราะหากยืดเยื้อเรื้อรัง มันอาจไปลงเอยที่โรคซึมเศร้า หากถึงจุดนั้นเมื่อไร การแก้ไขย่อมทำได้ยากขึ้น
อาการที่เกิดกับจุมเปเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ผมในฐานะคนนอกครอบครัวคงทำอะไรไม่ได้มาก แต่ทุกทีที่เจอกันก็พยายามใช้ความเข้าใจให้มากที่สุด ระมัดระวังไม่สร้างภาระทางความรู้สึกแก่เขา เพราะตระหนักอยู่เสมอว่าผู้เป็นโรคซึมเศร้ามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากกว่าคนปกติ ในใจก็เอาใจช่วยให้เขาฟันฝ่าไปให้ได้ เพียงแต่ไม่แปลงความรู้สึกนั้นออกมาเป็นคำพูด
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th