ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
การเรียนภาคฤดูใบไม้ผลิของญี่ปุ่นกำลังจะปิดลง เมื่อสอนวิชาวรรณกรรมไทยคาบสุดท้าย ผมก็ได้รับคำถามจากนักศึกษาเกี่ยวกับแวดวงวรรณกรรมในเมืองไทย ซึ่งก็ต้องตั้งสติเล็กน้อยก่อนจะตอบเพราะบางเรื่องถือว่าใหม่จริงๆ คำถามที่ว่าคือ “ตอนนี้วรรณกรรมไทยแบบไหนเป็นที่นิยม” และ “มีวรรณกรรมญี่ปุ่นแบบไหนที่ได้รับความนิยมในเมืองไทยบ้าง” ฟังดูเหมือนง่าย แต่เอาเข้าจริงก็ตอบยากพอสมควร
แนวคิดว่าด้วยวรรณกรรมแท้กับวรรณกรรมบันเทิง
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจมุมมองด้านวรรณกรรมของคนญี่ปุ่นกันเสียก่อน คนญี่ปุ่นแบ่งวรรณกรรมไว้ 2 ประเภทตามลักษณะของเนื้อหาและกลวิธี คือ วรรณกรรมแท้ และวรรณกรรมมวลชน คำว่า “วรรณกรรมแท้” ภาษาญี่ปุ่นพูดว่า “จุง-บุงงะกุ” (純文学;jun-bungaku) นิยามของคำนี้คือ วรรณกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยมีความโดดเด่นในเชิงศิลปะหรือวรรณศิลป์ และคำว่า “วรรณกรรมมวลชน” เรียกว่า “ไทชู-บุงงะกุ” (大衆文学;taishū-bungaku) ความหมายตามตัวอักษรคือ วรรณกรรมสำหรับประชาชนในวงกว้าง โดยนัยนี้หมายความว่า เป็นวรรณกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยเน้นความบันเทิงมากกว่าศิลปะ และผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย
ทั้งสองคำนี้ แม้จะตีความ “วรรณกรรม” (文学; bungaku) แบบกว้าง ๆ ได้ว่าหมายถึง งานเขียนทุกประเภทรวมทั้งสารคดีด้วย แต่ในความเป็นจริงมักจะหมายถึง “นวนิยาย” มากกว่า และสองคำนี้ต่างก็มีความเป็นอัตวิสัยมากอยู่เหมือนกัน คือ ไม่มีมาตรวัดชัดเจนว่าแบบไหนเรียกว่า “ศิลปะ” และแบบไหนเรียกว่า “บันเทิง” เพราะวรรณกรรมบางเรื่องก็มีองค์ประกอบที่ผสมผสานลงตัวดีมากทั้งในด้านแนวคิด สาระ รูปแบบ ศิลปะ และความบันเทิง แม้ผลงานเช่นนั้นจะมีอยู่น้อยก็ตาม
โดยธรรมชาติของวรรณกรรมแต่ละเรื่อง ถ้าเป็นงานที่มีโครงเรื่องหนักๆ อ่านแล้วต้องคิด หรือชวนให้ตั้งคำถามเป็นประเด็นที่แหลมคม หรืออ่านแล้วงงๆ ตีความได้ไม่ชัดเจนว่าจะไปทางไหนดี แนวโน้มแบบนี้มักจะเข้าข่าย “วรรณกรรมแท้” ส่วนงานเขียนที่เน้นความสนุก อ่านไปได้เรื่อย ๆ สมจริงบ้างไม่สมจริงบ้าง เร้าอารมณ์ ทั้งฟูมฟาย หรือฟินจิกหมอนตามภาษาวัยรุ่น เหล่านี้เข้าข่าย “วรรณกรรมมวลชน” เช่น นวนิยายแนวสืบสวน ชิงรักหักสวาท แฟนตาซี
ในญี่ปุ่น รางวัลวรรณกรรม 2 รางวัลใหญ่ที่มอบให้แก่นักเขียนหน้าใหม่โดยแบ่งลักษณะอย่างชัดเจน ได้แก่ รางวัลอะกุตะงะวะ สำหรับ “จุง-บุงงะกุ” และรางวัลนะโอะกิ สำหรับ “ไทชู-บุงงะกุ” สองรางวัลนี้คือสถาบันสร้างนักเขียนชื่อดังของญี่ปุ่นมาหลายคน โดยมอบปีละ 2 ครั้ง “รางวัลอะกุตะงะวะ” (芥川賞;Akutagawa-shō) ตั้งชื่อรางวัลตามชื่อนักเขียนริวโนะซุเกะ อะกุตะงะวะ (芥川龍之介; Akutagawa, Ryūnosuke) ส่วน “รางวัลนะโอะกิ” ตั้งชื่อตามนักเขียนนะโอะกิ ซันจูโงะ (直木三十五; Naoki, Sanjūgo)
แนวคิดการแบ่งแบบนี้ถือว่าดีในการพัฒนาวงวรรณกรรม เพราะเมื่อวางกรอบที่ค่อนข้างชัดเจนไว้ ก็จะทำให้เกิดการแข่งขันแบบตรงไปตรงมา และหลีกเลี่ยงการนำงานคนละประเภทมาแข่งกัน ซึ่งทำให้ตัดสินไม่ได้ เพราะจะเหมือนเอากล้วยไปเปรียบกับแอปเปิล
ในระดับโลก แม้ไม่มีการวางกรอบชัดเจนด้านแนวคิดรวบยอดแบบญี่ปุ่น แต่ในทางปฏิบัติแล้วรางวัลวรรณกรรมระดับโลกก็มีแนวโน้มที่จะมอบรางวัลให้แก่วรรณกรรมแท้ หมายความว่า ในการพิจารณารางวัล กรรมการจะมองหางานเขียนที่บรรจุความคิดอันซับซ้อนของคนเขียน ซึ่งคนอ่านต้องเอาไป ‘ขบ’ ต่อ และไม่ใช่ผลงานที่ผลิตออกมาได้ง่าย ๆ เป็นงานศิลปะที่ไม่ใช่ความสนุกรายวันที่หาได้ไม่ยากในนิยายประโลมโลกทั่วไป
ดังนั้น วรรณกรรมที่ได้รับรางวัลใหญ่ เช่น Man Booker Prize ในอังกฤษ หรือ National Book Award ในอเมริกา ก็ล้วนแต่เข้าข่ายวรรณกรรมแท้ หรือรางวัล Nobel สาขาวรรณกรรม ซึ่งไม่ได้มอบให้แก่ผลงานเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ แต่พิจารณาคลังผลงานของนักเขียนคนใดคนหนึ่งนั้น ก็เป็นรางวัลสำหรับวรรณกรรมแท้
สำหรับรางวัลซีไรต์ของไทย โดยหลักการแล้วก็หมายจะมอบแก่วรรณกรรมแท้เช่นกัน แต่เนื่องด้วยแนวคิดเรื่องวรรณกรรมแท้กับวรรณกรรมบันเทิงของไทยก็ยังไม่ชัดเจน บางผลงานจึงเข้าข่ายงานบันเทิงมากกว่า อย่างผลงานของปราบดา หยุ่น นักวรรณกรรมญี่ปุ่นบางคนบอกว่ามีแนวโน้มเป็นวรรณกรรมบันเทิงมากกว่าวรรณกรรมแท้ (งานของปราบดา หยุ่นได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นหลายเรื่อง)
หรือผลงานของงามพรรณ เวชชาชีวะเรื่อง “ความสุขของกะทิ” ซึ่งได้รางวัลซีไรต์เมื่อปี 2549 นั้น ผมก็คิดว่ามีความเป็นวรรณกรรมบันเทิงมากกว่า คุณงามพรรณเองก็ยังเคยเอ่ยปากบอกเมื่อครั้งที่ผมไปร่วมเสวนาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า เมื่อเธอส่งข่าวให้เพื่อนชาวต่างชาติทราบ เพื่อนถึงกับตกใจและถามว่า “ที่เมืองไทย วรรณกรรมเยาวชนได้รับรางวัลใหญ่ขนาดด้วยหรือ”
คงด้วยเส้นแบ่งที่ไม่ชัดเจน ประกอบกับแนวคิดว่าด้วยศิลปะแห่งการประพันธ์ที่ยังไม่หยั่งรากมั่นคงในวงวรรณกรรมไทย จำนวนผลงานของวรรณกรรมแท้ที่จะได้ออกสู่สายตาชาวโลก ตลอดจนความฝันที่จะไปถึงรางวัลโนเบลนั้นจึงยังห่างไกลมาก
กระแสวรรณกรรมใหม่ในเมืองไทย
กลับมาที่คำถามของลูกศิษย์ญี่ปุ่นที่ว่า “ตอนนี้วรรณกรรมไทยแบบไหนเป็นที่นิยม” ผมตอบเป็น 2 ระดับ คือ ระดับรากเหง้า กับระดับแฟชั่น ซึ่งทั้งสองระดับที่ว่านี้ล้วนแต่เป็นวรรณกรรมบันเทิงตามรสนิยมของคนไทย ส่วนวรรณกรรมแท้มักจะไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลจากนักอ่านเท่าใดนักนอกจากได้รางวัลใหญ่ และสิ่งที่ผมตอบก็มาจากการสังเกตกระแสกับอันดับขายดีของหนังสือ โดยไม่ได้มีตัวเลขยอดขายมายืนยันเพราะสำนักพิมพ์แต่ละแห่งไม่ค่อยเปิดเผยยอดขายของหนังสือที่ตัวเองพิมพ์
ในระดับรากฐาน ผมตอบนักศึกษาไปว่า ถ้าไม่นับนิยายรักซึ่งมีทุกยุคทุกสมัยและทุกประเทศก็ผลิตจนเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว วรรณกรรมที่คนไทยนิยมอ่านคือ เรื่องผีและเรื่องลี้ลับ เป็นแบบนี้มานานหลายสิบปี ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของคนไทยที่ยังฝักใฝ่สิ่งเหนือธรรมชาติตามที่เป็นข่าวอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นการขูดต้นไม้ ไหว้ของแปลก หรือการขอหวย นักเขียนที่สร้างผลงานแนวผีออกมาถี่ๆ ก็อย่างเช่น พงศกร ภาคินัย
และจะสังเกตได้อีกว่า เมื่อบทประพันธ์แนวผีถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์เมื่อไร มักจะกลายเป็นกระแสล้นหลาม ดังที่คนไทยคงยังจำกันได้เมื่อไม่นานมานี้ คือ พิษสวาท และนาคี ซึ่งแม้จะแต่งไว้นานแล้ว แต่พอกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว หนังสือก็กลับมาขายดีอีก
ส่วนในระดับแฟชั่น ผมตอบไปว่าขณะนี้เกิดกระแสที่ถือว่าแปลกใหม่พอสมควรสำหรับวงวรรณกรรมไทย คือ มีบทประพันธ์ประเภทที่เรียกว่า “วาย” เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และหนังสือก็ติดอันดับขายดีต่อเนื่องทั้ง ๆ ที่สมัยก่อนเคยมีข่าวลือว่า สายส่งจะไม่ค่อยยอมเป็นผู้จัดจำหน่ายหนังสือประเภทนี้ แต่ปัจจุบันเห็นมีอยู่ตามร้านทั่วไป และกระแสตอบรับก็ดี จนกลายเป็น “วัฒนธรรมกลุ่มย่อย” (sub-culture)
คำว่า “วาย” ใน “นิยายวาย” หรือ “ละครวาย” ไม่ได้มีความหมายเหมือนตลาดวาย แต่สื่อถึงลักษณะของเนื้อเรื่องที่ตัวละครมีเพศสภาพเหมือนกันและมีจิตใจชอบพอกัน คือ ชาย-ชาย หรือหญิง-หญิง เป็นคำที่ได้รับอิทธิพลมาจากญี่ปุ่นโดยตรง เพียงแต่ญี่ปุ่นไม่ได้ใช้คำว่า “วาย” ในไทยได้มีการแปลนิยายวายของญี่ปุ่นออกมาไม่ต่ำกว่าห้าปี และกระแสก็แรงขึ้นๆ จนขณะนี้ได้เข้าสู่ยุคที่คนไทยแต่งนิยายวายขายกันเองแล้ว
ในกรณีที่ตัวละครเป็นคู่ชาย-ชาย ภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า “ยะโอะอิ” (やおい; yaoi) ส่วนกรณีที่เป็นหญิง-หญิง ภาษาญี่ปุ่นใช้ “ยุริ” (百合;yuri) ซึ่งทั้งสองคำต่างก็ขึ้นต้นด้วย “y” แฟนๆ ของหนังสือแนวนี้ในไทยจึงนำมาเรียกว่า “วาย” และเรียกคนที่ชื่นชอบผลงานแนวนี้ว่า “สาววาย” เพราะคนที่นิยมอะไรวาย ๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุน้อยๆ (แต่ก็ไม่เสมอไป) ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของผลงานแนวนี้ และด้วยปรากฏการณ์นี้ ปัจจุบันกลายเป็นว่า ผู้จัดละครก็นำบทประพันธ์ไปสร้างละคร “วาย” เกิดกระแสตามมาอีกมากมาย
อีกข้อหนึ่งที่นักศึกษาถาม คือ “มีวรรณกรรมญี่ปุ่นแบบไหนที่ได้รับความนิยมในเมืองไทยบ้าง” สำหรับเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ได้เช่นเดียวกันในแง่ที่ว่า เมื่อสังเกตจำนวนวรรณกรรมต่างประเทศที่แปลเป็นไทย นอกจากภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาต้นทางที่แปลเป็นไทยมากที่สุดแล้ว อันดับรองลงมาน่าจะเป็นภาษาญี่ปุ่นซึ่งมีการแปลมานับสิบๆ ปี (ระยะหลังเริ่มมีภาษาเกาหลีและภาษาจีนมากขึ้น) ส่วนเรื่องกระแสนิยมนั้น ผมตอบโดยอิงการวิเคราะห์ของศาสตราจารย์เกียรติคุณเซจิ อุโดะซึ่งแบ่งเป็นยุคๆ ไว้
ประมาณทศวรรษ 1960 - ปลายทศวรรษ 1980 เป็นยุคที่เน้นการแปลวรรณกรรมสมัยใหม่ของญี่ปุ่นโดยแปลจากภาษาอังกฤษเป็นหลัก เช่น ผลงานของ ยุกิโอะ มิชิมะ, จุนอิชิโร ทะนิซะกิ, เค็นซะบุโร โอเอะ, นะโอยะ ชิงะ ส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมแท้ และเป็นยุคที่การควบคุมเรื่องลิขสิทธิ์ยังไม่เข้มงวด
ปลายทศวรรษ 1980-2000 เป็นยุควรรณกรรมเยาวชนญี่ปุ่น เช่น โต๊ะโตะจังเด็กหญิงข้างหน้าต่าง (คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ) สยองขวัญ (เอโดงาวะ รัมโป) รวมทั้งการ์ตูนด้วย เช่น ดรากอนบอล ฤทธิ์หมัดดาวเหนือ
ทศวรรษ 2000 - กลางทศวรรษ 2010 เป็นยุควรรณกรรมมวลชนของญี่ปุ่น ซึ่งมีออกมามากมาย โดยเฉพาะเรื่องสืบสวนสอบสวน สำนักพิมพ์ที่มีบทบาทมากคือ JBook ซึ่งผลิตผลงานรหัสคดีชุดคินดะอิจิออกมาหลายเล่ม แต่ก็เลิกกิจการไปแล้ว
หากเจาะลงรายละเอียดเพิ่มเติมจากที่ศาสตราจารย์อุโดะกล่าวไว้ จะพบว่าตั้งแต่กลางทศวรรษ 2010 เป็นต้นมา วรรณกรรมที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นคือ “ไลต์โนเวล” ซึ่งเป็นนวนิยายที่เจาะกลุ่มวัยรุ่น เนื้อเรื่องไม่ยาวและไม่ซับซ้อนนัก ในเล่มมีภาพแนวการ์ตูนประกอบประปราย และอีกประเภทหนึ่งคือ “ฮาวทู” จากญี่ปุ่น ซึ่งขายดีต่อเนื่องในช่วงสองสามปีมานี้
เมื่อได้รับคำตอบ นักศึกษาญี่ปุ่นก็พยักหน้าหงึกหงัก นึกไม่ถึงว่าคนไทยจะสนใจญี่ปุ่นถึงขั้นเจาะลงไปถึงชั้นวรรณกรรม และยังได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่นถึงขนาดนี้ด้วย โดยเฉพาะเรื่องวรรณกรรมวาย เทอมนี้เป็นอันว่าอาจารย์ปิดคอร์สวรรณกรรมไทยด้วยแนวโน้มแปลกใหม่ เหนือความคาดหมายจนคนญี่ปุ่นก็อดทึ่งไม่ได้
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th