สำนักงานดับเพลิงกรุงโตเกียวตรวจสอบพบว่า อพาร์ทเมนท์มากถึงร้อยละ 80 ในเมืองหลวงของญี่ปุ่นฝ่าฝืนกฎหมายด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันอัคคีภัย
ชาวญี่ปุ่นต่างประหวั่นพรั่นพรึงหลังเกิดเหตุไฟไหม้ตึกสูงในกรุงลอนดอน ซึ่งทำให้ผู้พักอาศัยหลายสิบรายเสียชีวิตในกองเพลิง หลังจากเหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้ สำนักงานป้องกับอัคคีภัยกรุงโตเกียวได้ตรวจมาตรฐานความปลอดภัยของตึกสูงต่างๆในกรุงโตเกียว และพบว่าตึกสูงจำนวนมากไม่ได้มาตรฐาน และมีความเสี่ยงชีวิตหากเกิดไฟไหม้
อาคารในญี่ปุ่นถูกควบคุมโดยกฎหมายหลายฉบับ ตึกที่มีความสูงเกิน 31 เมตร หรือราว 11 ชั้น จะถูกกำหนดให้เป็น “อาคารสูง” โดยผลการสำรวจการใช้งานที่ดินของกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร พบว่า จำนวนตึกสูงในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมาก ในปี 2013 ทั่วประเทศญี่ปุ่นมีตึกสูงกว่า 11 ชั้น จำนวน 26,700 ตึก แต่ในปี 2013 จำนวนตึกสูงเพิ่มขึ้นมากถึง 1.6 เท่าตัวเป็น 42,400 ตึก โดยในปี 2016ที่ผ่านมามีเหตุไฟไหม้ตึกสูง 477 กรณี
สำนักงานป้องกับอัคคีภัยกรุงโตเกียว ระบุว่า ในโตเกียวมีตึก 576 หลังที่เข้าข่าย “อาคารสูง” และจากการสำรวจพบว่าร้อยละ 80 หรือ 463 ตึกไม่ได้มาตรฐานตามกฎหมายป้องกันไฟไหม้
กรณีที่ไม่ได้มาตรฐานมากที่สุด คือ ไม่มี “หัวหน้าฝ่ายป้องกันอัคคีภัย” ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบในการนำอพยพและซ้อมหนีภัย อพาร์ทเมนท์จำนวนมากไม่มีแผนอพยพ และไม่เคยซ้อมหนีภัยแม้แต่ครั้งเดียว ทำให้ผู้พักอาศัยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร หนีไปทางไหนเมื่อเกิดไฟไหม้ ผู้พักอาศัยบางคนยังไม่ทราบว่า ต้องใช้บันได ห้ามใช้ลิฟท์ยามเกิดไฟไหม้
จากการตรวจสอบพบว่า ถึงแม้อาคารสูงในญี่ปุ่นจำนวนมากจะมีระบบน้ำดับไฟและสัญญาณเตือนที่เมื่อไฟไหม้จะส่งสัญญาณไปยังสถานีดับเพลิงที่ใกล้ที่สุดโดยอัตโนมัติ ตามกฎหมายกฎหมายควบคุมอาคาร แต่รายละเอียดหลายอย่างไม่ได้มาตรฐานตามกฎหมาย เช่น วัสดุที่ใช้ทำผนังและพื้นจะต้องไม่ติดไฟ โดยผ้าม่านและพรมก็ต้องเป็นวัสดุที่ไม่ติดไฟด้วย วัสดุเหล่านี้เป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้ไฟลุกไหม้อย่างรวดเร็วจนเกิดเป็นโศกนาฏกรรมที่กรุงลอนดอน.