ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
สภาพทั่วไปของวงการแปลในญี่ปุ่น
คนญี่ปุ่นไม่อายที่จะบอกว่าตัวเองพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ หรือบอกว่าตัวเองมีความรู้ไม่เพียงพอในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประกอบกับการที่เป็นประเทศเกาะซึ่งดูเหมือนถูกทะเลกักไว้ให้เข้าใจแต่โลกของตัวเอง คนญี่ปุ่นจึงใฝ่ฝันที่จะได้รู้จักโลกภายนอก ณ อีกฟากหนึ่งของทะเลมานานแล้ว การแปลภาษาก็เริ่มจากจุดนั้นและแพร่หลายมานาน
ในสมัยโบราณได้แก่การแปลภาษาจีนเป็นญี่ปุ่นเพื่อรับการถ่ายทอดความรู้ เมื่อเข้าสู่สมัยเอะโดะก็คือภาษาดัตช์ เพราะเนเธอร์แลนด์คือประเทศทางตะวันตกประเทศเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อค้าขายกับญี่ปุ่นในช่วงที่ปิดประเทศ วิทยาการของตะวันตกโดยเฉพาะด้านการแพทย์ เข้าสู่ญี่ปุ่นผ่านทางภาษาดัตช์ และต่อมาญี่ปุ่นถูกอเมริกาบีบให้เปิดประเทศ ภาษาอังกฤษก็เริ่มหลั่งไหลเข้ามา จนเมื่อเกิดการปฏิวัติเมจิ (明治維新; Meiji Ishin) ในปี 1868 ซึ่งถือเป็นการปรับประเทศให้ทันสมัย ความจำเป็นของการแปลภาษาอังกฤษก็ยิ่งเพิ่มขึ้นนับแต่นั้นจนกลายเป็นภาษาหลักของการแปล เป็นเช่นนั้นกระทั่งญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคแห่งความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสูงในช่วงกลางทศวรรษ 1950 และ 1960 และเมื่อเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 ความจำเป็นในการแปลภาษาอื่นโดยเฉพาะภาษาเอเชียจึงเพิ่มขึ้น
เดิมญี่ปุ่นแปลภาษาต่างประเทศเพื่อการเรียนรู้ แต่ปัจจุบันบทบาทของการแปลมีมากกว่านั้นในฐานะเครื่องมือทำธุรกิจ จนทุกวันนี้อุตสาหกรรมการแปลถือว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับญี่ปุ่น และไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษ แต่หมายรวมถึงทุกภาษาของประเทศที่ญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ด้วย รวมทั้งภาษาไทย ตอนนี้คนที่มาเที่ยวญี่ปุ่นก็คงสังเกตได้ว่า แผ่นพับ ป้ายตามที่ต่างๆ หรือแม้แต่เมนูของร้านอาหารบางแห่งก็มีภาษาอังกฤษ จีน เกาหลี และไทยด้วย และเพราะนักท่องเที่ยวไทยในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมากในช่วงสองสามปีนี้ งานแปลญี่ปุ่น-ไทยจึงมีถี่ขึ้นมาก ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องดีสำหรับคนไทยและประเทศไทย
งานแปลมีต้นทุนการทำงานต่อครั้งต่ำเพราะทำอยู่กับบ้านได้ จากประสบการณ์เท่าที่ตัวเองเคยผ่านมา ผมพอจะเล่าได้บ้าง เผื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจงานด้านนี้ กล่าวคือ งานแปลในญี่ปุ่นเงินดี แม้จะได้น้อยกว่าการเป็นล่าม แต่ก็สบายกว่าเพราะมีเวลาค้นคว้าและไม่ถูกกดดันด้วยสถานการณ์ ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า ในวงการแปลนั้น โดยทั่วไปงานแปลที่ได้เงินดีคือการแปลเอกสาร ส่วนการแปลหนังสืออาจจะสร้างรายได้ไม่พอสำหรับเลี้ยงชีพหากผลิตได้ช้า
งานแปลแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ การแปลเอกสาร กับการแปลหนังสือเล่ม การรับจ้างแปลเอกสารเป็นงานทักษะภาษาที่คนไทยในญี่ปุ่นทำกันอย่างแพร่หลาย และคงจะมากกว่าการเป็นครูสอนภาษาไทยให้คนญี่ปุ่น สำหรับค่าจ้างในวงการที่ญี่ปุ่น จะคิดโดยนับจำนวนตัวอักษร อาจนับเป็นตัวๆ แล้วคูณด้วยอัตรา หรือนับเหมาเป็นชุด 400 ตัวอักษร
ตัวอย่างเช่น ในกรณีแปลญี่ปุ่น-ไทย บริษัทจะเรียกเก็บจากลูกค้าด้วยอัตรา 1 ตัวอักษรญี่ปุ่นคิด 3-4 บาทขึ้นไป (10-12 เยน) หรือ 400 ตัวอักษรญี่ปุ่นคิด 2,000 บาท (6,000 เยน) แล้วแต่ความยากง่ายของงาน นักแปลจะได้ประมาณ 60-70% ของส่วนนั้น ถ้าเป็นบริษัทคุณภาพสูงก็จะมีการส่งผลงานแปลให้อีกคนหนึ่งตรวจสอบก่อนส่งงานให้ลูกค้า โดยบริษัทจะจ่ายค่าตรวจให้แก่ผู้ตรวจต่างหากแล้วแต่ความยาว ดังนั้น ค่าบริการที่ลูกค้าจ่ายไปคือการรวมค่าแปลและค่าตรวจเข้าไปด้วย
ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมง่าย ๆ เช่น ประโยค 私はタイ人です。(Watashi wa Tai jin desu.) ประโยคนี้มี 7 ตัวอักษร คิดที่ตัวละ 10 เยน ค่าแปลคือ 70 เยน หรือราว 20 กว่าบาทสำหรับการแปลออกมาว่า “ผมเป็นคนไทยครับ” ในความเป็นจริง ประโยคที่มีการว่าจ้างกันนั้นไม่ได้ง่ายแบบนี้ แต่เป็นเรื่องทางธุรกิจ หรือสัญญา หรือถ้าลองสังเกตคู่มืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บางครั้งก็มีภาษาไทยเขียนกำกับมาด้วย สิ่งเหล่านั้นมีกระบวนการแปลเข้าไปเกี่ยวข้อง กว่าจะออกมาได้ ล้วนผ่านการเคี่ยวกรำหลายชั้น และเป็นต้นทุนที่ผู้ผลิตจ่ายไป ผลสุดท้ายก็รวมอยู่ในราคาที่ลูกค้าจ่ายให้แก่ผลิตภัณฑ์
งานแปลอีกชนิดหนึ่งซึ่งอาจถือว่าใกล้เคียงกับการแปลเอกสารคือ การแปลคำบรรยายภาพยนตร์ ส่วนใหญ่จะคิดตามระยะเวลาของภาพต้นฉบับ เช่น ความยาว 10 นาที ได้ค่าตอบแทน 10,000 เยนขึ้นไป (ราว 3,000 บาท) ถ้าเป็นภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษอาจจะได้มากกว่านี้ประมาณ 10-20%
ส่วนการแปลหนังสือ เมื่อว่ากันถึงค่าจ้าง ก็จะคล้ายกับของไทยคือจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “อินเซ” (印税; inzei) โดยหลักการคือ ค่าแปล = ราคาปก×ยอดพิมพ์×5-8% กรณีหนังสือไทยแปลเป็นญี่ปุ่นนั้นก็พอมีให้เห็นบ้าง แต่ก็น้อยมากและเป็นงานที่คนญี่ปุ่นทำ นาน ๆ ทีจะมีหนังสือแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาญี่ปุ่นปรากฏออกมาสักปก อย่างนวนิยายก็เช่น ความสุขของกะทิ (งามพรรณ เวชชาชีวะ; แปลจากภาษาอังกฤษ) แพนด้า (ปราบดา หยุ่น) พันธุ์หมาบ้า (ชาติ กอบจิตติ) เป็นต้น
การได้อัตราค่าแปลสูงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ประสบการณ์ของนักแปล จำนวนครั้งของการตีพิมพ์ ต้นทุนค่าลิขสิทธิ์หนังสือ โดยทั่วไปต้นทุนการผลิตหนังสือแปลนั้นแพงกว่าหนังสือธรรมดาอยู่แล้ว เพราะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ทั้งนักเขียนและนักแปล เมื่อรวมแล้วมักสูงเกิน 10% ของราคาปก ส่วนใหญ่นักแปลจึงได้ราว 6% ของราคาปก เช่น ราคาปก 2,000 เยน, พิมพ์ 2,000 เล่ม, ค่าแปล 6% เมื่อคำนวณแล้ว นักแปลจะได้รับค่าตอบแทน 2000×2000×6% = 240,000 เยน (ราว 80,000 บาท) ก็ถือว่าไม่เลว แต่ถ้าจะยึดเป็นอาชีพนั่นหมายความว่าต้องแปลได้เดือนละเล่ม ซึ่งตามประสบการณ์ที่ผ่านมา เดือนละเล่มนี่คงเป็นไปได้ยากมาก นักแปลที่ยึดการแปลหนังสือเป็นอาชีพจึงมีน้อยมาก
ทัศนคติต่อล่ามและการแปล
เมื่อกล่าวถือสภาพทั่วไปของการแปลแล้ว ทำให้อยากฝากทัศนคติว่าด้วยการแปลไว้เตือนใจวงการของไทยใน 2 ระดับคือ ทัศนคติต่อการผลิตงานแปล และทัศนคติต่อการใช้บริการงานแปล
สำหรับทัศนคติต่อการผลิตงานแปล อยากให้ดูญี่ปุ่นเป็นแนวทาง คนญี่ปุ่นตระหนักอยู่เสมอว่าโลกนี้ช่างกว้างใหญ่และมีอะไรที่ตัวเองไม่รู้อีกมาก และคงด้วยวัฒนธรรมความถ่อมตัวที่มีอยู่ในสายเลือด คนญี่ปุ่นจึงยินดีที่จะแปลดะเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้จากภายนอก และไม่ทะนงตัวว่าในฐานะคนเรียนสูงจะต้องอ่านภาษาอังกฤษ ภาษาคือเครื่องมือเท่านั้นเอง แต่สิ่งสูงสุดที่คนญี่ปุ่นปรารถนาคือความรู้ และความรู้ก็ไม่ใช่ของคนชั้นสูงเท่านั้น ชาวบ้านก็ควรจะได้เปิดหูเปิดตาด้วย ขอเพียงมีตัวอักษรของตัวเองสื่อความให้เข้าใจ ก็พร้อมจะเพ่งสายตาซึมซับ และเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่อดีต ดังนั้น ในญี่ปุ่น จิ้มไปเถอะ หนังสือดีๆ ดังๆ ของต่างประเทศมักมีฉบับภาษาญี่ปุ่น และไม่ใช่แค่การแปลจากภาษาอังกฤษ แต่การแปลจากต้นฉบับภาษาอื่นก็มีมาก
อันที่จริง ดูเหมือนประเทศไทยเองก็เคยมีค่านิยมการเรียนรู้ในทางสร้างสรรค์ทำนองนั้นอยู่เหมือนกันตอนที่เราเริ่มเปิดรับวิทยาการจากตะวันตก เราเคยมีวารสาร ลักวิทยา (สมัยก่อนมักใช้คำว่า “หนังสือพิมพ์”) ซึ่งเป็นการบอกตรงๆ เลยว่าเราลักความรู้จากต่างประเทศเข้ามาเพื่อปรับประเทศเราให้ทันโลก สมัยนั้น เจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่ไปร่ำเรียนในต่างประเทศนำความรู้จากต่างแดนมาดัดแปลงบ้างแปลบ้าง และเผยแพร่ลงในวารสารต่างๆ รวมทั้งลักวิทยา นวนิยายแปล(ง) เรื่องแรกของไทย “ความพยาบาท” โดยแม่วันก็เป็นการแปลจากภาษาอังกฤษ
แต่พอมาในยุคที่เรามีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีอาจารย์มหาวิทยาลัยมากมาย กลับกลายเป็นว่าหนังสือความรู้ที่น่าจะได้รับการแปลก็กลับไม่เคยถูกแปล แล้วคนทั่วไปจะเอาอะไรอ่าน? และยังมีค่านิยมให้อ่านหนังสือต้นฉบับซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ ก็ไม่ผิดอันใดหรอก แต่คนที่อ่านภาษาอังกฤษไม่เก่งจะเอาอะไรอ่าน? และความรู้ก็ไม่ได้มาจากภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ยังมีภาษาอื่นอีกมากที่บรรจุความรู้หลากหลายไว้ เมื่อไม่แปล แล้วคนที่อ่านภาษานั้นไม่ได้ (รวมทั้งผมด้วย) จะเอาอะไรอ่าน? จริงอยู่ การอ่านภาษาต้นฉบับได้อาจจะเข้าใจได้ดีกว่าเพราะคุณภาพการแปลอาจมีปัญหาอยู่ แต่ถ้าไม่ส่งเสริมอย่างจริงจัง แล้วเมื่อไรคุณภาพการแปล ตลอดจนค่าตอบแทนแก่นักแปลจะดีขึ้น และนี่คือสินค้าสาธารณะที่เอกชนทำเองไม่ไหว รัฐบาลต้องส่งเสริม เพราะนี่คือปัญญาของประเทศ
อีกระดับหนึ่งคือ ทัศนคติต่อการใช้บริการงานแปล ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับล่ามเป็นส่วนมาก คนทั่วไปมีแนวโน้มที่จะมองว่าทุกภาษาในโลกนี้คงเหมือนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศ และเข้าใจว่าล่ามหรือนักแปลรู้ทุกเรื่อง เข้าใจทุกจุด พูดได้ทุกอย่าง ใครที่ได้ชื่อว่าเป็นล่ามหรือนักแปลของภาษานั้นจึงได้รับการยกย่อง (ซึ่งกลายเป็นการยัดเยียด) ว่าต้องเก่งกาจลื่นไหลไปเสียหมด แต่ความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้น แต่ละภาษามีความยากง่ายในการเรียนรู้ต่างกัน
เทียบง่ายๆ ด้วยตัวอย่างใกล้ตัวระหว่างภาษาอังกฤษกับญี่ปุ่น ผมอยู่ญี่ปุ่นมาเกือบยี่สิบปีและเคยอยู่อเมริกามาราวหนึ่งปีเท่านั้น ทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกว่าภาษาญี่ปุ่นยากกว่าภาษาอังกฤษมากและเรียนไม่รู้จบ ไม่มีทางที่จะรู้ทุกเรื่องหรือพูดได้ทุกอย่าง แม้จะเป็นล่ามก็ต้องเตรียมตัวใหม่ทุกครั้งที่มีงาน ดังนั้น ถ้าพูดตรงๆ ก็คือ ทางด้านผู้ใช้บริการก็ไม่ควรไว้ใจล่ามมากเกินไป และไม่ควรเห็นแก่ราคาถูกเสมอไป เพราะนั่นหมายถึงคุณภาพที่ต่ำลงด้วย ผมเองก็เคยเป็นผู้ตรวจงานแปล ตรวจไปตรวจมาเหมือนกับเราแปลให้ใหม่ทั้งหมดเพราะคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน
คนญี่ปุ่นชินกับการใช้ล่ามและการแปลมานาน ผู้ใช้บริการจึงมักมีทักษะในการใช้ กล่าวคือ ในกรณีล่าม ผู้พูดต้นทางจะแบ่งประโยคมาอย่างดี ไม่พูดยาวเกินไปนัก และถ้ามีต้นฉบับก็จะส่งให้ล่ามได้เตรียมตัวล่วงหน้า หรือกรณีงานแปล สิ่งใดที่เป็นคำเฉพาะทางและมีรายละเอียดมาก ก็จะแจ้งให้นักแปลทราบศัพท์วงการ เพราะผลประโยชน์สูงสุดขั้นสุดท้ายจะตกอยู่กับต้นทางนั่นเอง ส่วนล่ามมืออาชีพเองก็มักรู้วิธีป้องกันตัว โดยเฉพาะในงานทางการ ล่ามจะยื่นข้อความที่พิมพ์ใส่กระดาษและเคลือบแข็งๆ ไว้ให้แก่ผู้ใช้บริการที่ไม่คุ้นชินกัน โดยมีเนื้อความทำนองว่า “ขออนุญาตทำความเข้าใจกับท่าน หากท่านมีข้อมูลเฉพาะสำหรับงานนี้ ขอความกรุณาแจ้งให้ล่ามทราบเพื่อการสื่อความหมายได้ถูกต้องแม่นยำที่สุด”
งานแปลคืองานที่ใช้คน ซึ่งมีทั้งความยืดหยุ่นและมีข้อจำกัด นี่คือจุดที่บางครั้งคนทั่วไปไม่เข้าใจและมองข้าม ทำให้เกิดอุปสรรคหรือความผิดพลาดระหว่างการแปล วิธีป้องกันในเบื้องต้นเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น คือ เมื่อถึงคราวที่จะต้องใช้บริการล่ามหรือนักแปล ต้องมองว่านี่คือการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่การ ‘ใช้งาน’
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th