ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ระยะนี้ข่าวคราวของ ฮะรุกิ มุระกะมิ (Haruki Murakami) ซึ่งเป็นนักเขียนชาวญี่ปุ่นผู้โด่งดังระดับโลก ค่อยๆ แพร่ออกมาว่ากำลังจะมีผลงานเล่มใหม่ปรากฏสู่สายตานักอ่าน โดยมีชื่อเรื่องว่า “คิชิดันโช โงะโระชิ” (騎士団長殺し; Kishidancho Goroshi) ซึ่งแปลว่า “สังหารหัวหน้ากองอัศวิน” สื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศพากันจับตาดูและนำเสนอข่าวเป็นระยะๆ ผมในฐานะคนที่อยู่ท่ามกลางบรรยากาศนี้ด้วยก็อดคิดไม่ได้ว่า แหม...ทำไมไม่มีนักเขียนไทยที่คนไทยและคนทั่วโลกสนใจอย่างนี้บ้างนะ?
ความโดดเด่นของญี่ปุ่นที่ก้าวไปถึงความเป็นสากลนั้นมีมากมาย จนกลายเป็นมาตรฐานที่หลายประเทศในเอเชียมักหยิบยกมาอ้างอิง และอันที่จริง ส่วนใหญ่แล้วประเทศอื่นมักเน้นความสนใจไปที่พลังทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น แต่มุมหนึ่งซึ่งดูเหมือนหลบเร้นสายตาของคนภายนอกจนแทบไม่มีใครพูดถึงคือ การรับและถ่ายทอดความรู้ผ่านงานแปลของญี่ปุ่น และฮะรุกิ มุระกะมิคือนักเขียนที่เป็นผลผลิตของกระบวนการนั้นทั้งในแง่การนำเข้าและส่งออก แล้วไทยล่ะ?
สิ่งผมกำลังพยายามชี้จุดไม่ใช่เรื่องฮะรุกิ มุระกะมิโดยตรง แต่เป็นเรื่องการแปลในฐานะกลไกที่จะทำให้องค์ความรู้พัฒนาสู่ระดับสากล และหากไทยพัฒนาจุดนี้อย่างเป็นระบบนับแต่วันนี้ เชื่อแน่ว่าในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้าจะมีคนต่างชาติเรียนภาษาไทยมากขึ้น วัฒนธรรมไทยจะมีมูลค่ามากขึ้น และไทยอาจจะมีนักเขียนโด่งดังระดับโลกที่เข้าข่ายได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม
สำหรับญี่ปุ่นนั้น การแปลได้กลายเป็นวัฒนธรรมในการหาความรู้มายาวนาน ผลดีที่ตามมาคือ 1) นี่คือประตูที่เปิดให้คนญี่ปุ่นรู้ว่าโลกภายนอกกำลังคุยกันเรื่องอะไร และโลกที่ไม่เหมือนกับญี่ปุ่นนั้นเป็นอย่างไร อีกทั้งคนที่ไม่ถนัดภาษาต่างประเทศก็ได้สรรหาความรู้ผ่านงานแปลด้วย, 2) วงการแปลพัฒนาอย่างต่อเนื่องและทำให้มีผู้เชี่ยวชาญภาษาต่าง ๆ เพิ่มขึ้น, 3) ส่งผลให้วงการนักเขียนพัฒนาทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหา
ในญี่ปุ่น การจะหาผลงานเด่นดังของโลกที่แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องยากเลย บางผลงานมีมากกว่าหนึ่งสำนวนแปลให้คนรุ่นหลังได้อ่านทำความเข้าใจง่ายๆ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และคนญี่ปุ่นไม่อายที่จะบอกว่าอ่านหนังสือฉบับแปล ไม่ได้อ่านจากภาษาต้นฉบับ โดยเฉพาะหนังสือทางวิชาการ ซึ่งจุดนี้ผมคิดว่าต่างจากไทยพอสมควร สิ่งที่ผมยังจำได้แม่นและดูเหมือนเป็นค่านิยมอย่างหนึ่งในเมืองไทยคือ อาจารย์มหาวิทยาลัยบางท่านบอกว่า “ต้องอ่านเท็กซ์ (หนังสือภาษาอังกฤษ) สิ ถึงจะดี” คงด้วยเหตุนี้หรือเปล่า ถึงได้มีการแปลหนังสือความรู้ทางวิชาการออกมาเป็นภาษาไทยน้อยมากเมื่อเทียบกับที่ญี่ปุ่น
ผมก็เคยยึดถือการอ่าน ‘เท็กซ์’ มาตลอด จนกระทั่งมาเรียนที่ญี่ปุ่น จึงพบว่าประเทศที่เจริญกว่าเราไม่ได้ถือตัวเลยว่าจะต้องอ่านภาษาอังกฤษถึงจะดูดีเป็นผู้มีความรู้ คนญี่ปุ่นคิดว่าเราอ่านเพื่อเอาความรู้ ภาษาหรือตัวหนังสือคือ ‘สื่อ’ ที่จะบอกความรู้ แน่นอนว่าถ้าอ่านหนังสือต้นฉบับได้เลยย่อมดีกว่า แต่ถามว่าทุกคนมีเวลาและความถนัดเท่ากันหรือไม่? คำตอบคือไม่ หากเป็นนักวิชาการ การอ่านจากภาษาต้นฉบับอาจจำเป็นต่อวิชาชีพ แต่หากจำกัดอยู่ภายในวงวิชาการ ความรู้ที่คนทั่วไปพึงได้รู้ด้วยก็อาจจะถูกปิดกั้นอยู่ในวงแคบ ดังนั้น ต่อให้มีนักวิชาการเก่งๆ มากมายแค่ไหน ผมก็ยังเห็นว่าควรแปลหนังสือต่างประเทศเป็นภาษาท้องถิ่นให้มากๆ อยู่ดี
ญี่ปุ่นเองก็คงมองเช่นนี้ การแปลจึงแพร่หลายและกลายเป็นกิจการใหญ่พอสมควรในประเทศนี้ ในกรณีหนังสือวิชาการ คนที่แปลก็คือนักวิชาการญี่ปุ่น ส่วนของไทย ถ้ายกตัวเอย่างเด่นๆ ในฐานะที่ผมเคยเรียนเศรษฐศาสตร์มาก็คือ หนังสือเศรษฐศาสตร์แทบทุกเล่มอ้างอดัม สมิธในฐานะผู้บุกเบิกวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่นักศึกษาก็ไม่มีโอกาสได้อ่านเต็มๆ ว่าอดัม สมิธเขียนอะไรไว้ จะให้นักศึกษาไปค้นคว้าหาอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษโบราณก็คงไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะ ถามว่าจะทำอย่างไรให้คนรู้จักอดัม สมิธภาคภาษาไทย? ก็ต้องให้นักวิชาการช่วยกันแปลนั่นเอง (มี The Wealth of Nations ของอดัม สมิธฉบับภาษาญี่ปุ่นอย่างน้อย 3 สำนวน)
ส่วนในกรณีวรรณกรรมทั่วไป ดูเหมือนมีสำนักพิมพ์ในไทยตีพิมพ์ออกมาเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาคือ หนังสือแปลในไทยแพงมากเมื่อเทียบกับรายได้ของคนไทย ทุกครั้งที่มีโอกาสกลับเมืองไทย ผมจะแวะเข้าร้านหนังสือ และตกใจทุกครั้งที่เห็นราคาหนังสือ เพราะรู้สึกว่าหนังสือไทยทำไมถึงได้แพงอย่างนี้ ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 300 บาทเศษ แต่ราคาหนังสือแปลที่ราคาต่ำกว่า 200 บาทแทบจะหาไม่ได้ และบางทีคุณภาพการแปลก็ยังไม่ดีพอ หรือบางครั้งเป็นหนังสือที่ดังในต่างประเทศ แต่พอแปลขายในไทย กลับไม่เป็นที่รู้จักหรืออยู่ในร้านหนังสือแค่ไม่นาน ในญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นก็บ่นว่าหนังสือแพง แต่เมื่อพิจารณาอย่างเป็นกลางแล้ว ผมเห็นว่าเป็นการบ่นตามประสาผู้บริโภคที่คิดว่ายิ่งถูกยิ่งดีเท่านั้นเอง เพราะด้วยค่าแรงรายชั่วโมง (ไม่ใช่รายวัน) ประมาณ 1,000 เยน (ราว 300 บาท) ย่อมซื้อหนังสือทั่วไปไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมแปลหรือวรรณกรรมญี่ปุ่นราคาราว 1,000-2,000 เยนได้สบายๆ
บางคนอาจมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน แต่จริงๆ แล้วนี่คือศักยภาพในการแข่งขันระยะยาวของประเทศด้านภูมิปัญญา เพราะหากเรารู้ไม่ทันโลก เราจะพัฒนาตัวเองไม่ทัน และด้วยกลไกของทุนนิยมซึ่งซับซ้อนขึ้นทุกวัน สำหรับประเทศไทย ดูเหมือนภาคเอกชนอ่อนแรงมากในการขับเคลื่อน และเนื่องจากภูมิปัญญาที่มาในรูปแบบของงานแปลคือสินค้าสาธารณะ รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญมากขึ้น ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าการแปลคืองานที่ต้องใช้ความอุตสาหะอย่างสูง ทั้งเสียเวลาและเสียพลังงาน แต่คนแปลก็ต้องกินต้องใช้ ฉะนั้น จึงควรมีการให้เงินสนับสนุนจากรัฐบาล (เข้าใจว่ามีบ้างแล้ว เช่น ผ่านทาง สสส. แต่ก็ยังน้อยมาก) หรือการหาตลาดให้แก่งานแปลทั้งเชิงวิชาการและวรรณกรรมทั่วไป โดยอาจให้ผ่านมหาวิทยาลัยหรือสำนักพิมพ์เอกชน
ย้อนกลับมาที่มุระกะมิ นักเขียนญี่ปุ่นคนนี้อ่านวรรณกรรมต่างประเทศมาก อนุมานได้เลยว่าอิทธิพลเหล่านั้นก็แทรกซึมเข้าไปในงานเขียนของตัวเอง และผมคิดว่าปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้มุระกะมิได้รับการยอมรับในระดับสากลมีอย่างน้อย 2 ประการ คือ เนื้อหาในงานของมุระกะมิมีลักษณะร่วมของมนุษย์ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนญี่ปุ่นเท่านั้น เช่น ความเหงา การค้นหาตัวเอง สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการตกผลึกทางความคิดที่ได้จากการอ่านวรรณกรรมหลากหลาย จนสร้างรูปแบบการเขียนที่ฉีกแนวไปจากนักเขียนญี่ปุ่นคนอื่นๆ ได้ และคนอ่านที่อยู่ในวัฒนธรรมอื่นก็อ่านงานของมุระกะมิแล้วเข้าถึงได้ง่าย
อีกประการหนึ่ง คือ ประโยคภาษาญี่ปุ่นของมุระกะมิแปลเป็นภาษาต่างประเทศได้ง่าย โครงสร้างของประโยคภาษาญี่ปุ่นคือ “ประธาน + กรรม + กริยา” เช่น หากจะพูดว่า “เขากินข้าว” ภาษาญี่ปุ่นจะเรียงว่า “เขา + ข้าว + กิน” และเมื่อจะขยายคำนาม ส่วนขยายจะอยู่หน้าคำนาม นั่นหมายความว่า กว่าจะรู้ว่าใครทำอะไร ต้องอ่านให้จบประโยคเสียก่อน และในขณะที่นักเขียนญี่ปุ่นแนวขนบมักเขียนประโยคยาว โดยมีส่วนขยายยาวอีก ประกอบกับโครงสร้างอื่นที่ซับซ้อน เช่น ตัวอักษรคันจิ เมื่อจะแปลก็ต้องแตกประโยคให้เล็ก ตลบโครงสร้างกลับ และสืบค้นความหมายของตัวอักษรคันจิ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เสียเวลาทั้งนั้น แต่ประโยคของมุระกิมะมักเป็นประโยคที่ไม่ยาวนัก โครงสร้างไม่ซับซ้อนเท่าไร กระบวนการเรียบเรียงเป็นภาษาต่างประเทศจึงน่าจะใช้เวลาน้อยกว่า และมุระกะมิเองก็ส่งเสริมการแปลงานของตนเป็นภาษาต่างประเทศโดยไม่ยึดติดกับรูปแบบการแปลคำต่อคำเท่าไรนัก
ในด้านการยอมรับนั้น ผลงานของมุระกะมิผ่านการพิสูจน์แล้วว่ามีแฟนๆ นักอ่านทั่วโลก และเป็นตัวเก็งสำหรับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมมาตลอดหลายปีนี้ ผลงานก็มีฉบับแปลมากมายรวมทั้งภาษาไทย และยังเป็นผู้แปลผลงานภาษาอังกฤษของนักเขียนคนอื่นเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วย ผมอ่านผลงานมุระกะมิแค่ไม่กี่เรื่อง และต้องยอมรับตรงๆ ว่าไม่ถูกจริตกับคนอ่านอย่างผมแม้เป็นนักเขียนดังก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นผลงานที่ไม่ดี เพียงแต่เป็นความชอบส่วนบุคคล
มองกันว่า หากจะมีนักเขียนญี่ปุ่นได้รางวัลโนเบลอีกสักคน หลังจากมีมาแล้ว 2 คน มุระกะมิคือคนถัดไป ในการมอบรางวัลโนเบลนั้น มีขั้นตอนการเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมขึ้นมาจำนวนหนึ่ง เป็นการเสนอโดยผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเนล ศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรม การจะทำตัวให้ได้รับการเสนอชื่อนั้น อย่างน้อยก็จะต้องมีผลงานที่แปลเป็นภาษาอังกฤษออกมามากในระดับหนึ่งเพื่อให้เป็นที่จดจำ แต่ในกรณีของไทย วรรณกรรมที่แปลเป็นภาษาอังกฤษยังมีน้อยมาก มุระกะมิคืออีกตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการแปลส่งออกของญี่ปุ่น ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นผลมาจากกระบวนการแปลนำเข้าที่มีมาช้านาน โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงปรับประเทศให้ทันสมัยในยุคเมจิ (明治; Meiji; 1868-1912)
หากไทยจะอ้างอิงญี่ปุ่นเป็นแนวทางในการพัฒนา ผมคิดว่าเราไม่ควรมองข้ามด้านวรรณกรรม และสิ่งที่ประเทศเราน่าจะทำคือ ส่งเสริมการแปล ส่งเสริมตลาดหนังสือ สร้างห้องสมุดชุมชนให้ทั่วถึงและซื้อหนังสือเข้าอย่างสม่ำเสมอ และต้องส่งเสริมการส่งออกวรรณกรรมไทย สิ่งเหล่านี้ก็เหมือนกับการศึกษา คือต้องใช้เงินและเป็นการลงทุนระยะยาว แม้เรื่องทางภูมิปัญญาเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ยากและส่วนใหญ่ใช้เวลานานกว่าจะทำให้กลายเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ แต่ก็ควรตระหนักว่านี่คือศักยภาพและศักดิ์ศรีของประเทศที่น่าจะส่งเสริม แล้ววันหนึ่งเราอาจมีนักเขียนไทยที่นักอ่านทั่วโลกรู้จักผ่านภาษาต่างๆ อย่างที่มุระกะมิกำลังเป็น
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th