“โมโมเอะ ยามากุจิ” นักร้องสาวญี่ปุ่นซึ่งโด่งดังสุดขีดเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว เป็นตำนานศิลปินหญิงที่พัฒนาตัวเองจากวัยรุ่นแรกแย้ม ไปสู่หญิงสาวที่หาญกล้าท้าทายวัฒนธรรมผู้ชายเป็นใหญ่ของสังคมญี่ปุ่น และชาวญี่ปุ่นยังคงจดจำเธอได้จนถึงทุกวันนี้
เมืองโยโคสุกะเป็นบ้านเกิดของ “โมโมเอะ ยามากุจิ” นักร้องและนักแสดงสาวที่หากเป็นยุคปัจจุบัน เธอก็คงเข้าข่าย “ไอดอล” ความดังของเธอตั้งแต่เมื่อ 40 ปีที่แล้วไม่มีใครเทียบเคียงได้ แต่เพียงเวลา 8ปีที่โลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิง โมโมเอะได้เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของตัวเองอย่างชัดเจนเป็น “ความร้อนแรงที่แฝงด้วยความเยือกเย็น” ไม่แตกต่างจากเมืองโยโคสุกะ ที่เป็นฐานทัพของสหรัฐอเมริกา เป็นพื้นที่ผสมผสานทั้งความรักและความชัง
หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลก เมืองโยโคสุกะ ริมอ่าวโตเกียว ถูกใช้เป็นสถานที่พำนักของเหล่าทหารที่กลับจากการรบ ที่นี่จึงไม่เพียงได้รับอิทธิพลอย่างมากจากวัฒนธรรมตะวันตกที่กองกำลังสัมพันธมิตรที่เข้ามาควบคุมประเทศญี่ปุ่นหลังสงคราม แต่ยังผสมผสานไปด้วยความผิดหวัง,ท้อแท้ และเหนื่อยล้าของเหล่าทหารผ่านศึก ผู้คนที่เติบโตจากที่นี่จึงมีตัวตนทั้งในด้านสว่างและด้านมืด ไม่ว่าจะเป็น อดีตนายกฯจุนอิจิโค โคะอิสุมิ, ฮิเดะโตะ มาสึโมะโตะ นักร้องนำวง X-Japan ผู้ล่วงลับ รวมทั้งโมโมเอะ ยามากุจิ
โมโมเอะ ยามากุจิ เข้าสู่วงการบันเทิงตั้งแต่อายุ 13 ปีหลังจากประกวดร้องเพลงทางโทรทัศน์ ในผลงานซิงเกิลแรกเธอปรากฏตัวในภาพของเด็กนักเรียนวัยใสไร้เดียงสา เหมือนกับ “ไอดอล” ทุกวันนี้ แต่เธอได้ดังเป็นพลุแตกในซิงเกลที่สอง Aoi Kajitsu ที่มีเนื้อเพลงแนววาบหวามว่า “ฉันยอมให้ทำทุกสิ่งหากใจคุณปรารถนา แม้โดนนินทาว่าเป็นลูกสาวไม่รักดีก็ไม่เป็นไร”
ในผลงานลำดับที่ 5 Hito Natsu no Keiken ก็มีเนื้อเพลงในแนวเดียวกันที่ว่า “ฉันจะมอบสิ่งสำคัญที่สุดของเด็กสาวให้คุณ” ซึ่งทำให้บรรดานักข่าวตะล่อมถามเธอว่า “สิ่งสำคัญ” ในเนื้อเพลงนั้นคืออะไร? ซึ่งโมโมเอะก็ได้ตอบอย่างชาญฉลาดว่าคือ “ความจริงใจ”
จาก “ไอดอล” ถึงสาว “กร้านโลก” ท้าทายผู้ชาย
หลังจากโด่งดังในผลงานช่วง 3 ปีแรก โมโมเอะตัดสินใจสลัดภาพเด็กสาววัยใส กลายเป็นหญิงสาวที่เข้มแข็งที่หาญกล้าลุกขึ้นท้าทายผู้ชาย เนื้อเพลงก็แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจน เช่น เพลง Imitation Gold ที่เปรียบเทียบผู้ชายญี่ปุ่นที่พยายามย้อมผมสีทอง ทำตัวตามแบบฝรั่งตะวันตก แต่แท้จริงแล้วก็เป็นได้ “ทองปลอม”
ในเพลง Playback Part 2 สร้างภาพเธอเป็นสาวร้อนแรงขับรถปอร์เช่สีแดง ที่ท้าคารมกับหนุ่มที่ขับรถมาเฉี่ยวชนบนถนนอย่างไม่ลดราวาศอก แตกต่างจากสาวญี่ปุ่นในยุคนั้นที่เป็นได้แค่ “ตุ๊กตาหน้ารถ”
เพลง Zettai Zetsumei ในปี 1978 ก้าวไปอีกขึ้นเมื่อพูดถึง “เมียน้อย” ที่ไม่ยอมทนกินน้ำใต้ศอกอีกต่อไป เรียกร้องให้ผู้ชายเลือกใครสักคนบนความสัมพันธ์สามเส้า เพลงหลายเพลงบอกว่า ผู้หญิงอย่างเธอไม่ต้องง้อผู้ชาย เพราะ “ผู้ชายไม่ได้มีแค่คนเดียว” ซึ่งไม่เคยมีนักร้องหญิงคนไหนในญี่ปุ่นยุคนั้นกล้าหาญร้องเพลงเช่นนี้
ดร.ฮิโรมุ ชิมิซุ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต วิเคราะห์ว่า โมโมเอะ ยามากุจิ เป็นสัญลักษณ์ของการปลดปล่อยผู้หญิงญี่ปุ่นจากสังคมชายเป็นใหญ่ เธอใช้ผลงานเพลงท้าทายผู้ชายตั้งแต่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีการศึกษาเรื่อง “เฟมินิสต์” หรือ “สตรีนิยม” ในญี่ปุ่นเสียอีก
ภาพหญิงผู้เข้มแข็งของโมโมเอะไม่ได้เป็นบทบาทสมมุติของศิลปิน แต่ในชีวิตจริงเธอก็เป็นเช่นนั้น เธอได้ปฏิเสธพ่อแท้ๆ ที่เคยทอดทิ้งเธอและแม่, ถ่ายแบบชุดว่ายน้ำ หรือแม้แต่การเขียนหนังสือเล่าถึงชีวิตรักและเซ็กส์ครั้งแรกกับแฟนหนุ่ม
ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น ระบุว่า เพียงเวลา 8ปีที่โลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิง โมโมเอะได้เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของเธอถึง 3 รูปลักษณ์
เริ่มแรกจากเด็กสาววัยกระเตาะที่ขายความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาให้กับชายหนุ่มหรือเฒ่าหัวงู ไปสู่หญิงสาวในเมืองใหญ่ที่พึ่งพาตัวเองได้และกล้าท้าทายผู้ชาย แต่ท้ายที่สุดก็บอกลาวงการบันเทิง โมโมเอะได้เปลี่ยนตัวเองไปสู่การเป็น “หญิงสาวผู้เป็นแม่แบบญี่ปุ่น”
จากเมียเป็นแม่ สูงสุดคืนสู่สามัญ
ผลงานช่วงท้ายก่อนอำลาวงการของโมโมเอะ ได้พลิกโฉมอีกครั้ง เช่น เพลง Akizakura ที่บอกว่า “ถึงฉันที่จะแต่งงานออกเรือนในวันพรุ่งนี้จะเจอกับความยากลำบาก แต่ฉันก็สามารถเปลี่ยนเวลาเหล่านั้นให้เป็นเรื่องขำ”
เพลง Iihi tabadachi ที่ว่า “ที่ไหนบนแผ่นดินญี่ปุ่นยังมีคนคอยฉันอยู่ ออกเดินทางในวันสดใส ตามหาเมฆปุยทั่วท้องฟ้า”
โมโมเอะ ยามากุจิ ยอมทิ้งความโด่งดัง อำลาวงการบันเทิงในวัยเพียง 21ปี โดยแต่งงานกับนักแสดงหนุ่ม "โทโมะคาซุ มิอุระ" และไม่เคยหวนคืนสู่เส้นทางมายาอีกเลย เธอถอนตัวในเวลาที่รุ่งโรจน์ที่สุด และไม่ว่าชาวญี่ปุ่นจะจดจำเธอในแบบไอดอลวัยใส หรือดาราสาวเซ็กซี่ หรือแม่ผู้มีวุฒิภาวะ “โมโมเอะ ยามากุจิ” ก็เป็นศิลปินสาวที่ญี่ปุ่นไม่เคยมีมาก่อน และเป็น “ผู้มาก่อนกาล” บุกเบิกภาพลักษณ์ที่ก้าวหน้าของสาวญี่ปุ่นในยุคนี้.
ข้อมูลบทความสรุปจากกิจกรรมเสวนา "J-Talk: Diggin’ Culture #01 โยโคสุกะ : ญี่ปุ่นภายใต้เงาของชาวอเมริกัน" จัดโดย เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ