ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
แฟนการ์ตูนชาวไทยอาจไม่ได้อิ่มเอมในอารมณ์เช่นทุกวันนี้หากเมื่อ 70 ปีก่อนนักวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ เทะซุกะ โอะซะมุ ไม่ได้รับโอกาสให้เผยแพร่ผลงานแรกของตัวเองออกสู่สายตาคนอ่าน
‘โอกาส’ คือสิ่งที่มีค่าเสมอและสามารถเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ได้เหนือความคาดหมาย และก่อนจะเป็นมืออาชีพ ใคร ๆ ก็ต้องเป็นมือสมัครเล่นมาทั้งนั้น ความมุ่งมั่นกับโอกาสคือเครื่องมือสำคัญสำหรับทุกวงการ เช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการการ์ตูนญี่ปุ่น
ครั้งนั้น เทะซุกะ โอะซะมุในวัย 17 ปีได้รับโอกาสให้เผยแพร่ผลงานการวาดการ์ตูนของตนในหนังสือพิมพ์ ผู้หญิงคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในละแวกกบ้านและทำงานกับหนังสือพิมพ์ไมนิชิ ได้แนะนำช่องทางให้ จนเด็กหนุ่มเทะซุกะได้นำผลงานของตัวเองลงตีพิมพ์ใน “หนังสือพิมพ์โชโกะกุมิง” (少国民新聞;Shōkokumin-shinbun) ฉบับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 นั่นคือปีถัดมาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ หนังสือพิมพ์นี้ยังเป็นพื้นที่เผยแพร่ผลงานของนักเขียนการ์ตูนชื่อดังของญี่ปุ่นหลายคนต่อมาอีกด้วย อย่าง Fujiko Fujio ผู้เขียน “โดราเอมอน”, Matsumoto Leiji ผู้เขียน “รถด่วนอวกาศ 999” เป็นต้น
ชื่อ “เทะซุกะ โอะซะมุ” (Tezuka, Osamu) เมื่อออกเสียงเช่นนี้ก็ถือว่าตรงตามลำดับนามสกุลจริง-ชื่อจริง แต่เมื่อเขียนเป็นตัวอักษรคันจิตามที่ใช้ในวงการการ์ตูนว่า手塚治虫 ถือว่าเป็นนามปากกา เพราะตัวอักษรจริง ๆ ของชื่อตามการแจ้งเกิดคือ 手塚治 แม้ออกเสียงว่า “เทะซุกะ โอะซะมุ” ได้ทั้งคู่ แต่หากสังเกตให้ดี จะพบตัวอักษร 虫 (mushi) ซึ่งแปลว่า “แมลง” ในนามปากกา ที่เป็นเช่นนี้เพราะเจ้าตัวชอบแมลง และชอบวาดรูปแมลงมาตั้งแต่เด็ก วันหนึ่ง เมื่อได้รู้จัก “โอะซะมุชิ” (オサムシ; osamushi) ซึ่งก็คือเต่าทองชนิดหนึ่ง และเห็นว่าเสียงพ้องกับชื่อของตัวเอง จึงเพิ่มตัวอักษร 虫 เข้าไปที่ชื่อจริงเป็น 治虫 (osamushi) แต่ให้คงเสียงอ่านตามชื่อตัวว่า “โอะซะมุ”
เทะซุกะ โอะซะมุ เกิดที่จังหวัดโอซะกะ เติบโตที่เมืองทะกะระซุกะในจังหวัดเฮียวโงะ (เมืองเด่นของจังหวัดนี้ ได้แก่ โกเบ) ที่อยู่ติดกัน ตระกูลเทะซุกะเป็นแพทย์มาหลายรุ่น เทะซุกะ โอะซะมุเองก็เรียนแพทย์จนจบ และมีวุฒิการศึกษาเพื่อประกอบอาชีพนี้ได้ แต่เลือกเส้นทางการเป็นนักเขียนการ์ตูนจนโด่งดังมาถึงทุกวันนี้
เลข 0 กับเลข 1 ในฐานะจำนวน ดูเหมือนห่างกันไม่มาก แต่ในแง่โอกาสในโลกแห่งความเป็นจริง การได้เริ่มก้าวที่ 1 จากความไม่มีอะไรเลยนั้นต่างกันมหาศาล เทะซุกะเริ่มย่างด้วยก้าวเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ในวัยที่ถือว่ายังเด็กมากด้วย “การ์ตูน 4 ช่อง” เรื่อง “ไดอารีของมาจัง” (ชื่อญี่ปุ่น คือマアチャンの日記帳 ; Māchan no nikkichō) และลงต่อเนื่องมาอีกช่วงหนึ่ง
เมื่อถึงวันที่การ์ตูนจะออกสู่สายตาคนอ่าน เนื่องจากอยากเห็นผลงานของตัวเองเร็ว ๆ เทะซุกะจึงออกจากบ้านแต่เช้า รีบเดินทางจากเมืองทะกะระซุกะไปยังโอซะกะเพื่อซื้อหนังสือพิมพ์ และจากจุดนั้น อีกประมาณ 10 ปีต่อมา เทะซุกะก็กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการนี้ จนในที่สุดก็ได้รับการยกย่องว่าเป็น “เทพแห่งมังงะ” หรือ “บิดาแห่งมังงะยุคใหม่”
หากอิงแนวโน้มอายุขัยของชายญี่ปุ่นในปัจจุบัน (2558) ที่อยู่ยืนยาวถึงราว 81 ปี ก็ถือได้ว่าเทะซุกะผู้ถึงแก่กรรมในวัย 60 ปีเมื่อ พ.ศ. 2532 นั้นอายุไม่ยืนนัก แต่ตลอดช่วงเวลา 4 ทศวรรษเศษของการทำงานในฐานะนักวาดการ์ตูน เทะซุกะมีผลงานมากถึง 500 เรื่อง และจากปีเปิดตัวจนถึงปีนี้ ผ่านมา 7 ทศวรรษ แม้เทะซุกะไม่อยู่แล้ว แต่ผลงานและแฟน ๆ ก็ยังมีอยู่ทั่วโลก
เทะซุกะไม่ได้ดังด้วยงานเปิดตัว แต่ผลงานที่ทำให้ชื่อเทะซุกะ โอะซะมุเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือ การ์ตูนเรื่องถัดมา คือ Shin Takarajima (新宝島—เกาะสมบัติใหม่) ซึ่งเป็นการ์ตูนที่ได้ตีพิมพ์เป็นเล่มเรื่องแรกเมื่อ พ.ศ. 2490 เรื่องนี้หนา 192 หน้า แต่เพราะความสนุกตื่นเต้น คนอ่านจึงไม่ค่อยรู้สึกว่าหนา ราคาขายตอนนั้นคือ 30 เยน และตีพิมพ์ออกมาถึง 4 แสนเล่ม ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดใหม่ ๆ กลายเป็นการ์ตูนเบสต์เซลเลอร์ในยุคนั้น และทำให้เทะซุกะเริ่มก้าวขึ้นสู่การเป็นซูเปอร์สตาร์ด้วย
ใครที่เป็นนักอ่านอยู่แล้ว อาจจะสะดุดใจกับชื่อของผลงานนี้ เพราะฟังคล้ายกับ Treasure Island (เกาะมหาสมบัติ) ถูกต้องแล้ว! เทะซุกะได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมเยาวชนเรื่องดังกล่าวของโรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน นักเขียนชาวสกอตแลนด์นั่นเอง สิ่งที่ผมพยายามสื่อ ณ จุดนี้คือ การหาต้นแบบเพื่อนำมาจุดประกายสร้างสรรค์ให้แก่งานของตัวเองมีความสำคัญอย่างยิ่ง คำว่า “ต้นแบบ” นั้น อาจเรียกว่า “แรงบันดาลใจ” หรือ “ตัวอย่าง” หรือ “แนวทาง” หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ใช่การลอก คนญี่ปุ่นรู้จักปรับสิ่งรอบตัวให้มีเอกลักษณ์แบบญี่ปุ่นมาเนิ่นนานแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ในวงการการ์ตูน
ในกรณีของเทะซุกะ กว่าจะได้เป็น ‘เทพ’ ก็ต้องเรียนรู้จากผู้ที่เป็นมาก่อน และบังเอิญว่า ‘เทพตัวอย่าง’ ที่ว่านั้นก็ไม่ใช่ญี่ปุ่นเสียด้วย วัตถุดิบของเทะซุกะจึงเป็นต้นทุนผสมผสานที่ช่วยให้เกิดผลงานแปลกใหม่ เทพที่มีความสำคัญต่อเทะซุกะมาก คือ วอลต์ ดิสนีย์ เทะซุกะได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนของวอลต์ ดิสนีย์เต็ม ๆ เขาดูเรื่องสไนว์ไวต์หลายสิบครั้ง ดูเรื่องกวางน้อย...แบมบี้ 80 ครั้ง จนจำได้ทุกฉาก และในการวาดการ์ตูนของตัวเอง เทะซุกะก็มักวาดให้มีลักษณะกลม ๆ และน่ารัก มีกลิ่นอายของดิสนีย์
นอกจากนี้ ในฐานะวัตถุดิบของงาน เทะซุกะซึ่งเป็นคนที่ดูหนังปีละ 300 กว่าเรื่อง ก็นำเทคนิคจากหนังมาใช้ในการวาดการ์ตูนของตัวเองด้วย กล่าวคือ เทะซุกะจะเน้นให้ตัวละครออกท่าทาง แสดงการเคลื่อนไหว มีปฏิสัมพันธ์ มากกว่าที่จะเน้นบทพูด คนอ่านจึงรู้สึกว่า ‘ดู’ การ์ตูน มากกว่า ‘อ่าน’ การ์ตูน และสิ่งที่ถือได้ว่าเทะซุกสร้างมิติใหม่ให้แก่การ์ตูนญี่ปุ่นก็คือ การวางพล็อตเรื่องที่เข้มข้นจริงจัง จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “มังงะเล่าเรื่อง” หรือ Story manga ซึ่งอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เป็นนิยายที่ดำเนินเรื่องด้วยภาพ มีความลุ่มลึก บางครั้งหักมุม หรือถึงระดับจัดหนัก (เทะซุกะถึงขนาดนำเรื่องราวของพระพุทธเจ้ามาตีความใหม่และเขียนเป็นการ์ตูนเรื่อง “บุดดะ” [พุทธะ] เลยทีเดียว) นักวาดการ์ตูนรุ่นหลังมากมายต่างยอมรับว่าได้รับอิทธิพลจากเทะซุกะ โอะซะมุ
ผลงานเด่น ๆ ของเทะซุกะมีมากมาย ส่วนหนึ่งที่รู้จักกันดีในหมู่นักอ่านชาวไทย เช่น เจ้าหนูปรมาณู วิหคเพลิง แบล็กแจ็ก สิงโตขาวคิมบะ ในทศวรรษ 1950 เทะซุกะเริ่มจ้างผู้ช่วย หลายคนในจำนวนนั้น ต่อมากลายเป็นนักวาดการ์ตูนชั้นแนวหน้า และเทะซุกะก็ฝันมาโดยตลอดว่า อยากจะสร้างการ์ตูนเป็นภาพเคลื่อนไหวให้มีคุณภาพอยู่ในระดับเดียวกับของวอลต์ ดิสนีย์
แม้ไม่สามารถทำแบบดิสนีย์ได้เพราะข้อจำกัดด้านงบประมาณในวงการการ์ตูนของญี่ปุ่น แต่ในต้นทศวรรษ 1960 เทะซุกะก็ได้เสนอความคิดว่าจะสร้างการ์ตูนโทรทัศน์ความยาว 30 นาทีโดยดัดแปลงจากเรื่องเจ้าหนูปรมาณูของตน ทางบริษัทผู้ลงทุนบอกว่า ต้นทุนสำหรับการ์ตูนความยาวขนาดนั้นอาจจะสูงเกินไป แต่เทะซุกะบอกว่าจะสร้างได้ด้วยงบประมาณตอนละ 500,000 เยน ซึ่งถือว่าต่ำมาก และปรากฏว่าการ์ตูนเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม กลายเป็นการ์ตูนคู่บารมีของเทะซุกะไป
เทะซุกะโด่งดังถึงขีดสุดในทศวรรษ 1950 และ 1960 เขาเป็นคนบ้างาน ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ในแต่ละเดือนผลิตการ์ตูนหลายสิบหน้า นอนวันละแค่สองสามชั่วโมง ด้วยความที่เป็นนักเขียนขายดี เหล่าบรรณาธิการของที่ต่าง ๆ จึงพากันมาเฝ้ารอต้นฉบับ และด้วยความเป็นคนละเอียด บางครั้งเทะซุกะก็ถึงกับฉีกต้นฉบับที่วาดเสร็จแล้วต่อหน้าต่อตาบรรณาธิการ ในทางกลับกัน ด้วยความทุ่มเท ศึกษาลึกซึ้ง ทำจริง ทำมากกว่าคนอื่น และทำให้คนอื่นเห็นเป็นตัวอย่าง เทะซุกะจึงมีทั้งผลงานและบารมี กลายเป็นที่กล่าวขวัญมาจนถึงทุกวันนี้ รวม 70 ปีนับตั้งแต่เปิดตัว
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th