ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
นักวาดการ์ตูนของไทยส่วนใหญ่ มองลายเส้น “มังงะ” ของญี่ปุ่นเป็นครู จึงมีบ่อยครั้งที่มองไม่ออกเลยว่า ภาพการ์ตูนที่ปรากฏบนหน้าปกหนังสือในท้องตลาดคือลายเส้นของคนไทย แต่ชวนให้นึกถึงมังงะของญี่ปุ่นมากกว่า และหากมองในแง่ของพัฒนาการข้ามวัฒนธรรมในกรณีที่เราหวังจะนำความสำเร็จของคนอื่นมาประยุกต์เป็นของตนบ้าง ย่อมกล่าวได้ว่าเป็นการหยิบยืมในแบบที่ไปไม่สุด ซึ่งอาจเป็นเพราะเรายังมองไม่ทะลุว่าทำไมการ์ตูนญี่ปุ่นจึงน่าสนใจ นี่เป็นประเด็นหลักที่ “ญี่ปุ่นมุมลึก” พยายามจะย้ำในครั้งนี้
ปัจจุบัน ถ้าเข้าไปเดินดูในร้านหนังสือของไทย จะเห็นหนังสือนวนิยายวัยรุ่นที่มีปกเป็นลายการ์ตูนลงสีสวยงามอยู่มากมาย ถ้าเป็นบทประพันธ์ไทย ปกเหล่านั้นคือฝีมือของนักวาดชาวไทย และในจำนวนนั้น มีไม่น้อยที่จัดได้ว่าฝีมือเทียบเท่าระดับสากล บางเล่มดูดีกว่าฝีมือของฝรั่งที่ปรากฏเป็นภาพปกของบทประพันธ์แปลด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่าฝีมือการวาดการ์ตูนของคนไทยก้าวมาไกล หรือแม้แต่ในการประกวดการ์ตูนจากต่างประเทศซึ่งจัดในญี่ปุ่นมาหลายปี ก็เคยมีผลงานของคนไทยได้รับรางวัลหลายครั้ง สิ่งนี้ตอกย้ำว่าฝีมือการสร้างสรรค์การ์ตูนของคนไทยพัฒนาขึ้นมาก
ในเมื่อฝีมือการวาดของคนไทยมิได้ด้อยไปกว่าระดับสากล คำถามคือ มีโอกาสไหมที่การ์ตูนโดยฝีมือคนไทยจะก้าวไปสู่ระดับโลกอย่างเช่นการ์ตูนญี่ปุ่นบ้าง คำตอบคือ “มี” แต่คำถามต่อไปคือ “จะต้องทำอย่างไร?” คำถามนี้นำไปสู่หัวใจสำคัญ ซึ่งเป็นแกนหลักที่ทำให้การ์ตูนญี่ปุ่นได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง และเป็นสิ่งที่นักวาดการ์ตูนไทยสนใจน้อยกว่าเรื่องลายเส้น สิ่งนั้นก็คือ “เนื้อเรื่อง”
ในวงการการ์ตูนญี่ปุ่น ว่ากันว่าการ์ตูนญี่ปุ่นจะไม่เป็นดังเช่นทุกวันนี้หากไม่มีเทะซุกะ โอะซะมุ ซึ่งผมคงได้ลงรายละเอียดต่อไปเมื่อประมวลประวัติการ์ตูนญี่ปุ่นตลอดจนคุณูปการที่นักประพันธ์การ์ตูนผู้นี้สร้างไว้ อย่างไรก็ตาม ในขั้นนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ เทะซุกะ โอะซะมุเคยกล่าวไว้ว่าตนไม่ค่อยมีความสามารถในการสร้างสรรค์การ์ตูนที่เน้นตัวละคร แต่ถนัดที่จะเน้นเนื้อเรื่องมากกว่า
“เนื้อเรื่อง” หมายรวมถึงโครงเรื่องหลัก และโครงเรื่องรองที่ซอยยิบย่อยออกเป็นตอน ๆ อีกมากมายในกรณีที่เป็นการ์ตูนเรื่องยาว ซึ่งแต่ละช่วงแต่ละปมจะปูทางให้มีตัวละครใหม่ๆ เกิดขึ้นหรือหายไปตามรายทาง และเพราะการเน้นเนื้อเรื่องนี่เอง แนวทางการสร้างสรรค์การ์ตูนของเทะซุกะ โอะซะมุจึงได้รับความชื่นชมและตรึงใจนักอ่านมาหลายสิบปีนับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
คำว่า “เนื้อเรื่อง” ก็สอดคล้องกับวัฒนธรรม “การเล่าเรื่อง” ของญี่ปุ่นที่มีมาแต่โบราณด้วย เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบการเล่าไปตามยุคสมัยเท่านั้น ก่อนอื่น เมื่อมองย้อนถึงที่มาของการเน้นเนื้อเรื่อง จะพบว่าญี่ปุ่นทำเช่นนั้นมานานแล้วในสื่ออื่นนอกจากการ์ตูน เช่น ศิลปะการเล่าเรื่องแบบสด ๆ ที่เรียกว่า “โคดัง” (講談;kōdan) ในสมัยโบราณ, หรือในสมัยที่ละครโน (能;Nō) เป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง โดยเริ่มแสดงมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 จนคลายความนิยมลงหลังจากรัฐบาลโชกุนถูกยึดอำนาจกลับไปและญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่การปฏิวัติเมจิ 1868 (พ.ศ. 2411) นั้น สิ่งที่เป็นเรื่องราวในฐานะวรรณกรรมก็ได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นละครโนมากมาย, หรือการเล่าเรื่องประกอบภาพกระดาษซึ่งเรียกว่า “คะมิชิไบ” (紙芝居;kamishibai) ซึ่งปัจจุบันก็ยังปรากฏแพร่หลาย เหล่านี้คือ ศิลปะการแสดงทั้งนั้น เพียงแต่ต่างกันที่รูปแบบ
แล้ว “มังงะ” ซึ่งเป็นเรื่องเล่าแนวใหม่เพื่อความบันเทิงก็เริ่มปรากฏขึ้น ต่อมาก็เป็นรูปเป็นร่างเด่นชัดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นเรื่องยาว และหากจะถือว่าเป็นวรรณกรรมด้วย ก็ไม่ใช่การกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด การที่มังงะกลายเป็นวัฒนธรรมโดดเด่นอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นนั้น โอะซะมุ ฮะชิโมะโตะ นักเขียนชาวญี่ปุ่น (橋本治;Hashimoto, Osamu) กล่าวว่า “คงเป็นเพราะคนญี่ปุ่นมองว่าเรื่องเล่าคือศิลปะการแสดงอย่างหนึ่ง”
ตามข้อสันนิษฐานนี้ มังงะก็คือเนื้อเรื่องที่เล่าอย่างมีศิลปะนั่นเอง โดยเล่าด้วยคำและภาพเพื่อให้เข้าถึงเนื้อเรื่องได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในจุดนี้ย่อมเห็นได้ว่า นักวาดการ์ตูนไม่ใช่สักแต่มีฝีมือในการวาด แต่ต้องมีเนื้อเรื่องที่จะวาดด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบว่า ปัจจุบันนักวาด (หรือนักแต่ง) การ์ตูนชื่อดังของญี่ปุ่นมักมีผู้ช่วยมาคอยวาดภาพให้ตามเนื้อเรื่องที่ตัวเองคิด ในการแปลงเรื่องราวให้เป็นศิลปะการแสดงแขนงใหม่อันได้ชื่อว่ามังงะนั้น “เนื้อเรื่อง” จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ส่วนศิลปะการวาดคือองค์ประกอบอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ
นอกจากนี้ ในประเด็นว่าด้วยเนื้อเรื่อง หากนักอ่านสังเกตให้ดี จะพบแนวโน้มว่า ในการ์ตูนญี่ปุ่น เนื้อเรื่องจะได้รับ ‘สปอตไลต์’ แทนที่จะเป็นตัวละครตัวใดตัวหนึ่งตลอดเรื่อง เช่น หากไม่นับหนังแปลงร่างทั้งหลาย การ์ตูนญี่ปุ่นประเภทซูเปอร์ฮีโร่อย่างแบทแมน สไปเดอร์แมน หรือล่าสุดที่ทั่วโลกเริ่มคุ้นชื่อคือดอกเตอร์สเตรนจ์ของฝั่งอเมริกานั้นแทบไม่เป็นที่จดจำ แน่นอนว่าในการ์ตูนญี่ปุ่นก็มีตัวเอก แต่มักเป็นตัวเอกที่มีข้อบกพร่องและมีเพื่อนพ้องคอยช่วยเหลือ เมื่อเรื่องดำเนินไป ตัวละครจะผลัดกันได้รับ ‘สปอตไลต์’ เป็นช่วงๆ ซึ่งทำให้เกิดการกระจายความเด่น พอการ์ตูนดังขึ้นมา ตัวละครก็จะดังยกทีม มีแฟนๆ ชื่นชอบเป็นกลุ่มๆ แตกต่างกันไป อันถือได้ว่าเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของการ์ตูนญี่ปุ่น (แนวทางเช่นนี้ปรากฏในธุรกิจดนตรีของญี่ปุ่นประเภทวงด้วย คือ พยายามหาสปอตไลต์ให้สมาชิกแต่ละคนในวง)
อันที่จริง องค์ประกอบอื่นที่ทำให้การ์ตูนญี่ปุ่นน่าสนใจก็มีอีก ดังที่ฟุซะโนะซุเกะ นะสึเมะ ระบุไว้ในหนังสือ Manga wa naze momoshiroi no ka (ทำไมมังงะจึงน่าสนใจ) อาทิ การใช้เส้นสื่อความรู้สึกของตัวละครโดยละเอียด การแบ่งฉาก การใช้ถ้อยคำ (ถ้อยคำถือเป็นปัจจัยสำคัญด้วย ขณะที่ทุกวันนี้ “การ์ตูนเงียบ” หรือ “ไซเลนต์มังงะ” หาได้ยากแล้วในญี่ปุ่น) การใช้คำเลียนเสียงและท่าทาง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือเรื่องทางเทคนิค ซึ่งนักอ่านการ์ตูนชาวไทยและผู้ที่ฝันจะเป็นนักวาดก็คงจับทางได้โดยไม่ยากหากอ่านมาก ๆ และฝึกฝนเพียงพอ ผมจึงหยิบยกประเด็น “เนื้อเรื่อง” ขึ้นมาเน้นแทน เพราะเป็นประเด็นเชิงโครงสร้างที่หลายคนอาจมองข้าม
อย่างไรก็ตาม มีเทคนิคข้อหนึ่งที่น่าสนใจ แต่อาจเลียนแบบยากสักหน่อย เพราะเป็นลักษณะเฉพาะมากๆ ของภาษาญี่ปุ่น คือ การใช้คำเลียนเสียงและท่าทาง ภาษาวิชาการเรียกว่า “สัทพจน์” (onomatopoeia ภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่า “โอะโนะมะโตะเปะ” [オノマトペ]) ภาษาญี่ปุ่นรุ่มรวยคำกลุ่มนี้ ถึงขนาดรวบรวมเป็นพจนานุกรมที่หนาไม่แพ้สมุดหน้าเหลืองได้สักเล่ม และยังแบ่งเป็นคำที่ใช้เลียนเสียงธรรมชาติ กับคำที่ใช้สื่อท่าทางอีก เช่น โอะเงีย-โอะเงีย (อุแว้ อุแว้), อิกิ-อิกิ (มีชีวิตชีวา), ชิโตะ-ชิโตะ (ปรอย ปรอย)
การใช้คำเหล่านี้ถี่ๆ ในภาษาญี่ปุ่นไม่ทำให้รู้สึกผิดธรรมชาติ ทั้งยังมีให้เลือกใช้มากมายอีกด้วย แต่สำหรับภาษาไทย ความถี่ในการใช้ต่ำกว่าในภาษาญี่ปุ่น และในการแปลจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทย ก็มีบ่อยครั้งที่นักแปลประสบปัญหา ไม่รู้ว่าจะถอดเป็นคำไทยว่าอะไรดี เช่น เสียงฝนเม็ดเล็ก-ใหญ่ หัวเราะเยาะ-หัวเราะดีใจ คำเหล่านี้เป็นเสมือนเสียงประกอบเวลาเราดูหนัง ซึ่งส่งผลต่ออรรถรสในการอ่านอย่างมาก แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องอิงต้นแบบจากญี่ปุ่นทุกด้าน สิ่งใดประยุกต์ได้ก็รับมา สิ่งที่พ้นวิสัยความเป็นธรรมชาติก็ละไว้และพยายามหารูปแบบของเราเอง
ข้อสรุปว่าด้วยมังงะของญี่ปุ่นในเชิงวัฒนธรรมและสังคมคือ ทัศนคติเชิงบวกต่อการ์ตูนว่าไม่ใช่ของไร้สาระหรือเป็นของสำหรับเด็กเท่านั้น สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะธรรมชาติของภาษาญี่ปุ่นเอื้อให้คนญี่ปุ่นเรียนรู้การสร้างสรรค์การ์ตูนได้เร็ว และการ์ตูนญี่ปุ่นน่าสนใจเพราะผู้สร้างสรรค์ให้ความสำคัญแก่เนื้อเรื่องอย่างมาก และ
สิ่งที่น่าจะเป็นแนวทางให้แก่วงการการ์ตูนไทยได้ก็คือ นอกจากจะใส่ใจด้านการวาดแล้ว ต้องฝึกฝนการผูกเรื่องด้วย เท่าที่ผ่านมา ดูเหมือนผู้สร้างสรรค์ของไทยเน้นการ ‘วาด’ เป็นหลัก แต่ไม่ค่อยได้เหลียวมองการ ‘แต่ง’ เรื่องให้น่าสนใจ ทักษะนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีพื้นฐานการอ่านที่แน่น เพราะการอ่านหนังสือคือการเก็บข้อมูล และจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ต่อยอด
นี่คือจุดที่ไม่มีใครเอาชนะญี่ปุ่นได้ และเพราะคนญี่ปุ่นอ่านมาก ค้นคว้าหนัก ‘นักแต่ง’ การ์ตูนของญี่ปุ่นจึงมีเนื้อเรื่องออกมาสนองตลาดได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่หมดมุก ไม่ว่าจะเป็นตำนานโบราณ ตำนานของต่างประเทศ สัตว์เลี้ยงรอบตัว และอะไรต่ออะไรที่ดูเหมือนเป็นเรื่องหยุมหยิม คนญี่ปุ่นอ่าน ค้นคว้า และหยิบมาผูกเป็นเรื่องเป็นราว ใส่ศิลปะกับความสร้างสรรค์ลงไป นำออกมาขายเป็นการ์ตูนได้เรื่อยๆ
“เนื้อเรื่อง” คือสิ่งที่นักวาดการ์ตูนของไทยควรใส่ใจให้มากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะลายเส้นเท่านั้น ลายเส้นเลียนแบบกันได้ แต่เนื้อเรื่องคือสิ่งที่จะต้องสร้างสรรค์เป็นของตัวเองและใช้เป็นจุดขาย และนั่นคือปัจจัยแห่งความน่าสนใจที่แท้จริงของการ์ตูน
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th