เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา มีประเด็นร้อนเรื่องนักท่องเที่ยวไทยโพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า ทางโรงแรมให้เข้าพักห้องที่เป็น “ห้องประชุม 2” ที่โรงแรม “Fuji No Yado Ohashi Hotel” ที่ Fuji Kawaguchiko Onsen จังหวัดยามานาชิ ซึ่งประเด็นนี้ได้เป็นข่าวในสื่อญี่ปุ่นเช่นกัน แต่เนื้อหาที่รายงานได้ถูกบิดเบือน ทำให้นักท่องเที่ยวกลายเป็นฝ่ายผิด ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับคนไทยมากขึ้น
กรณีโรงแรมห้องประชุม 2
นักท่องเที่ยวที่ได้รับความเสียหายได้จองห้องพักที่โรงแรม “Fuji No Yado Ohashi Hotel” (富士の宿 おおはし) ผ่าน agoda และในวันที่เข้าพักมีป้ายติดที่หน้าประตูว่า “ห้องประชุม 2” และข้างใต้นั้นมีกระดาษแปะไว้เขียนว่า “Standard Room Fuji”
เมื่อเจอแบบนี้ นักท่องเที่ยวดังกล่าวจึงติอต่อที่ฟรอนต์ของโรงแรมว่า ห้องพักไม่ได้เป็นไปตามที่ประกาศในเว็บไซต์ แต่ทางโรงแรมตอบกลับว่า “ห้องพักที่จองเป็นแบบแชร์รูม ครั้งนี้ได้ปิดฉากกั้น (Partition) ให้เป็นพิเศษ” ถึงแม้จะแสดงใบจอง (Booking Voucher) แต่ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า “มันเป็นแชร์รูม ถ้าจะเอาห้องแบบปกติ ต้องจ่ายเพิ่ม 3,000 เยน/คน/คืน”
หลังจากนั้น นักท่องเที่ยวดังกล่าวจึงติดต่อกับญาติที่เป็นคนญี่ปุ่น (สามีของพี่สาว) เพื่อให้ติดต่อกับทางโรงแรมเป็นภาษาญี่ปุ่นแต่ก็ไม่ได้ผล เมื่อติดต่อไปทาง agoda (Japan) ก็ไม่ได้ผลเช่นกัน สุดท้ายได้ประสานงานไปที่ agoda (Thailand) จึงพบว่าภาพที่ลงในเว็บไซต์ญี่ปุ่นไม่ตรงกับความจริง กลายเป็นว่าต้องดำเนินการผ่าน booking.com เท่านั้นจึงจะได้ห้องพักเดี่ยวที่นี่
สื่อญี่ปุ่นที่ทำคนไทยหมดคำพูด
เกี่ยวกับประเด็นนี้ ทางสื่อญี่ปุ่นได้มีการเข้าไปสัมภาษณ์ แต่เนื้อหามีแต่เรื่องที่สัมภาษณ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น รายละเอียดมีดังนี้
มีสื่อญี่ปุ่นมาขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นประมาณ 30 นาที ตัวเราเองก็คิดว่าเรื่องใหญ่ขนาดนี้ก็ควรจะบอกความจริงทั้งหมดไป แต่ในการสัมภาษณ์ไม่มีการสอบถามเกี่ยวกับความจริงแม้แต่น้อย มีแต่คำถามที่ว่า “รู้สึกอย่างไรที่ทำให้โรงแรมเดือดร้อนจากการโพสต์ของคุณ”
การที่ลงโซเชียลเพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวคนอื่นโดนเหตุการณ์เหมือนกันเป็นเรื่องปกติ ในการโพสต์ครั้งนี้เพื่อต้องการให้ทาง agoda หรือทางโรงแรมมีการปรับปรุงด้านการให้บริการ ในเฟซบุ๊กดิฉันเห็นบางคอมเมนต์บอกว่า “ราคาแค่นั้นได้ห้องแบบนั้นก็ถูกแล้ว” แต่มันไม่ใช่ค่ะ ห้องที่ได้จองกับความจริงมันไม่เหมือนกัน
ปัญหาหลักๆในครั้งนี้คือ ความรับผิดชอบของผู้จัดการเว็บไซต์ที่ไม่ได้ทำการอัพเดท ถ้าเห็นเป็นห้องประชุมแต่แรกและได้จองจริง ถึงแม้สภาพจะเป็นอย่างไร ก็คงเข้าพักค่ะ
แต่ทางสื่อกลับถามคำถามซ้ำๆว่า “รู้หรือไม่ว่าโลกโซเชียลมันรุนแรง” “ทางโรงแรมได้รับความเสียหายอย่างหนัก”
เรา: เราทราบว่าโลกโซเชียลรุนแรง แต่เราแค่จะเตือนเพื่อนๆ เพื่อให้ระวัง ดังนั้นอยากให้เข้าใจว่าทางโรงแรมทำให้ลูกค้าเดือดร้อน และพอหาข้อมูลทางเว็บไซต์ก็พบว่า ก่อนนี้ก็เคยเจอเคสเดียวกันมาแล้ว ถ้ายังบริการแบบนี้ต่อไป อยากให้มีการปรับปรุงแก้ไขค่ะ
นักข่าว: รู้มั้ยว่าโรงแรมนี้ backpacker ชอบมาพักแต่พวกเขาไม่มีปัญหาอะไรเลย
เรา: แต่เราไม่ได้จองห้องแบบนี้ค่ะ ถ้ารู้และจองเองตั้งแต่แรกจะไม่บ่นค่ะ
นักข่าว: คุณคิดอย่างไรในการที่โรงแรมกำลังเดือนร้อนอย่างหนัก (ถามเป็นครั้งที่ 4)
เรา: เอ่อ..คุณต้องการคำตอบแบบไหนคะ เพราะเราตอบไปแล้วค่ะ ถามแต่คำถามเดิมจังเลย
นักข่าว: ตอนนี้หลายคนคิดว่าโรงแรมเป็นฝ่ายผิด และธุรกิจได้รับผลกระทบด้วย มีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้
เรา: ควรปรับปรุงค่ะ “partition room” นั้นต่อให้เป็น “share room” ยังไงก็ดูไม่เป็นห้องนอน ห้องนั้นเหมือนเป็นห้องชั่วคราวสำหรับใช้เป็นห้องลี้ภัยค่ะ ไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนนอนได้สบายหรอก
หลังจบการสัมภาษณ์ ได้คุยกับทีมข่าว และทราบว่าห้องนั้นไม่มีแล้ว
เรา: ดีเลยค่ะ คิดถึงใจคนที่เก็บเงินมาเที่ยว แล้วยิ่งถ้าเป็นการมาครั้งแรกแล้วมาเจอแบบนี้ คงมีความทรงจำที่แย่กับประเทศญี่ปุ่นแน่นอน ถ้าทางโรงแรมและเอเจนซี่รับประกันว่าไม่มีห้องแบบนี้แล้ว เราสามารถโพสต์ facebook อีกครั้งได้ค่ะ คนที่ตามเรื่องนี้อยู่จะได้เข้าใจ
สุดท้ายนี้ต้องขอโทษที่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับโรงแรม แต่ถ้าทุกคนปรับปรุงการให้บริการจะเป็นสิ่งดีกับนักท่องเที่ยวทุกคนค่ะ
ข้อมูลที่ผิดพลาดระหว่างนักท่องเที่ยวและข่าว
ปัจจุบันญี่ปุ่นมีการให้บริการที่พักอย่าง airbnb (แอร์บีแอนด์บี) จึงทำให้มีการแข่งขันด้านราคา บางที่ต้องใช้ห้องประชุมเป็นห้องพักก็มี อย่างไรตามสาเหตุมาจากความผิดพลาดของทางโรงแรม ที่ลงรูปผิดในเว็บจองโรงแรม แต่ในรายการตัดมาเฉพาะส่วนที่บอกว่า “ขอโทษที่ทำให้โรงแรมได้รับความเสียหาย” เพื่อไม่ให้เสียชื่อเสียง ซึ่งแบบนี้ผู้ที่ให้การสัมภาษณ์ย่อมต้องเกิดความไม่พอใจ
นอกจากนี้ผู้รายงานข่าวยังบอกว่า “เอาลงเน็ตเป็นสิ่งไม่ดี” “ทั้งๆที่ได้เปลี่ยนห้องแต่เจ้าตัวไม่มีการแก้ไขสิ่งที่โพสต์เลย” โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือแบบเรียลไทม์ เจ้าตัวได้มีการเจรจาประมาณ 2 ชั่วโมงตั้งแต่โพสต์และได้มีการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีหลักฐานอยู่ที่ไทม์ไลน์ที่ได้เปลี่ยนห้องเป็นแบบห้องญี่ปุ่นอยู่ด้วย
ในข่าวบอกว่า “ลูกค้าคนไทยทำให้โรงแรมได้รับความเสียหายอย่างหนัก” แต่เมื่อได้อ่านข้อความที่เจ้าของเรื่องได้ให้สัมภาษณ์ กลับตรงกันข้าม การที่สื่อญี่ปุ่นบิดประเด็นให้นักท่องเที่ยวเป็นฝ่ายผิดเพราะต้องการเรียกความสนใจ ถึงแม้จะบอกว่าเป็นภาษาญี่ปุ่น คนไทยคงไม่ดู แต่ถ้าได้อัพลงเว็บไซต์แล้ว คนไทยก็สามารถตรวจสอบเนื้อหาได้ง่ายมาก
เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น อยากให้สื่อญี่ปุ่นทำข่าวที่น่าเชื่อถือมากกว่านี้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ anngle.org