ยุคสมัยใหม่ที่อาหารจานด่วนหรือฟาสฟูดส์มีทั่วเมือง และถูกมองว่าเป็น “อาหารขยะ” แต่ที่ญี่ปุ่นมีอาหารจานด่วนที่มีคุณค่าอาหารและอิ่มอร่อยด้วยเวลาอันรวดเร็ว เพียงแต่ต้องยืนรับประทานเท่านั้น
การทานอาหารเป็นความสุนทรีย์สำหรับหลายคน หากแต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนของญี่ปุ่นแล้ว เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่า ในญี่ปุ่นจึงมีร้านอาหารจานด่วนเปิดให้บริการตามสถานีรถไฟสำคัญ โดยลูกค้ายืนรับประทานด้วยเวลาเพียง 5-10 นาที และสามารถขึ้นรถไฟขบวนถัดไปได้ทันเวลา
ร้านอาหารยืนกินส่วนใหญ่จะบริการเมนูบะหมี่ เช่น อุด้ง, โซบะ หรือ ราเมน สนนราคาประหยัดเพียงแต่ 200-500 เยนก็อิ่มอร่อยได้ ร้านเหล่านี้มักตั้งอยู่ใกล้เคียงสถานีรถไฟสำคัญ บางร้านเช่น “นันไค โซบะ” ตั้งอยู่ภายในสถานีรถไฟนันไค และให้บริการมานานหลายสิบปีจนได้รับความนิยมอย่างมากจนเปิดสาขาถึง 6 สถานี
เจ้าของร้าน “โอคัน” 王冠 ซึ่งตั้งอยู่ที่สถานีอะเบะโนะบาชิ ของรถไฟคินเซ็ทสึ ที่นครโอซากา ที่เป็นแหล่งรองท้องของมนุษย์เงินเดือนชาวญี่ปุ่นมานานกว่า 15 ปี เล่าว่า บรรดาคนทำงานชาวญี่ปุ่นต้องเร่งรีบจนแทบไม่มีเวลากินอาหารเที่ยง ร้านอุด้งแบบยืนกินจึงตอบสนองความต้องการได้เป็นอย่างดี
ลูกค้าบางคนทำสถิติซดอุด้งด้วยเวลาเพียงแค่ 5 นาที แถมยังมีเวลาสูบบุหรี่อีกเล็กน้อยก่อนที่จะกระโจนขึ้นรถไฟเที่ยวถัดไปได้ทันเวลา ลูกค้าบางคนเร่งรีบถึงขนาดใช้น้ำดื่มเติมลงในน้ำซุปราเมนเพื่อให้เย็นลงอย่างรวดเร็วเพื่อที่ทานได้ทันเวลา การยืนกินจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอย่างใดสำหรับลูกค้าที่เร่งทำเวลา
เมนูอย่างอุด้ง, โซบะ, ราเมน รวมทั้งโอนิกิริ หรือข้าวปั้น ที่ใช้เวลาปรุงอย่างรวดเร็วและทานได้อย่างรวดเร็วจึงเหมาะกับร้านฟาสฟูดส์ดั้งเดิมแบบนี้อย่างมาก โดยร้านส่วนใหญ่จะมีน้ำซุปสูตรเด็ดที่ใช้กับบะหมี่ทุกเส้น โดยเมื่อลูกค้าสั่งอาหารก็เพียงแต่ลวกเส้นและใส่เครื่องเคียงลงไปเท่านั้น
นอกจากนี้ ทางร้านก็ได้ปรับเปลี่ยนเมนูตามความนิยมของลูกค้าในแต่ละฤดูกาล เช่นในฤดูร้อน โซบะและบะหมี่เย็นจะได้รับความนิยม ขณะที่ในฤดูหนาวไม่มีอะไรดีไปกว่าอุด้งหรือราเมนร้อนๆ
อย่างไรก็ตาม ร้านฟาสฟูดส์ต้นตำรับญี่ปุ่นเหล่านี้กำลังเผชิญมรสุมแห่งความเปลี่ยนแปลง เมื่อญี่ปุ่นมีร้านสะดวกซื้อแทบทุกหัวถนนที่หาซื้ออาหารสำเร็จรูปได้อย่างง่ายดาย ขณะที่อาหารจานด่วนต่างชาติก็มีมากมาย ลูกค้าร้านบะหมี่ยืนกินเช่นนี้จึงมีเพียงกลุ่มคนวัยกลางคนอายุ 30 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงวัยเท่านั้น
เจ้าของร้าน “โอคัน” ยอมรับว่า อุด้งและโซบะถูกปากผู้สูงวัยมากกว่า ขณะที่วัยรุ่นนิยมอาหารต่างชาติหรือไม่ก็ราเมนรสเข้มข้น ทำให้ทางร้านที่เดิมขายเฉพาะอุด้งและโซบะจำต้องเพิ่มเมนูราเมน รวมทั้งเพิ่มเก้าอี้สำหรับลูกค้าขาประจำที่อุดหนุนกันมาจนถึงวัยใกล้เกษียณ ซึ่งหากกลุ่มลูกค้าเก่าหมดแรงไปตามวัยแล้ว ร้านอาหารดั้งเดิมเช่นนี้ก็ถึงเป็นดั่ง “ไม้ใกล้ฝั่ง” เช่นเดียวกัน
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับรสนิยมการกินของชาวญี่ปุ่น คงไม่แตกต่างจากคนไทยที่เคยคุ้นเคยกับ “ข้าวแดงแกงร้อน” แต่ทุกวันนี้หนุ่มสาวรุ่นใหม่กลับพึ่งพาอาหารแปรรูป, อาหารแช่แข็งจากร้านสะดวกซื้อมากขึ้น อาหารง่ายๆแต่มีคุณค่าที่เคยทานกันมารุ่นต่อรุ่นกลายเป็นของไม่ถูกปากไม่ถูกใจ จนทุกวันนี้หลายคนรู้สึกแค่ “อิ่ม” แต่ไม่เคย “อิ่มเอม”.