xs
xsm
sm
md
lg

Exclusive! “จรดพู่กัน ดีดลูกคิด” เอาฤกษ์เอาชัยปีใหม่แบบญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชาวญี่ปุ่นเริ่มทำงานวันแรกในปีใหม่มักเอาฤกษ์เอาชัยด้วยการขอพรจากเทพเจ้า ขณะที่เด็กๆจะมีประเพณีเขียนพู่กันและดีดลูกคิด เพื่อขอพรสำหรับการเรียนและการสอบ แต่แฝงนัยยะถึงการให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาของชาวญี่ปุ่น

ศาลเท็นมันกู ศาลเจ้าที่สำคัญที่สุดในนครโอซากา คลาคล่ำด้วยผู้คนที่มาเข้าร่วมพิธี “จรดพู่กัน ดีดลูกคิด” ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมานานกว่า 30 ปี โดยทุกวันที่ 3 มกราคม ก่อนที่ชาวญี่ปุ่นจะเริ่มทำงานวันแรกและเด็กๆจะกลับไปโรงเรียน ชาวญี่ปุ่นจะให้เด็กๆดีดลูกคิด และเขียนพู่กันเป็นครั้งแรกของปีเพื่อขอพรจากเทพเจ้าให้ประสบความสำเร็จในการเรียนและการสอบตลอดปี

ในพิธีดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,000 คน รวมทั้งบรรดาผู้ปกครองที่มาเฝ้าดูลูกหลาน โดยนอกจากเด็กๆชาวญี่ปุ่นแล้ว ชาวต่างชาติที่เรียนภาษาญี่ปุ่น รวมทั้งเด็กนักเรียนมัธยมที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเดือนกุมภาพันธ์ก็มาร่วมพิธีอย่างคับคั่ง ทางศาลเจ้าต้องจัดแบ่งผู้เข้าร่วมพิธีเป็นรอบๆ

ที่ด้านหน้าศาลเจ้าจะจัดโต๊ะ ปูผ้าขาว บนโต๊ะมีลูกคิดที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษเป็นรางยาว เมื่อได้เวลา ผู้แทนของศาลเจ้าจะบอกโจทย์เลขคณิตเพื่อให้ผู้เข้าร่วมพิธีคำนวนพร้อมๆกันราว 3-5 โจทย์ หลังจากนั้นนักพรตชินโตจะทำพิธีอวยพรแด่ผู้เข้าร่วมพิธี


หลังเสร็จสิ้นการดีดลูกคิด ผู้ปกครองจะพาเด็กๆไป “จรดพู่กัน” ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นเรียนหนังสือครั้งแรกของปีใหม่ ประเพณีนี้มีมาตั้งแต่สมัยเอโดะ ซึ่งพู่กันนำเข้าจากประเทศจีนโดยขุนนางราชสำนักและหมู่นักรบ และแพร่หลายไปยังโรงเรียนวัด จนการเขียนพู่กันกลายเป็นศิลปะที่เรียกว่า โชโด 書道

ในอดีตชาวญี่ปุ่นจะเขียนกลอนภาษาจีนที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับวันปีใหม่ด้วยหมึกสีดำลงบนกระดาษ แต่ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับเด็กๆ โดยเขียนตัวอักษรที่เป็นสิริมงคล และทุกวันนี้ การจรดพู่กันครั้งแรกของเด็กๆในวันปีใหม่ยังมีการประกวดด้วย โดยแบ่งตามระดับชั้นเรียน และจัดมีการจัดนิทรรศการผลงานของเด็กๆด้วย

ในบางศาลเจ้า จะมีการเผากระดาษผลงานเขียนของเด็กๆในราววันที่ 14 มกราคม เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเด็กๆจะมีความรู้และก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป เหมือนดังควันไฟที่ล่องลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า

ชาวแคนาดารายหนึ่งที่นำลูกน้อย 2 คนมาเข้าร่วมพิธีด้วย บอกว่า ชื่นชมวัฒนธรรมตะวันออกที่ศึกษาและพัฒนาตนเองตลอดชีวิต โดยตัวเขาเองเรียนภาษาญี่ปุ่นและฝึกใช้ลูกคิดเมื่อวัยกลางคนแล้ว แต่วันนี้ ฝรั่งรายนี้สามารถใช้ภาษาญี่ปุ่นได้อย่างคล่องแคล่วและสอบผ่านการทักษะการคำนวนด้วย “จินตคณิต” ระดับสูงได้ และได้สรุปถึงความสำเร็จของเขาว่า “Never give up. If you do it once, it becomes a habit.” หรือ “จงอย่าล้มเลิก เพราะหากล้มเลิกแม้ครั้งเดียวก็จะกลายเป็นนิสัยได้”

ประเพณีการดีดลูกคิดรับปีใหม่ ที่เรียกว่า ฮาจิคิโซเมะ はじき初め และการจรดพู่กันที่เรียกว่าคาคิโซเมะ 書き初め สะท้อนถึงการให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาของชาวญี่ปุ่น เพราะถึงแม้ทุกวันนี้ลูกคิดและพู่กันจะแทบไม่มีการใช้งานแล้ว แต่ที่ญี่ปุ่นของทั้ง 2 สิ่งกลับไม่ใช่สิ่งที่ “ล้าสมัย” เด็กญี่ปุ่นแทบทุกคนยังคงดีดลูกคิดเป็น เขียนพู่กันได้ ของทั้ง 2 อย่างถึงแม้ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น หากแต่ ณ แดนอาทิตย์อุทัยทั้งพู่กันและลูกคิด คือสัญลักษณ์ของปัญญา ที่สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ไม่อาจจะทดแทนได้.

กำลังโหลดความคิดเห็น