xs
xsm
sm
md
lg

จากไทยถึงญี่ปุ่น ย้อนรอยคดีดังสู่เส้นทางประหารคนโฉด (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คดีนายวันชัย แสงขาว อดีตพนักงานรถไฟที่ก่อเหตุฆ่าข่มขืนเด็กหญิงบนรถไฟ ปิดฉากลงหลังจากนักโทษไม่ใช้สิทธิในการยื่นฎีกา ซึ่งทำให้นายวันชัยต้องรับโทษประหารชีวิตในไม่ช้า คดีนี้คล้ายคลึงกับคดีดังในญี่ปุ่นเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งนำไปสู่จุดเปลี่ยนของการตัดสินโทษประหารของศาลแดนอาทิตย์อุทัย

นายวันชัย แสงขาว หรือ เกมส์ วัย 22 ปี อดีตพนักงานรถไฟ ผู้ก่อเหตุฆ่าข่มขืนเด็กหญิงวัย 13 ปี ขณะนอนหลับในตู้นอนบนรถไฟเส้นทางนครศรีธรรมราช-กรุงเทพฯ เมื่อกลางดึกวันที่ 5 กรกฎาคม 2557 ให้ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดหัวหิน ขอไม่ใช้สิทธิในการยื่นฎีกา ส่งผลให้คดีนี้เป็นอันถึงที่สุดตามกฎหมาย และทำให้นายวันชัยต้องรับโทษประหารชีวิตตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

คดีอุกฉกรรจ์นี้ทำให้หวนคิดถึงคดีสะเทือนขวัญคดีหนึ่งในญี่ปุ่น ประเทศซึ่งได้ชื่อว่าปลอดภัยที่สุดในโลก และคดีนั้นทำให้โทษประหารชีวิตกลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางในญี่ปุ่น
คนร้าย 3 คนที่สังหารโหดเหยื่อสาวชาวญี่ปุ่น
ย้อนรอยคดีโหดสะเทือนแดนอาทิตย์อุทัย

กลางดึกคืนวันที่ 24 สิงหาคม ปี 2007 ที่จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น ริเอะ อิโซไก พนักงานสาววัย 31 ปีเดินกลับบ้านคนเดียวบนทางเปลี่ยว ระหว่างทางเธอถูกคนร้าย 3 คนจับตัวเพื่อปล้นทรัพย์ และถูกฆ่าตายอย่างน่าสงสาร

คนร้ายทั้ง 3คน คือ นายสึคาซะ คันดะ, นายเคนจิ คาวะกิชิ และนายโยชิโมโตะ โฮริ รู้จักกันผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทั้ง 3คนล้วนเป็นคนตกงานและมีหนี้สินก้อนโตจึงได้วางแผนชั่วที่จะลักพาตัวหญิงสาวเพื่อปล้นทรัพย์ จนได้มาพบกับ ริเอะ อิโซไก ที่เดินผ่านมาพอดี จึงได้จับตัวหญิงสาวขึ้นบนรถตู้เพื่อข่มขู่ให้บอกรหัสบัตร ATM แต่เนื่องจากหญิงสาวขัดขืน คนร้ายทั้ง 3จึงใช้ค้อนและเชือกสังหารหญิงสาวผู้เคราะห์ร้ายอย่างเหี้ยมโหด ก่อนที่จะนำศพไปอำพรางและแยกย้ายกันหนี

หนึ่งวันหลังก่อเหตุ คนร้ายคนหนึ่งติดต่อขอมอบตัวกับตำรวจ เพราะรู้ว่ากฎหมายญี่ปุ่นกำหนดไว้ว่า “ผู้ต้องหาจะได้รับการลดหย่อนโทษ ถ้ายอมมอบตัวก่อนที่จะมีการออกหมายจับจากทางการ” หลังจากนั้นตำรวจสามารถค้นพบศพของพนักงานสาวผู้โชคร้าย และจับตัวคนร้ายอีก 2 คนได้ในทันที

กฎหมายของญี่ปุ่นระบุว่า “โทษประหารจะถูกใช้กับอาชญากรรมที่มีความร้ายแรง โดยเฉพาะการฆาตกรรมที่มีผู้เสียชีวิตหลายราย มีความเหี้ยมโหด ส่งผลกระทบต่อสังคมญี่ปุ่นอย่างรุนแรง หรือคนร้ายมีประวัติก่ออาชญากรรมมาก่อน” ทั้งนี้เนื่องจากชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าความตายเป็นศักดิ์ศรีอย่างหนึ่ง ตายเพื่อรักษาเกียรติ์ดีกว่าอยู่อย่างอัปยศ อาชญากรจึงควรจะต้องชดใช้กรรม อยู่เพื่อรับผิด มากกว่าตายไปอย่างง่ายๆ ดังนั้น การฆาตกรรมที่มีผู้เสียชีวิตเพียง 1 รายจะไม่ค่อยถูกตัดสินประหารชีวิตในญี่ปุ่น
คดีของริเอะ อิโซไก ทำให้โทษประหารถูกถกเถียงอย่างกว้างขวางในญี่ปุ่น
3แสนรายชื่อเรียกร้องโทษประหาร
นางฟูมิโกะ อิโซไก มารดาของสาวผู้เคราะห์ร้าย ได้เรียกร้องต่อศาลให้ตัดสินประหารชีวิตคนร้ายทั้ง 3 คน ที่ได้พรากชีวิตลูกสาวคนเดียวของเธอไปอย่างเลือดเย็น ภายในเวลาเพียง 10 วันคำร้องของเธอได้รับการลงชื่อสนับสนุนจากชาวญี่ปุ่น 1 แสนคน และในเดือนธันวาคมปีต่อมา นางฟูมิโกะได้ยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมด้วยรายชื่อผู้สนับสนุน 330,000 คน แม้แต่บิดาของคนร้าย 2 คนก็ยังร้องขอต่อศาลให้ตัดสินประหารชีวิตลูกผู้ชั่วช้าของตน

18 มีนาคม 2009 ศาลเมืองนาโกย่าได้พิจารณาคดี โดยทนายความฝ่ายจำเลยได้แก้ต่างว่า คนร้ายได้พลั้งมือฆ่าเหยื่อโดยไม่เจตนา จึงขอให้ศาลพิจารณาลดหย่อนโทษ และศาลญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยสั่งประหารชีวิตในกรณีฆาตกรรมที่มีผู้เสียชีวิตเพียงคนเดียวมาก่อน
คำร้องสนับสนุนโทษประหารจากประชาชนชาวญี่ปุ่นกว่า 3แสนฉบับ
ผู้พิพากษาในคดีนี้เป็นผู้พิพากษาหญิง ต้องเผชิญกับความกดดันจากกฎหมายญี่ปุ่นที่มีความปราณีและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอย่างมาก แต่ในที่สุดเธอได้ตัดสินโทษประหารชีวิตคนร้ายทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่า “พฤติกรรมของผู้ต้องหาไม่มีเหตุควรแก่การปราณี ถึงแม้จะมีผู้เสียชีวิตเพียงรายเดียว แต่การกระทำอันเหี้ยมโหดได้ส่งผลร้ายแรงต่อสังคมญี่ปุ่น การลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจะเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาสามารถขอลดหย่อนโทษได้ ดังนั้นโทษประหารจึงเป็นเพียงทางเลือกเดียวที่สมควรแก่พฤติการณ์”

สื่อมวลชนของญี่ปุ่นที่ปกติแล้วจะมีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกันอย่างกว้างขวาง แต่ในกรณีนี้สื่อเกือบทั้งหมดได้แสดงความเห็นสนับสนุนคำพิพากษาอย่างถ้วนหน้า โดยระบุว่า เป็นคำพิพากษาที่สะท้อนถึงสามัญสำนึกอย่างถึงที่สุด และจะได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนอย่างกว้างขวาง

เดือนเมษายนปี 2011 ศาลอุทธรณ์เมืองนาโกย่า ได้ยืนยันโทษประหารสำหรับ 2คนร้ายที่ลงมือสังหารน.ส.ริเอะ อิโซไก แต่ได้ลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิตให้คนร้ายคนหนึ่งที่มอบตัวกับตำรวจและนำไปสู่การคลี่คลายคดี อย่างไรก็ตามอัยการได้ยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อให้ยืนยันโทษประหารชีวิตคนร้ายทั้ง 3 คน
ครอบครัวหญิงสาวผู้สูญเสียได้รับจดหมายสนับสนุนจำนวนมาก
กินข้าวแดงในคุกรอประหาร นาน 4 ปี
ถึงแม้โทษประหารสำหรับคดีเหี้ยมโหดนี้จะได้รับการสนับสนุนจากสาธาณชนชาวญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง หากแต่โทษประหารชีวิตสำหรับญี่ปุ่นนั้นถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมก่อน ทำให้นักโทษสามารถใช้ชีวิตในคุกได้อีกนานหลายปี โดยนายสึคาซะ คันดะ นักโทษในคดีนี้เพิ่งจะถูกลงโทษประหารโดยการแขวนคอเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ปีนี้ โดยนับตั้งแต่นายชินโสะ อะเบะเป็นผู้นำรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อปี 2012 ได้มีคำสั่งประการชีวิตนักโทษอุกฉกรรจ์ไปเพียง 12 รายเท่านั้น.

คดีของริเอะ อิโซไก ได้เป็นบรรทัดฐานใหม่สำหรับการลงโทษประหารชีวิตของแดนซากุระ โดยหลังจากนั้นศาลญี่ปุ่นได้เพิ่มกฎเกณฑ์ในการพิจารณาโทษประหาร โดยเพิ่มข้อความว่า “ผู้พิพากษาสามารถพิจารณาโทษประหารได้ โดยคำนึงถึงความรู้สึกของครอบครัวผู้สูญเสีย”.


อ่านข่าวประกอบ "ไอ้เกมส์"ไม่ฎีกา รับโทษประหารคดีฆ่าข่มขืนบนรถไฟ
กำลังโหลดความคิดเห็น