แกนนำกลุ่มยามากุชิ กูมิ แก็งค์ยากูซ่าที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ถูกยิงเสียชีวิตกล่างเมืองโอซากา โดยคาดว่าเกิดจากความขัดแย้งภายในแก็งค์ที่สมาชิกจำนวนหนึ่งต้องการแยกตัวออกไป จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องระดมกำลังเพื่อสกัดกั้นการห้ำหั่นกัน
นายโทชิยูกิ คาวาจิ แกนนำกลุ่มยามากุชิ กูมิ ถูกยิงเสียชีวิตใจกลางเมืองโอซากา ในเวลากลางวันแสกๆ 12.30น. ของวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา สร้างความสะเทือนขวัญให้กับผู้ที่พบเห็น และทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเตรียมรับมือการล้างแค้นระหว่างสมาชิกกลุ่มอาชญากรรมที่เปิดฉากขึ้นแล้ว
นายโทชิยูกิถูกปลิดชีวิตด้วยกระสุนเพียงนัดเดียวที่ด้านหน้าสำนักงานของกลุ่มในย่านนาวิวะของนครโอซากา และได้เสียชีวิตในระหว่างการนำตัวส่งโรงพยาบาล นายโทชิยูกิเป็นแกนนำกลุ่มคุราโมโต ซึ่งเป็นสาขาย่อยของแก็งค์ยามากุชิในพื้นที่เมืองนาระ
ความขัดแย้งภายในกลุ่มยามากุชิ กูมิ แก็งค์ยากูซ่าที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ที่เกิดจากสมาชิกบางส่วนต้องการแยกตัวออกไปเริ่มปะทุขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว และทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่นต้องมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังศึกชิงอำนาจครั้งใหญ่ขององค์กรอาชญากรรมนี้ เพราะอาจส่งผลให้ประชาชนทั่วไปต้องพลอยเดือดร้อนไปด้วย
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา สมาชิกแก็งค์รายหนึ่งที่ต้องการออกจากแก็งค์ไปเข้าสังกัดใหม่ ได้ถูกยิงเสียชีวิตกลางบ่อน้ำร้อน แต่การสังหารบุคคลระดับแกนนำที่นครโอซากาถือเป็นเหตุอุกอาจอย่างที่สุด
แหล่งข่าวจากตำรวจญี่ปุ่น ระบุว่า แก็งค์ยากูซ่าได้จัดหาปืนจำนวนมาก พร้อมกับจ้างนักฆ่าเพื่อไล่ล่าสมาชิกที่จะแปรพักตร์ออกไป โดยมือสังหารจะเป็นเด็กหนุ่มวัย 20 ปีที่ถูกจูงใจด้วยเงินค่าจ้างก้อนโต และต้องการสร้างชื่อเสียงในกลุ่มภายในชั่วข้ามคืน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นได้เรียกประชุมใหญ่หน่วยงานปราบปรามองค์กรอาชญากรรม เพราะกังวลว่าประชาชนอาจถูกลูกหลงในการห้ำหั่นกันของกลุ่มยากูซ่า ซึ่งตำรวจในพื้นที่เมืองโกเบ, โอซากา และนาโกยา ที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานของกลุ่มยามากุชิ ได้ระดมกำลังป้องปรามและหาข่าวอย่างเข้มข้นที่สุด
แก็งค์ยามากุชิ กุมิ ดำเนินกิจกรรมมานานถึง 100 ปี โดยมีทั้งส่วนที่ถูกต้องตามกฎหมาย และที่ผิดกฎหมาย เช่น การกรรโชกทรัพย์, เก็บค่าคุ้มครอง, ลักพาตัวเรียกค่าไถ่ รวมทั้งบ่อนการพนันและธุรกิจโสเภณี แต่เนื่องจากเครือข่ายที่กว้างขวาง ทำให้ผู้นำระดับบนแทบจะไม่เกี่ยวพันโดยตรงกับกิจกรรมผิดกฎหมาย และตำรวจทำได้เพียงการจำกัดการเคลื่อนไหวของเครือข่ายย่อยของแก็งค์เท่านั้น
นอกจากนี้ สาขาของแก็งค์หลายแห่งยังต้องการผันตัวเองจากการตีรันฟันแทงและธุรกิจสีเทา มาสู่ธุรกิจที่ทำเงินได้มากกว่า เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือการผูกขาดกิจการในพื้นที่อิทธิพลของตัวเอง
ทั้งนี้ การห้ำหั่นของยากูช่าในญี่ปุ่นครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1985 และ1987 ซึ่งทำให้สมาชิกแก๊งค์ยามากุชิ กุมิ เสียชีวิตไป 25 คน และบาดเจ็บมากกว่า 70 คน.