ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
สะดุดคำ คือ มุมพิเศษซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึกที่ลงทุกวันจันทร์ มุมนี้จะเป็นการบอกเล่า ‘ความเคลื่อนไหว’ หรือ ‘สิ่งที่อยู่ในความสนใจ’ ของคนญี่ปุ่นตามโอกาสพิเศษผ่าน ‘คำสำคัญ’ หรือ ‘คำเด่น’ ในช่วงเวลาหรือฤดูกาลนั้น มีกำหนดนำเสนอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามสิ่งที่เป็นปัจจุบันหรือร่วมสมัยได้ในเวลาใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ที่เรียนหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นได้นำคำหลักและคำที่เกี่ยวข้องไปใช้พูดคุยกับคนญี่ปุ่นหากมีโอกาสเพื่อให้บทสนทนาน่าสนใจและมีชีวิตชีวา โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อคนหรือคำญี่ปุ่นไว้ในระดับหนึ่งเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม อนึ่ง การถ่ายเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยในทุกบทความอิงหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นของราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักแม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องการใช้เสียงสั้นและเสียงยาวตามหลักภาษาญี่ปุ่น
ว่าด้วยอาจารย์
ใกล้เดือนตุลาคม มหาวิทยาลัยใกล้จะเปิดเรียนภาคฤดูใบไม้ร่วง ถึงเวลาสอนอีกแล้ว (ปาดเหงื่อ) บทบาทในฐานะผู้สอนจะหวนกลับมาหลังจากว่างเว้นการสอนไปทำหน้าที่นักวิจัยในช่วงปิดภาค ผมจึงนึกถึงคำนี้...เซ็นเซ อีกทั้งในระยะนี้ก็มีบทสนทนาและเรื่องราวที่เข้ามาเกี่ยวเนื่องกับอาชีพนี้โดยบังเอิญอีก ผมจึงนึกถึงคำนี้...“เซ็นเซ”
ห้าทุ่มแล้ว...ระหว่างที่หยิบโน่นค้นนี่เพื่อเตรียมการสอน ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติสำคัญข้อหนึ่งของการเป็น “เซ็นเซ”—อาจารย์ ก็รู้สึกอยู่ตลอดว่าการทำตัวเป็นผู้สอนที่ดีอาจจะยากกว่าการเป็นผู้เรียนที่ดี (หรือเปล่า?) เพราะกว่าจะสอนได้ หมายความว่าต้องศึกษานาน เตรียมการมากมาย อ่านหนังสือหลายเล่ม แต่ก็คงเพราะแบบนี้นั่นเอง คำว่าเซ็นเซถึงได้สื่อความน่าเลื่อมใสและความมีเกียรติ
สังคมญี่ปุ่นให้คุณค่าแก่ความรู้ ผู้ที่มีความรู้จนสอนผู้อื่นได้ ภาษาญี่ปุ่นให้เกียรติเรียกว่า “เซ็นเซ” คำนี้เขียนว่า 先生 ประกอบด้วยตัวอักษร 先 (อ่านว่า “เซ็น”; sen) แปลว่า “ก่อน” กับตัวอักษร生 (อ่านว่า “เซ”; sei) แปลว่า “เกิด” เมื่อรวมกันเป็น 先生 (เซ็นเซ; sensei) แปลตามตัวอักษรได้ว่า “(ผู้) เกิดก่อน” สื่อนัยว่าเป็นผู้มีประสบการณ์มาก่อน จึงถ่ายทอดความรู้ได้
ภาษาญี่ปุ่นที่แปลเทียบเป็นภาษาไทยได้ว่า “อาจารย์” มีหลายคำ นอกจาก “เซ็นเซ” แล้ว ก็ยังมี “เคียวชิ” (教師; kyōshi)—ผู้สอน เช่น ทักษะวิชา ศิลปะ, “เคียวอิง” (教員;kyōin)—คำทางการที่มักใช้ในภาษาเขียน เช่น ใบประกอบวิชาชีพอาจารย์ ห้องพักอาจารย์, “เคียวกัง” (教官;kyōkan)—อาจารย์ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยรัฐ, “เคียวยุ” (教諭;kyōyu)—อาจารย์ โดยเฉพาะตั้งแต่ระดับมัธยมปลายลงมา, “โคชิ” (講師;kōshi) —อาจารย์ (ทั้งในฐานะตำแหน่งทางวิชาการและในฐานะผู้สอน), เคียวจุ” (教授;kyōju)—ศาสตราจารย์ รวมถึงคำว่า “อะจะริ” (阿闍梨; ajari) ซึ่งมาจากภาษาสันสกฤต ācārya (อ่านว่า อาจาริยะ) ภาษาญี่ปุ่นใช้คำนี้ในความหมายทางพุทธศาสนา หมายถึง พระผู้สอนหรือผู้เป็นแบบอย่างให้แก่ศิษย์ ไม่ต้องพยายามมากก็คงสังเกตได้ว่านี่คือคำว่า “อาจารย์” ในภาษาไทยนั่นเอง
แต่ในบรรดาคำเหล่านี้ คำที่แพร่หลายที่สุดและใช้ง่ายที่สุดในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นคือ “เซ็นเซ” หากจะเรียกชื่อด้วย จะใส่นามสกุลของเจ้าตัวไว้ข้างหน้า เช่น อาจารย์คะวะมุระ เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “คะวะมุระเซ็นเซ” ในกรณีของผมซึ่งเป็นคนไทย นามสกุลยาว เรียกยาก จึงบอกให้คนอื่นเรียกชื่อต้น นักศึกษาและอาจารย์ด้วยกันเรียกผมว่า “โฆษิตเซ็นเซ”
ในภาษาไทย เมื่อเอ่ยคำว่า “อาจารย์” โดยทั่วไปมักนึกถึงอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหรือในโรงเรียน (หรือบางทีอาจนึกถึงหมอดู?) ซึ่งถือว่าได้รับการยกย่องและมีเกียรติอย่างยิ่งในสังคม แต่เมื่อเทียบกับภาษาญี่ปุ่นแล้ว คำว่า “เซ็นเซ” ใช้ในขอบข่ายที่กว้างกว่านั้น ไม่เพียงแต่ใช้เรียกบุคคลในสถานศึกษา แต่ยังใช้เรียกนักเขียนนวนิยาย, นักเขียนการ์ตูน, ศิลปินใหญ่, ทนายความ, แพทย์ และนักการเมืองด้วย
เมื่อได้รับเกียรติ สังคมจึงคาดหมายว่าคนผู้นั้นจะทำตัวให้สมเกียรติ จุดนี้คงเหมือนกันทั้งในสังคมไทยและสังคมญี่ปุ่น แต่เกียรติที่ได้รับเพราะการเกิดก่อนไม่ได้รับประกันความประพฤติของผู้นั้นเสมอไป
แค่เกิดก่อนก็สอนได้?
ช่วงต้นเดือนกันยายน นะโอะ (ชื่อสมมุติ) ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นน้องของผมที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ และตอนนี้เป็นสถาปนิกอยู่ในฟินแลนด์ กลับมาแสดงผลงานที่ญี่ปุ่นเพราะงานชิ้นนั้นได้รับรางวัล เราไปกินข้าวด้วยกัน ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ แล้วนะโอะก็เล่าย้อนถึงเซ็นเซ ‘ชื่อดัง’ ของตัวเองด้วยน้ำเสียงซาบซึ้งในวิชาความรู้และโอกาสที่เซ็นเซมอบให้ จนตัวเองเจริญก้าวหน้า ได้ไปทำงานที่จีน และก้าวไปไกลกว่านั้นอีกเมื่อบริษัทของฟินแลนด์รับเข้าทำงาน ช่วงท้าย นะโอะเล่าด้วยน้ำเสียงอีกแบบหนึ่ง
พอเรียนจบจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ นะโอะก็ได้ร่วมงานกับเซ็นเซผู้เป็นสถาปนิกชั้นแนวหน้าคนหนึ่งของญี่ปุ่น เซ็นเซไม่ได้เป็นสถาปนิกอย่างเดียว แต่เป็นนักธุรกิจ และเป็นนักวิชาการที่สอนในมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังอีกแห่งหนึ่งด้วย สถาบันนี้มีชื่อพ้องกับตัวอักษรภาษาอังกฤษและโด่งดังไม่แพ้วาเซดะชนิดกินกันไม่ลง เซ็นเซมีสำนักงานด้านสถาปัตยกรรมที่ปักกิ่ง นะโอะเดินทางไปทำงานที่นั่นสองสามปี ต่อมาจึงได้รับข้อเสนอจากบริษัทของฟินแลนด์ เมื่อตัดสินใจจะไปฟินแลนด์จึงไปลาเซ็นเซที่สำนักงานในกรุงโตเกียว
“ไปหาเซ็นเซที่สำนักงาน แต่ตกใจที่สำนักงานโล่งไปหมด ไม่มีคอมพิวเตอร์เหลือสักเครื่อง” นะโอะเล่าหน้าตาย แต่น้ำเสียงตื่นเต้น “ทีแรกไม่กล้าถามว่าเกิดอะไรขึ้น ก็เลยพูดแค่ธุระของตัวเองว่า ตามที่เซ็นเซทราบแล้วคือ ผมได้งานที่ฟินแลนด์ ผมกำลังจะเดินทาง ก็เลยแวะมาลาเซ็นเซครับ ขอบคุณที่ให้ความรู้ ให้งาน และดูแลผมมาตลอดครับ”
“อ้อ ขอบใจมากนะที่อุตส่าห์มาลา” เซ็นเซตอบรับแบบนิ่งๆ แต่คงเห็นแววตาสงสัยของลูกศิษย์ จึงบอก “เอ้อ สำนักงานผมถูกสงสัยว่าใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ตำรวจก็เลยมาค้น เอาคอมพิวเตอร์ไปตรวจหมด”
“เหรอครับ เสียใจด้วยครับ” นะโอะตอบตามมารยาท และเสริมว่า “แล้วผมจะติดต่อกลับมาเป็นระยะ ๆ ครับ เซ็นเซดูแลสุขภาพด้วยนะครับ”
“ครับ โชคดีนะ” เซ็นเซอวยพร
หลังจากนะโอะไปฟินแลนด์ได้ไม่นาน เซ็นเซชื่อดังก็ดังยิ่งกว่าเดิม เมื่อมีข่าวพาดหัวว่า “รองศาสตราจารย์...แห่งมหาวิทยาลัย...ถูกจับเพราะต้องสงสัยว่ากระทำอนาจารเด็ก”
เนื้อข่าวบอกว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2012 นาย...ซึ่งเป็น รศ. ดร. ประจำ ม. ... อายุ 43 ปีซื้อบริการทางเพศเด็กผู้หญิงอายุ 13 ปีที่เมืองนะโงะยะ ขณะนั้นเป็นนักเรียนชั้น ม.1 โดยติดต่อผ่านอินเทอร์เน็ต พาเข้าโรงแรม ประกอบกิจกามและถ่ายภาพไว้
การกระทำนี้ผิดกฎหมายคุ้มครองเด็ก นะโอะย้อนคิดแล้วจึงได้คำตอบว่า ตอนไปหาเซ็นเซแล้วไม่เห็นคอมพิวเตอร์สักเครื่อง ไม่ใช่เพราะตำรวจเอาไปตรวจค้นของละเมิดลิขสิทธิ์ แต่เอาไปตรวจหาวัตถุพยานที่เข้าข่ายการกระทำอนาจารเด็ก เซ็นเซคงโกหกเพราะอายลูกศิษย์
นะโอะเปรยด้วยน้ำเสียงเสียดายว่า “เซ็นเซมีลูกมีเมียแล้วด้วยนะ แต่คงงานยุ่งมาก เครียดจัด ถึงได้ทำแบบนั้น”
ความเครียด?...นั่นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ถามว่าคนระดับดอกเตอร์และเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจะไม่รู้เชียวหรือว่าผิด? เรื่องแบบนี้ประชาชนญี่ปุ่นทั่วไป ใคร ๆ ก็รู้ ไม่จำเป็นต้องจบปริญญาเอก มันอยู่ที่จิตสำนึก ฉะนั้น ถ้าเกิดก่อน ต้องสอนตัวเองให้ดีด้วย
ในต้นเดือนกันยายนนี้อีกเช่นกัน มีข่าวว่า เซ็นเซประจำมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดัง ซึ่งมีชื่อเหมือนชื่อยุคสมัยหนึ่งของญี่ปุ่น ถูกจับเพราะทำผิดกฎหมายข้าราชการ เซ็นเซคนนี้ไม่ใช่ข้าราชการ แต่ผิดกฎหมายข้าราชการเพราะทำความลับราชการรั่วไหล สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เซ็นเซเป็นกรรมการสอบเนติบัณฑิต และดูเหมือนแอบบอกข้อสอบแก่ลูกศิษย์ตัวเอง การสอบนี้เป็นของประเทศ ฉะนั้น การทำข้อสอบรั่วจึงผิดกฎหมาย เซ็นเซถูกสอบและตอบว่า “(ผู้เข้าสอบคนนี้) เป็นลูกศิษย์ที่ผมเอ็นดู จึงอยากช่วยให้สอบผ่านด้วยทางใดทางหนึ่ง”
เซ็นเซเป็นศาสตราจารย์อายุ 67 ปี ส่วนลูกศิษย์ที่เซ็นเซ ‘เอ็นดู’ เป็นผู้หญิง
พอมีข่าวแบบนี้เกิดขึ้นที วงการอาจารย์ก็สั่นสะเทือนที และมหาวิทยาลัยก็ต้องออกมาขอโทษสังคม ผู้คนก็วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานา เสียงหนึ่งที่มักจะได้ยินคือ “พวกนักวิชาการอาจารย์มหาวิทยาลัยนี่ มีคนประหลาด ๆ เยอะเนอะ”
จะจริงหรือไม่ผมก็ (ยัง) ไม่แน่ใจ หรือว่าผมจะถูกรวมอยู่ในกลุ่มนั้นด้วยหรือเปล่าก็ตอบไม่ได้ รู้แค่ว่าเพราะเกียรติที่ได้รับจากสังคมนั้นสูงส่ง ถ้าทำลายเกียรติด้วยความเผอเรอ หรือสำนึกที่ย่อหย่อน ก็จะถูกสังคมสาปส่ง
อาจารย์คือผู้เกิดก่อน สอนหนังสือ หรือถ่ายทอดความรู้ ตลอดจนประสบการณ์ให้แก่ผู้อื่น แม้การเกิดก่อนไม่ได้รับประกันความประพฤติ แต่ถ้ารวมว่าการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีก็คือการสอนรูปแบบหนึ่ง ผู้ที่ได้ชื่อว่าอาจารย์ โดยเฉพาะอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยซึ่งได้รับความเคารพยกย่องอย่างสูง ก็ควรตั้งมั่นในศีลธรรมและกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดด้วย และคงดีไม่น้อยหากอาจารย์ทั้งหลายจะเตือนใจตัวเองอยู่เสมอว่า
เราเกิดก่อนจึงสอนได้
ในเมื่อเราเกิดก่อน ก็ควรสอนคนด้วย ไม่ใช่สอนแต่หนังสือ
และเพราะเราเกิดก่อน จึงต้องสอนตนก่อนจะสอนคนอื่น
ในฐานะอาจารย์รุ่นเล็กและเป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่สอนในมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น ผมคิดว่าคงถูกจับตามองมากกว่าอาจารย์ชาวญี่ปุ่นด้วยกัน จึงต้องรักษาเกียรติอย่างเต็มที่ในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความรับผิดชอบต่อการสอน ให้สมเกียรติคำว่า...เซ็นเซ
ว่าแล้ว...ก็เตรียมสอนต่อไป...ตอนนี้ตีหนึ่ง เดี๋ยวอีกสักชั่วโมงค่อยเอ่ยคำว่า “โอะยะซุมินะซะอิ (おやすみなさい;O-yasuminasai)—ราตรีสวัสดิ์”
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th