ชาวญี่ปุ่นสนใจเที่ยวชมงานเทศกาลไทย หรือ ไทยเฟสติวัล ณ นครโอซากา อย่างคับคั่ง โดยอาหารไทย, นวดแผนไทย และมวยไทยเป็นตัวแทนที่ได้รับความนิยมสูงสุดของประเทศไทย
งานเทศกาลไทย ณ นครโอซากา ครั้งที่ 13 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 -24 พฤษภาคม โดยความร่วมมือของรัฐบาลนครโอซากา, สถานกงสุลไทย ณ นครโอซากา , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, สำนักงานส่งเสริมการลงทุน และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยสถานที่จัดงาน คือ สวนสาธารณะปราสาทโอซากา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง
งานเทศกาลไทยได้รับความสนใจอย่างมากจากชาวญี่ปุ่น ซึ่งเข้าร่วมชมงานอย่างคับคั่ง โดยเฉพาะซุ้มจำหน่ายอาหารไทยต้องต่อคิวยาวนานเกือบชั่วโมง แต่ชาวญี่ปุ่นก็มิได้ย่อท้อเพื่อจะได้ลิ้มรสอาหารไทย
เมื่อสอบถามชาวญี่ปุ่นที่เข้าชมงาน ต่างบอกว่าเคยไปท่องเที่ยวยังประเทศไทย และประทับใจในแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม และอัธยาศัยที่ดีของคนไทย โดยเมื่อถามถึงประเทศไทย สิ่งที่ชาวญี่ปุ่นนึกถึงเป็นอย่างแรกๆ คือ อาหารไทย, นวดแผนไทย และมวยไทย
ด้านกิจกรรมบนเวที มีการแข่งขันตอบคำถามความรู้เกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยรู้จักประเทศไทยดีพอสมควร เช่น รู้ว่าสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ชื่อว่า “หัวลำโพง” ,รู้จักอาหารไทยหลายอย่าง ทั้ง ข้าวซอย ผัดกะเพรา และเบียร์สิงห์ รวมทั้งยังรู้จักรถตุ๊กตุ๊กของไทยอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ชาวญี่ปุ่นหลายคนให้ข้อเสนอแนะว่า อยากลิ้มรสอาหารไทยแบบต้นตำรับจริงๆ เนื่องจากอาหารไทยที่จำหน่ายในงาน รวมทั้งร้านอาหารไทยในญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยได้ปรับเปลี่ยนรสชาติ โดยคิดไปเองว่า ชาวญี่ปุ่นไม่ชอบอาหารรสจัดแบบไทยแท้ ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากที่เคยใช้ชีวิตในประเทศไทย ระบุว่า “อยากกินอาหารไทยรสชาติเดียวกับที่เคยกินในประเทศไทย”
นอกจากนี้ เครื่องปรุงอาหารไทย รวมทั้งผลไม้ไทยที่จำหน่ายในญี่ปุ่นนั้นยังหาได้ค่อนข้างยาก เมื่อเทียบกับสินค้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียนอื่นๆ เช่น ผลไม้จากฟิลิปปินส์ และเครื่องเทศจากอินโดนีเซียและเวียดนามที่หาได้ง่าย รวมทั้งมีราคาถูกกว่าสินค้าจากไทยอย่างมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพัฒนาด้านช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าไทยให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น
ทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าญี่ปุ่นคือเป้าหมายปลายทางอันดับต้นๆของนักท่องเที่ยวชาวไทย หากแต่ขณะเดียวกันจำนวนนักเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่มาเยือนประเทศไทยกลับลดลง เนื่องจากปัญหาหลายอย่าง เช่น อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง, ระบบมัคคุเทศก์และธุรกิจท่องเที่ยวที่ไร้ระเบียบและเอาเปรียบนักท่องเที่ยว รวมทั้ง แหล่งท่องเที่ยวที่ยังเป็นที่รู้จักแค่ กรุงเทพฯ, พัทยา, เชียงใหม่, ภูเก็ต โดยแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ยังไม่เป็นที่รู้จักมากเท่าที่ควร
หากนักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวนนับแสนคนที่เดินทางมายังญี่ปุ่นทุกเดือน สามารถเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบที่ไม่ใช่แค่กินซูชิ, ถ่ายเซลฟี่, โพสต์เฟชบุ๊ก คนไทยเหล่านี้ คือ ทูตที่ดีที่สุดในการประชาสัมพันธ์ประเทศไทย.