xs
xsm
sm
md
lg

จับตา 17พ.ค. ลงประชามติชี้ชะตาจัดตั้ง “มหานครโอซากา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โอซากา เมืองท่าที่โดดเด่นเป็นอันดับ 2 ของแดนอาทิตย์อุทัย กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ โดยชาวโอซากาจะลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ เพื่อจัดตั้ง “มหานครโอซากา” มีสถานะเทียบเคียงกรุงโตเกียว

อะไรคือมหานครโอซากา ?
โอซากา เป็นศูนย์กลางการค้าและเศรษฐกิจของภาคตะวันตกของญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า คันไซ เทียบชั้นได้กับ กรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคตะวันออก หรือ คันโต

การปกครองของโอซากาในปัจจุบันมี 2 ระดับ คือ เทศบาลเมืองโอซากา และ จังหวัดโอซากา ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเพราะรวมพื้นที่พัฒนาใหม่และเขตรอบๆไว้ด้วย ซึ่งนายโทรุ ฮาชิโมโต นายกเทศมนตรีเมืองโอซากา และผู้นำพรรคเจแปน อินโนเวชั่น ระบุว่า สถานะที่มีทั้งจังหวัดโอซากาและเมืองโอซากา เป็นความซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองงบประมาณ จึงร่างข้อเสนอให้ยุบการปกครองรวมกัน และจัดตั้งเป็น “มหานครโอซากา”
นายโทรุ ฮาชิโมโต นายกเทศมนตรีเมืองโอซากา เจ้าของแนวคิดจัดตั้ง มหานครโอซากา
มหานครโอซากา จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

ตามข้อเสนอของนายฮาชิโมโต มหานครโอซากาจะยุบการปกครองระดับจังหวัดที่ขณะนี้มี 24 อำเภอ และจัดตั้งเป็น 5 เขตพิเศษ เพื่อมุ่งให้การบริหารเมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะทำให้ระบบสวัสดิการของรัฐ เช่น โรงพยาบาล, มหาวิทยาลัย, โรงเรียน, เครือข่ายคมนาคม ตลอดจนระบบภาษีท้องถิ่น ถูกจัดโครงสร้างใหม่ทั้งหมด ซึ่งฝ่ายสนับสนุนการจัดตั้งมหานครโอซาการะบุว่า จะทำให้การบริหารงานของท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ฝ่ายคัดค้านโต้ว่าจะ แผนของนายฮาชิโมโตจะสร้างความอลหม่านครั้งใหญ่ในการปกครอง เหมือนการทุบบ้าน แล้วเอาอิฐเก่ามาสร้างเป็นบ้านใหม่ที่อ้างว่าจะสวยกว่าเดิม

พลิกฟื้นโอซากา ท้าทายโตเกียว?

ข้อเสนอจัดตั้งมหานครโอซากา ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการยกระดับสถานะการปกครองท้องถิ่นเท่านั้น แต่นายฮาชิโมโต อ้างว่า ต้องการพลิกฟื้นสถานะโอซากา ที่ตกต่ำลงมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

สัดส่วน GDP ของโอซากาเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจของทั้งประเทศญี่ปุ่นได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือเพียงไม่ถึง 8% เท่านั้น ขณะที่สถานะจังหวัดที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ก็ถูกแซงหน้าโดยจังหวัดคานากาวะ และปัจจัยที่สำคัญ คือ ความเป็นอยู่ของชาวโอซากาตกต่ำลงมาก เศรษฐกิจหดตัวลงมากถึง 16% ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ชาวโอซากาจำนวนมากหางานทำไม่ได้ หรือต้องไปทำงานในพื้นที่อื่น ธุรกิจท้องถิ่นปิดกิจการ หนี้ของเทศบาลโอซากาก็สูงกว่าหนี้สินของเทศบาลกรุงโตเกียวถึง 3 เท่าตัว

โอซากาในวันนี้จึงแทบจะไม่หลงเหลือความรุ่งเรืองในอดีต และตกอยู่ในสภาพหยุดนิ่งมาเกือบ 10 ปี จนกระทั่งมีทนายความหนุ่มที่ชื่อ “โทรุ ฮาชิโมโต” ประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการจังหวัดโอซากาเมื่อหลายปีก่อน และชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น

หลังจากนั้นนายฮาชิโมโต ก็เริ่มวางแผนจัดตั้งมหานครโอซากา โดยเมื่อหลายปีก่อน เขาถึงกับยอมสละตำแหน่งผู้ว่าการจังหวัดโอซากา ถอยลงไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองโอซากา ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าแทน เพื่อเดินหน้าแผนจัดตั้งมหานคร พร้อมประกาศว่าจะเลิกเล่นการเมือง หากพ่ายแพ้การลงประชามติ
โปสเตอร์ทั้งฝ่ายสนับสนุน และคัดค้านการจัดตั้งมหานครโอซากา
พรรคการเมืองใหญ่ VS พรรคท้องถิ่น

ข้อเสนอจัดตั้งมหานครโอซากาถูกการคัดค้านจากพรรคการเมืองใหญ่ทุกพรรคในกรุงโตเกียวทั้งปีกรัฐบาลและฝ่ายค้าน เพราะพรรคการเมืองระดับชาติรู้ดีว่าการจัดตั้งมหานครโอซากาจะสั่นคลอนระบบการปกครองท้องถิ่นของญี่ปุ่นอย่างรุนแรง เพราะรัฐบาลจังหวัดอื่นๆ อาจขอจัดตั้งเป็นมหานครเช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นการท้าทายสถานะของเมืองหลวงอย่างกรุงโตเกียว ทั้งในด้านอำนาจการปกครองและเงินได้จากภาษีท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งทุกครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา โอซากาเป็นพื้นที่ไม่กี่แห่งในญี่ปุ่นที่พรรครัฐบาลไม่สามารถช่วงชิงชัยชนะได้ โดยพรรคเจแปน อินโนเวชั่น ของนายฮาชิโมโตครองเสียงข้างมากในสภาท้องถิ่นทั้งของจังหวัดโอซากา และเทศบาลเมืองโอซากา ทำให้ข้อเสนอจัดตั้งมหานครโอซากาผ่านความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น จนมาถึงวันลงประชามติชี้ชะตาในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ ซึ่งนับเป็นการลงประชามติ เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการปกครองครั้งแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของญี่ปุ่น
โปสเตอร์คัดค้านการจัดตั้งมหานครโอซากา ของพรรครัฐบาลญี่ปุ่น
ข้อคัดค้านคืออะไร?

พรรคการเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีฐานอยู่ที่กรุงโตเกียว ระบุว่า ความซ้ำซ้อนของการปกครอง ที่มีทั้งจังหวัดโอซากาและเทศบาลเมืองโอซากา ไม่ใช่ความไร้ประสิทธิภาพหรือฟุ่มเฟือย พร้อมอ้างว่าข้อเสนอของนายฮาชิโมโต เป็นเหมือนกับ การวางเดิมพันครั้งใหญ่ โดยการสร้างระบบการปกครองแบบใหม่ ที่ไม่แน่ชัดว่าจะดีหรือแย่กว่าเดิม และจะเป็นความเสี่ยงที่ลูกหลานต้องแบกรับ

ฝ่ายคัดค้านยังระบุว่า การเปลี่ยนสถานะเป็นมหานครโอซากา ถึงแม้จะได้อิสระในการปกครองตัวเองมากขึ้น แต่ชาวเมืองก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย เช่น ค่าโดยสารรถไฟใต้ดิน, รถเมล์ รวมทั้งระบบสวัสดิการต่างๆ ก็ต้องขึ้นราคา

ใครมีสิทธิ์ลงประชามติ?

ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดโอซากา และมีอายุ 20 ปีขึ้นไปทุกคน มีสิทธิ์ลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์นี้ โดยมีจำนวนผู้มีสิทธิ์มากกว่า 2ล้าน 1แสนคน โดยบัตรลงประชามติจะถามว่า “เห็นด้วย” หรือ “คัดค้าน” ข้อเสนอจัดตั้งมหานครโอซากา ซึ่งหากมีผู้เห็นด้วยเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมด มหานครโอซากาจะถูกจัดตั้งขึ้นในเดือนเมษายน ปี 2017.

ติดตามรายงานพิเศษจากพื้นที่ในวันลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ จากเมืองโอซากา 17 พฤษภาคมนี้ ทีนี่ที่เดียว !!!.
กำลังโหลดความคิดเห็น