xs
xsm
sm
md
lg

จากธรณีพิโรธเนปาล สู่บทเรียนรับมือภัยพิบัติของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ญี่ปุ่นส่งหน่วยกู้ภัยไปช่วยเหลือเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ที่ประเทศเนปาล
เหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ที่ประเทศเนปาล ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โบราณสถานมรดกโลกได้รับความเสียหายอย่างหนัก เหตุภัยพิบัติเช่นนี้เคยเกิดขึ้นหลายครั้งในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีภูมิประเทศอยู่ในเขตที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติสารพัดอย่าง ทั้งแผ่นดินไหว, ภูเขาไฟปะทุ และพายุไต้ฝุ่น รัฐบาลและประชาชนชาวญี่ปุ่นจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติอยู่ตลอดเวลา

จากการศึกษาของหน่วยงานป้องกันภัยพิบัติของญี่ปุ่น พบว่า มูลเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิตและได้รับอันตรายจากภัยพิบัติ คือ ความตื่นตระหนก และไม่มีการเตรียมพร้อม โดยเฉพาะภัยพิบัติที่น่ากลัวที่สุด คือ แผ่นดินไหว เนื่องจากไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้
ป้ายบอกเส้นทางหนีภัยยามฉุกเฉิน ที่เมืองวากายามะ
สำหรับคนญี่ปุ่นที่ต้องอาศัยอยู่ในประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งแล้ว ทุกคนจะได้รับ “การฝึกรับมือภัยพิบัติ" ปีละหลายครั้งตั้งแต่สมัยชั้นประถม และทุกคนล้วนแต่เคยผ่านประสบการณ์เผชิญกับแผ่นดินไหวขนาดเล็กหรือกลางมาบ้างตั้งแต่วัยเด็ก ดังนั้นเมื่อห้องเกิดการสั่นกึกกักทุกคนก็จะคิดทันทีว่า "แผ่นดินไหวหรือเปล่านะ?" และหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นจริง ทุกคนจะคิดได้โดยอัตโนมัติว่า “ต้องรีบไปปิดแก๊ส และต้องรีบไปเปิดประตู"

แต่ถ้าเป็นชาวต่างชาติที่มาจากประเทศซึ่งไม่ค่อยมีแผ่นดินไหวแล้ว มักไม่ค่อยมีแนวคิดว่า “เสียงกึกกัก น่าจะเกิดแผ่นดินไหว!” เมื่อไม่มีการตั้งสติจึงอยู่ในสภาวะที่ไม่รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และตื่นตระหนกจนทำอะไรไม่ถูก บางคนได้แต่นั่งกอดกัน แทนที่จะหาทางหนีไปยังสถานที่ปลอดภัย
ป้ายด้านหน้าศูนย์อพยพที่เมืองอะสุกะ ระบุว่า มีน้ำสำหรับดับไฟอยู่ใต้ดิน
ชาวญี่ปุ่นแทบทุกคนจะถูกฝึกให้ “ตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตระหนก” กับภัยที่เกิดขึ้น ขณะที่รัฐบาลเน้นย้ำเสมอว่า “การเตรียมพร้อมในทุกวันเป็นสิ่งสำคัญ”

การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติมีขึ้นในทุกระดับของสังคม โรงเรียนจะให้ความรู้เรื่องภัยพิบัติ ชุมชนและหน่วยงานต่างๆก็มีการซ้อมรับมือภัยพิบัติปีละอย่างน้อย 2 ครั้ง และเมื่อไปติดต่อราชการที่อำเภอจะได้รับ “คู่มือป้องกันภัยพิบัติ” ซึ่งจะมีเนื้อหาบอกถึงการเตรียมสิ่งของที่จำเป็นในยามเกิดภัยพิบัติ รวมทั้งแผนที่สถานที่หลบภัยของแต่ละชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนและสวนสาธารณะ  ขณะที่ตามถนนก็จะมีป้ายบอกเส้นทางหนีภัยอย่างชัดเจน ดังนั้น ชาวญี่ปุ่นทุกบ้านจะรู้ว่าหากเกิดภัยพิบัติขึ้นจะต้องมุ่งหน้าไปยังสถานที่ใด

สำหรับชาวต่างชาติแล้ว เมื่อไปขึ้นทะเบียนที่อยู่อาศัยที่อำเภอก็จะได้รับคู่มือป้องกันภัยพิบัติเช่นเดียวกัน นอกจากนี้รัฐบาลในท้องถิ่นต่างๆ ยังได้จัดทำข้อมูลเส้นทางหนีภัยและการรับมือภัยพิบัติแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั้งในรูปแบบหนังสือ, DVD และเว็บไซต์ด้วย
ชาวบ้านทุกคนจะได้รับแจกคู่มือยามเกิดภัยพิบัติจากทางราชการท้องถิ่น
การทำความคุ้นเคย เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการช่วยตั้งสติยามเกิดภัยพิบัติ ในแต่ละจังหวัดของประเทศญี่ปุ่นจะมี ศูนย์รับมือภัยพิบัติ หรืออาคารจำลองภัยพิบัติอยู่  ที่นั่นจะมีมุมที่สามารถเข้าไปขอทดลองประสบการณ์แผ่นดินไหว หรือฝึกการดับเพลิงได้ ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสกับความรู้สึกจริงเมื่อเผชิญกับแผ่นดินไหว รวมทั้งได้ทดลองใช้อุปกรณ์ดับเพลิง และฝึกการผายปอดหรือปั๊มหัวใจได้ด้วย การได้เห็นได้สัมผัสกับของจริงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความคุ้นเคย ซึ่งจะทำให้ไม่ตื่นตระหนกเมื่อเกิดภัยขึ้นจริง
แอพพลิเคชั่นเตือนภัยแผ่นดินไหวของสถานีโทรทัศน์ NHK
สื่อมวลชนของญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการแจ้งเตือนภัย โดยมีสถานีโทรทัศน์และวิทยุ NHK เป็นแม่ข่ายทั่วประเทศ ทุกเช้าสถานีวิทยุ NHK จะทดสอบสัญญาณเสียงไซเรน ซึ่งใช้เตือนภัยแผ่นดินไหวเพื่อให้ชาวญี่ปุ่นทุกคนรับรู้และคุ้นเคยว่า "เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณนี้ให้เตรียมพร้อมหนีภัย! " และในยุคอินเตอร์เน็ต แอพพลิเคชั่นของ NHK ก็มีตัวอย่างเสียงสัญญาณเตือนภัยและรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ส่วนโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในญี่ปุ่นก็ถูกกำหนดให้มีระบบแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวด้วย

นอกจากข้อมูลจากหน่วยราชการท้องถิ่น,ผู้นำชุมชน และ สถานีโทรทัศน์และวิทยุ NHK แล้ว สื่อมวลชนอื่นๆ ของญี่ปุ่น ก็นำเสนอข่าวสารเรื่องการป้องกันภัยพิบัติอยู่เป็นประจำ ทำให้ชาวญี่ปุ่นมี "สัญชาติญาณการระวังภัย" อยู่ในตัวเอง
ข้อมูลเรื่องการป้องกันภัยพิบัติในหนังสือพิมพ์โยมิอุริ ชิมบุน วันที่ 26 เมษายน 2015
ชาวญี่ปุ่นตระหนักดีว่า ภัยพิบัติหลายอย่างไม่อาจป้องกันได้ แต่การเตรียมคาวมพร้อมและสร้างความคุ้นเคย จะช่วยรักษาชีวิตและลดความสูญเสียให้น้อยลงได้  ชาวญี่ปุ่นไม่เคยคิดว่า “แถวบ้านฉันไม่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว ” หรือ “ภัยพิบัติเป็นเรื่องของโชคชะตา ”  เพราะโลกทุกวันนี้ สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต ไม่ได้หมายความว่าไม่มีโอกาสเกิดขึ้น เหมือนเช่นเหตุการณ์คลื่นสึนามิที่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2547  ในครั้งนั้นมีคนไทยกี่คนที่รู้จักว่า “สึนามิคืออะไร” ?
กำลังโหลดความคิดเห็น