เหตุการณ์ที่กลุ่มนักแสดงวัยรุ่นของไทยทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่ประเทศญี่ปุ่น อาจเกิดขึ้นเพราะความคึกคะนองตามประสา “วัยว้าวุ่น” หากแต่เหตุครั้งนี้ให้คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องฉุกคิดว่า พฤติกรรมบางอย่างที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ในสังคมไทยอาจเป็นเรื่องสำคัญในสังคมอื่น ความแตกต่างนี้ไม่ได้ชี้ว่าประเทศใดเจริญกว่าหรือมีอารยะกว่า หากแต่สะท้อนถึงแนวคิดเรื่อง “จิตสำนึกสาธารณะ” ที่แตกต่างกัน
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คนไทยเลือกไปท่องเที่ยวมากเป็นอันดับต้นๆ แต่นักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวนไม่น้อยยังขาดความเข้าใจเรื่องพฤติกรรมในที่สาธารณะ ถึงขนาดที่สถานทูตไทย ประจำกรุงโตเกียว ต้องออกประกาศแนะนำเรื่องมารยาทและวิธีปฏิบัติตนให้เหมาะสมเมื่ออยู่ในญี่ปุ่น โดยทุกครั้งที่เกิดเรื่องราวจากพฤติกรรมของคนไทยที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไร้มารยาทนั้น มักจะมีคำแก้ตัวว่า “ไม่เข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่าง” หากแต่ความเป็นจริงแล้ว เรื่องที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความบกพร่องใน “การควบคุมตัวเอง” และ“จิตสำนึกสาธารณะ”
ความเป็นญี่ปุ่นสามารถจำกัดความได้ด้วยตัวอักษรคันจิตัวเดียว คือ 和 หรือ “วะ” ซึ่งหมายถึง ความกลมกลืน เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นเกาะ คนญี่ปุ่นจึงต้องอยู่กันอย่างแออัดในพื้นที่จำกัด และเป็นเหตุให้การ “อยู่ร่วมกัน” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและยึดมั่นในพฤติกรรมที่เป็นแบบแผนเดียวกัน พฤติกรรมที่แตกต่างออกไปจะไม่ถูกมองว่า “แนว” “เท่ห์” หรือสะท้อนความเป็นตัวตน แต่จะถูกมองว่าเป็น “เรื่องประหลาด” และชาวญี่ปุ่นจะฟันธงได้ทันทีว่าผู้ที่ประพฤตินอกแบบแผนนั้นคือ “คนนอก” 外人หรือ “ไกจิน” ซึ่งไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ “ชาวต่างชาติ” แต่ยังมีนัยยะถึงการไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมญี่ปุ่น
ชาวญี่ปุ่นจึงเคร่งครัดในเรื่องพฤติกรรมในที่สาธารณะ ไม่เพียงแต่การงดใช้เสียง แต่การอ่านหนังสือ วางสิ่งของ นั่งหรือยืนในพื้นที่ร่วมกัน ชาวญี่ปุ่นก็จะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบหรืออาจรบกวนผู้ที่อยู่ใกล้เคียง ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาพื้นที่ส่วนตัวอันน้อยนิดเอาไว้ด้วย
พฤติกรรมสาธารณะอย่างหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ระหว่างคนไทยกับชาวญี่ปุ่น คือ เรื่องของ “โทรศัพท์มือถือ” ซึ่งชาวญี่ปุ่นติดโทรศัพท์ยิ่งกว่าคนไทย หากแต่พฤติกรรมการใช้งานกลับแตกต่างกันอย่างมาก
ในระบบขนส่งมวลชนของญี่ปุ่น ผู้โดยสารไม่เพียงจะต้องปิดโทรศัพท์มือถือในบริเวณใกล้เก้าอี้สำรองสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากคลื่นจากโทรศัพท์อาจรบกวนการทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจหรือเครื่องมือแพทย์อื่นๆ แต่ที่สำคัญ คือ ชาวญี่ปุ่นจะไม่พูดคุยโทรศัพท์เลยตลอดการโดยสารรถไฟหรือรถเมล์ โดยหากมีธุระสำคัญจะใช้การส่งข้อความเท่านั้น
ในรถไฟของญี่ปุ่นจะมีประกาศเตือนให้ผู้โดยสารเปลี่ยนโหมดการทำงานของโทรศัพท์เป็นระบบสั่น ซึ่งชาวญี่ปุ่นเรียกกันว่า “แมนเนอร์ โหมด” แปลว่า “โหมดมารยาท” สะท้อนชัดเจนว่า การงดใช้เสียงในที่สาธารณะนั้นถือเป็นมารยาทที่สำคัญของชาวอาทิตย์อุทัย
เรื่องสำคัญอีกอย่างสำหรับชาวญี่ปุ่น คือ “สิทธิความเป็นส่วนตัว” ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ โทรศัพท์มือถือทุกรุ่นที่มีกล้องถ่ายรูปและจำหน่ายในญี่ปุ่น จะต้องมีเสียงชัตเตอร์เสมอ
นับตั้งแต่ปี 2001 ที่ญี่ปุ่นเริ่มมีโทรศัพท์พร้อมกล้องถ่ายภาพ สาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อของการแอบถ่าย ทำให้ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือทุกค่ายตกลงร่วมกันว่า โทรศัพท์มือถือทุกรุ่นที่มีกล้องจะต้องมีเสียงเวลาถ่ายภาพหรือวีดีโอ และเสียงนี้จะไม่สามารถปิดเงียบได้ในทุกกรณี ไม่เว้นแม้แต่เมื่ออยู่ในแมนเนอร์โหมดหรือระบบสั่น นอกจากนี้เสียงชัตเตอร์จะต้องดังมากพอที่จะให้ผู้คนรอบข้างได้ยิน และผู้ใช้จะไม่สามารถเปลี่ยนเปลี่ยนไปใช้เสียงอื่นแทนได้ หลังจากปรากฏว่ามีผู้ใช้โทรศัพท์เจ้าเล่ห์บางรายใช้วิธีเปลี่ยนเสียงชัตเตอร์เป็นเสียงเงียบแทน
กฎเกณฑ์เรื่องการบังคับใช้มีเสียงของกล้องถ่ายรูปนี้ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายใดๆ หากแต่เป็นที่ยอมรับของค่ายมือถือทุกค่ายในญี่ปุ่น แม้กระทั่งโทรศัพท์ยอดนิยมอย่าง ไอโฟน ซึ่งทางบริษัทแอปเปิลเคยประกาศว่า จะไม่ยอมปรับแต่งโทรศัพท์เป็นการเฉพาะสำหรับประเทศใดประเทศหนึ่ง หากแต่ไอโฟนที่จำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น แตกต่างจากไอโฟนทั่วโลกเพียง 2 เรื่อง คือ ไม่สามารถปิดเสียงกล้องถ่ายรูปได้ และมีการติดตั้งระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว
มารยาทบางอย่างของชาวญี่ปุ่น อาจไม่จำเป็นต้องนำมาใช้ในสังคมไทย ชาวญี่ปุ่นเคร่งครัดในวินัยมากกว่าเพราะถูกจำกัดด้วยภูมิประเทศที่ถูกล้อมรอบด้วยทะเล หากอยู่ร่วมกันไม่ได้ก็หมดทางหนีรอด แตกต่างจากเมืองไทยที่ "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" คนไทยอยู่กันอย่างสุขสบายมาแต่ไหนแต่ไร ไม่เคยต้องแก่งแย่งทรัพยากรหรืออยู่อย่างแร้นแค้น จนกลายเป็นนิสัย “ทำได้ตามใจคือไทยแท้”
การทำความเข้าใจมารยาททางสังคมที่แตกต่างนั้น ไม่ใช่เพียงแค่เรื่อง “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” แต่ที่สำคัญคือการเรียนรู้ “จิตสำนึกสาธารณะ” โดยในภาษาญี่ปุ่น คำว่า “เรียนรู้” 勉強 ใช้อักษรคันจิที่มีความหมายดั้งเดิมตามภาษาจีนว่า “บังคับ” ซึ่งชาวญี่ปุ่นได้อธิบายนัยยะของคำว่าเรียนรู้ว่า ผู้ที่บังคับตนเองทั้งด้านพฤติกรรมและจิตใจได้เท่านั้น จึงเป็นผู้รู้ที่แท้จริง.
อ่านข่าวประกอบ บทเรียนเกรียนไม่เลือกที่! “ฮอร์โมน” พุ่ง ว้าวุ่นทั่วแดนซากุระ (ชมคลิป)
ชวนวิจารณ์ย้อนหลัง? ขุดภาพ "ญาญ่า" เปรียบเทียบแก๊ง "ฮอร์โมน"