หากซากุระเป็นตัวแทนของฤดูใบไม้ผลิ ดอกบ๊วยหรือดอกเหมยก็คือตัวแทนของฤดูหนาว และขณะนี้ชาวญี่ปุ่นกำลังชื่นชมกับ “เทศกาลดอกบ๊วยบาน” เป็นความงามในช่วงเหมันตฤดูจะผ่านพ้นไป และต้อนรับวสันตฤดู ที่กำลังจะมาเยือน
บ๊วยเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน จากนั้นจึงได้ขยายพันธุ์ไปปลูกในประเทศญี่ปุ่น, เกาหลี และเวียดนาม ดอกบ๊วยสามารถบานสะพรั่งได้ท่ามกลางหิมะและอากาศที่หนาวเย็น ชาวแดนอาทิตย์อุทัยจึงรับค่านิยมมากจากจีนว่า บ๊วยเป็นพืชที่เป็นสัญลักษณ์แห่งฤดูหนาวคู่กับต้นสนและไม้ไผ่ ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “สามสหายแห่งวสันตฤดู”
ดอกบ๊วยมีหลากสีหลายสายพันธุ์ตั้งแต่สีแดงเข้ม, สีชมพู จนถึงสีขาว เมื่อบานสะพรั่งพร้อมกันจึงงดงามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่พืชพรรณอย่างอื่นล้วนแต่อยู่ในสภาพผลัดใบไร้ผล
ความจริงแล้วชาวญี่ปุ่นชื่มชมดอกบ๊วยบานมาก่อนชื่มชมดอกซากุระเสียอีก โดยตั้งแต่สมัยนาระ (ค.ศ. 710-794) ก็มีเทศกาลดอกบ๊วยบานแล้ว ขณะที่ดอกซากุระเพิ่งได้รับความนิยมในสมัยเฮอัน (ค.ศ.794-1185)
ในทางศิลปะมีภาพวาดดอกบ๊วยจำนวนมากมาย เช่นเดียวกับในบทกวีไฮกุของญี่ปุ่น ดอกบ๊วยถือเป็นคำสัญญะที่สื่อความหมายถึงการเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
“สุกุวะระ มิชิซาเนะ” นักการศึกษาและนักการเมืองชื่อดังในสมัยเฮอัน ชื่นชอบดอกบ๊วยเป็นพิเศษ โดยเมื่อเขาเสียชีวิตและได้รับยกย่องเป็น “เทพแห่งความรู้” จึงได้ใช้ตราสัญลักษณ์รูปดอกบ๊วยเป็นตราประจำศาลเจ้าเทพแห่งความรู้ทุกแห่ง ซึ่งเด็กนักเรียนทั่วประเทศญี่ปุ่นมักจะไปสักการะในช่วงก่อนการสอบ
ชาวญี่ปุ่นยังเชื่อว่าต้นบ๊วยสามารถช่วยปกป้องบ้านเรือนจากภูตผีปีศาจ ดังนั้นจึงนิยมปลูกต้นบ๊วยไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นทิศที่ภูตผีเข้ามาหา และยังเชื่อกันว่าหากทานบ๊วยหลังอาหารเช้าจะช่วยปัดเป่าขจัดโชคร้ายได้
สถานที่ชมดอกบ๊วยบานที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในแดนอาทิตย์อุทัย คือ สวนสาธารณะไคระ เมืองมิโตะ จังหวัดอิบารากิ เนื่องจากที่นี่เป็น 1 ใน3 สวนชื่อดังของญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นโดยตระกูลของโชกุนโตกุกาวะ โดยมีต้นบ๊วยกว่า 3,000 ต้น100 สายพันธุ์ เทศกาลดอกบ๊วยบานที่สวนสาธารณะไคระในปีนี้ จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7-22 มีนาคม
สถานที่อื่นที่ได้รับความนิยมในการไปชมดอกบ๊วยบานหรือมีงาน “เทศกาลดอกบ๊วย” ได้แก่
สวนปราสาทโอซากา (ช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน)
สวนฮาเนะงิ กรุงโตเกียว ( 7 กุมภาพันธ์ - 1มีนาคม)
ศาลเจ้าเทนมัน เมืองเกียวโต (ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ถึงปลายเดือนมีนาคม)
สวนพฤษศาสตร์ เมืองนาโกย่า ( 25 กุมภาพันธ์ - 22 มีนาคม)
ป่าต้นบ๊วยมิซาโต เมืองทะกะซะกิ ( 1 มีนาคม -กลางเดือนมีนาคม)
ภายในงาน “เทศกาลดอกบ๊วยบาน” นอกจากจะได้ชื่มชมดอกบ๊วยหลายร้อยถึงนับพันต้นบานสะพรั่งแล้ว ยังสามารถลองลิ้มชิมรสอาหารและขนมจากดอกบ๊วย เช่น ซอฟครีมรสบ๊วย, ขนมต่างๆ, ซอสบ๊วย, อาหารที่ใช้บ๊วยเป็นส่วนประกอบ, บ๊วยดอง รวมถึง เหล้าบ๊วย หรือ “อุเมะฉุ” ที่ชาวญี่ปุ่นเป็นต้นตำรับด้วย.