xs
xsm
sm
md
lg

เปิดซอง "อั่งเปา" เด็กญี่ปุ่น สอนลูกหลานบริหารเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วงตรุษจีนเป็นเวลา “รับทรัพย์” ของเด็กๆหลายคน ซึ่งเด็กชาวญี่ปุ่นก็ได้รับเงินปีใหม่ หรือ “อั่งเปา” เช่นเดียวกัน หากแต่เบื้องหลังซองแดงยังแฝงไปด้วยบทเรียนสอนเด็กเรื่องการบริหารเงิน และความกตัญญูรู้คุณ

ถึงแม้ชาวญี่ปุ่นจะรับวัฒนธรรมจีนมายาวนานและมีเทศกาลประเพณีหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน หากแต่วันขึ้นปีใหม่ของชาวญี่ปุ่นได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม ตั้งแต่การปฏิรูปเมจิ (ค.ศ.1872) ซึ่งญี่ปุ่นได้ปฏิรูปประเทศตามแบบตะวันตกจึงยกเลิกการใช้ปฏิทินจันทรคติแบบจีน อย่างไรก็ตาม เด็กๆชาวญี่ปุ่นก็จะได้รับเงิน “อั่งเปา” เช่นเดียวกับเด็กๆชาวจีน เพียงแต่รับในวันที่ 1 ม.ค.เท่านั้น

เงินปีใหม่ หรือ “โอะโทชิดามะ” ในภาษาญี่ปุ่นเป็นเงินขวัญถุงสำหรับเด็กๆอย่างแท้จริง คือจำนวนเงินไม่มากเพื่อเป็นสิริมงคลรับปีใหม่ จึงแตกต่างจากเด็กๆเมืองจีนหรือประเทศอื่นที่ได้อั่งเปากันเป็นหลักหมื่นหรือมากกว่านั้น ชาวญี่ปุ่นมองว่า สาเหตุที่ชาวจีนให้อั่งเปากันเป็นมูลค่าสูง เนื่องจากทุกวันนี้ชาวจีนมีลูกคนเดียว เด็กๆจึงเป็นดั่งแก้วตาดวงใจของผู้ใหญ่ทุกคน นอกจากนี้ชาวจีนยัง “หน้าใหญ่ใจโต” ถือว่ามูลค่าของอั่งเปาสะท้อนความใกล้ชิดและการให้เกียรติ์กับครอบครัวของเด็ก

ชาวญี่ปุ่นมักจะมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนในทุกเรื่อง การให้เงินขวัญถุงวันปีใหม่ก็เช่นเดียวกัน ชาวญี่ปุ่นจะให้จำนวนเงินแตกต่างกันไปตามวัยของเด็ก โดยวัยรุ่นที่เรียนมหาวิทยาลัยจะได้เงินอั่งเปาราว 5000เยน (ประมาณ 1,500บาท) หรือสูงที่สุดไม่เกิน 10,000 เยน (ราว3,000บาท)

อัตราเงินขวัญถุงปีใหม่ที่เด็กชาวญี่ปุ่นได้รับ มีดังนี้
อนุบาล : 1,000 เยน
ประถม : 2,000 เยน
มัธยมต้น : 3,000 เยน
มัธยมปลายถึงมหาวิทยาลัย: 5,000-10,000 เยน

นอกจากนี้ ครอบครัวชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยยังมีธรรมเนียมการให้อั่งเปาลดหลั่นกันไปตามลำดับอาวุโส คือ ปู่ยาตายายและพ่อแม่มักมอบเงินขวัญถุงให้ลูกหลานราว 10,000 เยน ส่วนลุงป้าน้าอามักมอบเงินให้ราว 5,000 เยน ส่วนญาติคนอื่นก็จะมอบเงินให้ราว 3,000 เยนเท่านั้น อั่งเปาของเด็กๆชาวญี่ปุ่นจึง “เบา” กว่าของเด็กชาวจีนและประเทศอื่นๆเป็นอย่างมาก

สื่อมวลชนญี่ปุ่นเคยสำรวจพบว่า เด็กแดนอาทิตย์อุทัยได้อั่งเปาวันปีใหม่รวมเป็นมูลค่าเฉลี่ยเพียงแค่ 26,500 เยนเท่านั้น (ราว 8,800บาท) ผลสำรวจยังระบุว่า เด็กๆชาวญี่ปุ่นกว่า 90% เลือกนำเงินอั่งเปาไปฝากธนาคารมากกว่านำไปซื้อสิ่งของต่างๆ โดยพ่อแม่จะพาลูกไปเปิดบัญชีที่ธนาคาร พร้อมใช้โอกาสนี้สอนให้รู้จักการใช้เงินและการเก็บออม โดยเมื่อออมเงินได้จำนวนหนึ่ง เด็กๆก็สามารถนำเงินไปซื้อสิ่งของ บางคนก็ใช้ซื้อของขวัญเพื่ออวยพรวันเกิดและโอกาสสำคัญของพ่อแม่อีกด้วย

ชาวญี่ปุ่นถือว่าอั่งเปาเป็นเงินสิริมงคล และเป็นโอกาสสอนเด็กๆเรื่องการบริหารเงิน พ่อแม่หลายคนจะช่วยแนะนำลูกให้ทำบัญชีรายรับจากเงินอั่งเปา จากนั้นจึงแบ่งเงินเป็นส่วนๆ เพื่อเก็บออมและใช้จ่าย นอกจากนั้นยังสอนลูกๆว่า การซื้อของต้องแบ่งเป็น “ของที่อยากได้” กับ “ของที่จำเป็น” โดยของที่จำเป็นสามารถซื้อได้ก่อน ส่วนของที่อยากได้ให้อดใจรออีกสักพัก เพราะอีกไม่นานสิ่งของนั้นก็อาจกลายเป็น “ของที่ไม่อยากได้” แล้วก็ได้ การบ่มเพาะนิสัยเช่นนี้ทำให้ชาวญี่ปุ่นเป็นคนที่มีวินัยในการใช้จ่ายเงิน โดยเฉพาะบรรดาแม่บ้านญี่ปุ่นจะมีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายในครอบครัวอย่างละเอียดเสมอ

ชาวญี่ปุ่นบางครอบครัวยังแนะนำให้เด็กๆเขียนการ์ดขอบคุณผู้ใหญ่ที่ให้เงินสิริมงคลวันปีใหม่ รวมทั้งบอกว่าตนเองมีแผนการใช้เงินอั่งเปาอย่างไร เป็นการสอนเด็กๆว่าเมื่อได้รับความกรุณาจากผู้ใดก็ควรจะสำนึกและจดจำบุญคุณ เด็กเช่นนี้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จึงจะมีจิตใจที่โอบอ้อมอารีและกตัญญู เป็นที่รักของคนทั้งหลาย.
กำลังโหลดความคิดเห็น