เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาและโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้าง “พระราชวังหลวง” ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศและเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ การก่อสร้างพระราชวังหลวงเริ่มขึ้นพร้อมกับการสร้างพระนครเมื่อ พุทธศักราช 2325
.
พระองค์โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้กระทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ตรงกับวันที่ 21 เมษายน ปีพุทธศักราช 2325 เวลา 6.54 นาฬิกา การฝังเสาหลักเมืองมีพิธีรีตองตามพระตำราที่เรียกว่า พระราชพิธีนครฐาน ใช้ไม้ชัยพฤกษ์ทำเป็นเสาหลักเมือง ประกับด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ที่มี เส้นผ่าศูนย์กลางวัดที่โคนเสา 29 เซนติเมตร สูง 187 นิ้ว กำหนดให้ความสูงของเสาหลักเมืองอยู่พ้นดิน 108 นิ้ว ฝังลงในดินลึก 79 นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูม สวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทอง ล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง
.
ราชธานีใหม่มีนามว่า “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” (เดิมมีชื่อว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์”) ชื่อการตั้งกรุงเลียนแบบมาจากชื่อกรุงในสมัยอยุธยาว่า “กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดี ศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานี บูรีรมย์ อุดมนิเวศน์มหาสถาน” และการสร้าง “พระบรมมหาราชวัง” ในกรุงเทพมหานครนั้น ก็ได้สร้างเลียนแบบพระบรมมหาราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยา
.
#วันนี้ในอดีต #รัชกาลที่1 #สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ #21เมษายนวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ #ครบรอบ242ปีสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์