xs
xsm
sm
md
lg

เรื่อง "คัน คัน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรื่อง "คัน คัน" โดย Prawpan Suriwong|วันที่ 19 สิงหาคม 2559|อ่าน : 38100
ที่มา : manager.co.th
โดย ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์
เรื่อง
แฟ้มภาพ
อาการคัน (Pruritus) เป็นกลุ่มอาการทางผิวหนังที่พบได้บ่อย และมักนำไปสู่การแกะเกา
โดยผู้ป่วยที่มีอาการคันอาจมีผื่นผิวหนังร่วมด้วย หรือไม่มีก็ได้ อาการคันอาจเป็นเพียงเฉพาะที่ หรือเป็นทั่วทั้งตัว และอาจส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ เช่น ทำให้เสียสมาธิ รบกวนการทำงาน การนอน หรือส่งผลเสียทางด้านจิตใจ ในผู้ป่วยที่มีการแกะเกามาก อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนบริเวณผิวหนังตามมาได้ด้วย
อาการคัน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ อาการคันเฉียบพลัน คือ มีอาการคันเป็นมาไม่เกิน 1 สัปดาห์ อาการคันเรื้อรัง คือ มีอาการเป็นมานานเกิน 1 สัปดาห์ถึงหลายเดือน
อาการคันนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอาการคันเรื้อรัง อาจเกิดจากภาวะผิวแห้งจากอายุที่มากขึ้น จากอากาศ หรือจากโรคผิวหนังต่าง ๆ เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผิวหนังอักเสบ โรคลมพิษ โรคสะเก็ดเงิน ผื่นจากแมลงกัดต่อย ยุงกัด การติดเชื้อราที่ผิวหนัง โรคหิด บางรายอาจเกิดจากการแพ้สารที่สัมผัสผิวหนัง นอกจากนี้ อาจเกิดจากโรคทางระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ภาวะไตวายเรื้อรัง ภาวะดีซ่าน โรคตับอักเสบเรื้อรัง โรคเบาหวาน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ โรคมะเร็งเม็ดเลือด หรือเกิดจากยาที่รับประทาน เป็นต้น โรคทางระบบประสาทบางโรคอาจทำให้คันได้ เช่น โรคปลายประสาทอักเสบจากงูสวัด โรคเนื้องอกในสมอง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สาเหตุนี้พบไม่มากนัก ผู้ป่วยบางรายอาการคันอาจเกิดจากสาเหตุทางจิตใจ เช่น ผู้ป่วยคิดว่ามีพยาธิไชตามผิวหนังตัวเอง ผู้ป่วยโรคย้ำคิดยำทำ หรือมีภาวะซึมเศร้า
ผู้ป่วยบางรายอาจมีสาเหตุของอาการคันหลายอย่างร่วมกันได้ แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มีอาการคันบางราย แม้ว่าแพทย์จะได้ทำการตรวจหาสาเหตุต่าง ๆ แล้ว ก็อาจไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีเพียงอาการคันโดยปราศจากผื่นผิวหนัง
สำหรับการรักษาอาการคัน แบ่งเป็น การรักษาแบบจำเพาะ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุของอาการคันให้พบ และหลีกเลี่ยงหรือกำจัดสาเหตุดังกล่าว โดยแพทย์จะพิจารณาให้การรักษาตามความเหมาะสม เช่น การใช้ยาทาประเภทสเตียรอยด์หรือยาทาลดการอักเสบชนิดอื่นๆ ในผู้ป่วยที่สาเหตุของอาการคันเกิดจากผื่นผิวหนังอักเสบ การใช้ยาทากำจัดเชื้อราหรือเชื้อหิด ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อดังกล่าวที่ผิวหนัง การให้ยาที่จำเพาะต่ออาการคันจากโรคบางชนิดเช่น ภาวะดีซ่าน โรคไตวายเรื้อรัง หรือจากสาเหตุทางระบบประสาท ในผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะเครียดหรือมีอาการคันจนนอนไม่หลับ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านภาวะซึมเศร้า และการรักษาประคับประคองเพื่อระงับอาการคัน เช่น ยาต้านฮิสตามีนชนิดรับประทาน ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ยาตามความเหมาะสม ทั้งต่อตัวโรคและต่อการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละราย การใช้ยาทาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวหนังในผู้ป่วยที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังและผู้ป่วยที่มีผิวแห้ง การฉายแสงอาทิตย์เทียม (phototherapy) ซึ่งใช้ในบางภาวะ เช่นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน และภาวะไตวายเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบปกติ พฤติกรรมบำบัด เพื่อลดอาการเครียด และควบคุมพฤติกรรมการเกา
ในผู้ป่วยที่มีอาการคัน การปฏิบัติตัวเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการแกะเกาบริเวณผิวหนัง เนื่องจากจะทำให้เกิดผิวหนังอักเสบหรือการติดเชื้อแบคทีเรียและโรคอาจจะเป็นมากขึ้นได้ ใช้สบู่อ่อน ๆ ใช้โลชั่นทาผิว เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าขนสัตว์ ผ้าเนื้อหยาบ ซึ่งอาจระคายเคืองและกระตุ้นให้เกิดอาการคันเพิ่มมากขึ้นได้ ควรใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ไม่รัด ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด และใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อควบคุมอาการคันและรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการคัน
กำลังโหลดความคิดเห็น