4 สัตว์ทะเลว่าที่ "สัตว์ป่าสงวน" ชนิดใหม่ วาฬบรูด้า-วาฬโอมูระ-ฉลามวาฬ-เต่ามะเฟือง
โดย MGR Online
2 มีนาคม 2559 23:23 น. (แก้ไขล่าสุด 2 มีนาคม 2559 23:33 น.)
4 สัตว์ทะเลว่าที่ สัตว์ป่าสงวน ชนิดใหม่ วาฬบรูด้า-วาฬโอมูระ-ฉลามวาฬ-เต่ามะเฟือง
ตั้งแต่เด็กเราอาจเคยถูกสอนให้ท่องจำว่า "สัตว์ป่าสงวนของไทยมี 15 ชนิด" แต่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้อาจต้องเปลี่ยนชุดความจำใหม่ เพราะล่าสุดคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าได้เตรียมเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเข้าสู่ครม. เพิ่ม "วาฬบรูด้า-วาฬโอมูระ-ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง" เป็นสัตว์สงวนตัวที่ 16 ถึง19
สืบเนื่องจากกรณีที่คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าได้รณรงค์ให้มีการเพิ่มสัตว์น้ำอีก 4 ชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.58 ที่ผ่านมา ทว่าข่าวคราวการดำเนินการกลับเป็นไปอย่างเงียบเชียบ ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงติดต่อไปผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าเพื่อทราบถึงความคืบหน้าของร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
นางเตือนใจ นุชดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้ข้อมูลว่า กรณีการเสนอชื่อสัตว์ป่า 4 ชนิดเข้าสู่บัญชีสัตว์ป่าสงวนของ “พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535” ตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.58 ให้ครอบคลุมเพิ่มเติมจากสัตว์สงวน 15 ชนิดอันได้แก่ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร, แรด, กระซู่, กูปรี, ควายป่า, ละมั่ง, สมัน, เลียงผา, กวางผาจีน, นกแต้วแร้วท้องดำ, นกกระเรียนไทย, แมวลายหินอ่อน, สมเสร็จ, เก้งหม้อ และ พะยูน ในบัญชีเดิมซึ่งขณะนี้ข้อมูลใกล้สำเร็จสมบูรณ์ และอยู่ในขั้นเตรียมเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ส่วนเหตุที่ล่าช้าจนทำให้ประชาชนสงสัยว่าเรื่องถูกตีตกไปจากสารระบบหรือเปล่านั้น นางเตือนใจเผยว่า มาจากความซับซ้อนของการทำงาน เพราะการจะเสนอรายชื่อสัตว์ป่าให้เป็นสัตว์ป่าสงวนซึ่งมีผลต่อกฎหมายนั้น คณะกรรมการฯ จำเป็นต้องจัดทำข้อมูล วางแผนการดูแล และผ่านคณะกรรมการสอบทวนหลายชั้นจึงจะเป็นร่างกฤษฎีกาได้
ที่สำคัญคือสัตว์ป่าทั้ง 4 ชนิดที่ถูกเสนอขึ้นใหม่ ได้แก่ วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟืองเป็นสัตว์น้ำซึ่งอยู่นอกเหนือจากการดูแลของกรมอุทยานฯ จึงจำเป็นต้องประสานความร่วมมือไปยังกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และกรมประมง ให้เป็นหน่วยงานที่ดูแลผลกระทบ และจัดทำข้อมูลเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี เนื่องจากมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานและวิจัยเกี่ยวกับสัตว์น้ำโดยตรง ซึ่งถ้าหากร่างพระราชกฤษฎีกาที่ร่างขึ้นเป็นประโยชน์และไม่มีผลกระทบ จนผ่านอนุมัติความเห็นของคณะรัฐมนตรี ก็จะถูกออกประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยคาดว่าจะนำข้อมูลเสนอให้คณะรัฐมนตรีได้ภายในช่วงต้นเดือน มี.ค.และจะมีประกาศใช้อย่างเป็นทางการใน 3-4 เดือนข้างหน้า
สำหรับสาเหตุที่ทำให้วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬและเต่ามะเฟือง ถูกบรรจุเข้ามาเป็นสัตว์สงวนแม้บางชนิดจะไม่ใช่สัตว์ประจำถิ่นของไทย นางเตือนใจ เผยว่า เป็นเพราะสัตว์ดังกล่าวค่อนข้างเป็นที่รู้จักและมีจำนวนน้อยในธรรมชาติ เพราะนอกจากจะไม่ใช่สัตว์ประจำถิ่นที่พบได้มากในไทยแล้ว ยังมีเปอร์เซ็นต์การตายเป็นสัตว์ทะเลพลอยได้สูง จากการทำประมงทำลายล้างแบบอวนรุน อวนลาก และที่สำคัญอาหารตามธรรมชาติของสัตว์ดังกล่าวก็มีปริมาณลดน้อยลงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
“ที่ต้องจัดให้เป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดใหม่ เพราะสถิติการพบในธรรมชาติมีน้อยลงมาก ทั้งที่ไม่ได้ถูกล่าแต่กลับตายด้วยประมงแบบอวนรุน เราจึงจำเป็นต้องประกาศก่อนที่มันจะสูญพันธุ์แม้มันจะไม่ใช่สัตว์ไทยก็ตาม เพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมไว้ในธรรมชาติและอีกนัยหนึ่งยังเป็นการแสดงออกให้เห็นว่าคนไทย หน่วยงานภาครัฐของไทยมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์สัตว์ป่า นอกจากนี้เรายังมีสัตว์ป่าอีกประมาณ 12 ชนิดที่เตรียมจะบรรจุลงเป็นสัตว์คุ้มครองด้วย” ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากล่าว