กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีเก็บอาหารในตู้เย็นที่ถูกสุขลักษณะตามหลัก 3 ส. ได้แก่ สะอาด ปลอดภัย เป็นสัดส่วน และมีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม เพื่อช่วยรักษาอาหารให้สด ใหม่ไม่เน่าเสียง่าย
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า พ่อบ้านแม่บ้านหรือร้านอาหารที่นิยมซื้ออาหารสด ประเภทเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผัก และผลไม้ รวมทั้งนมและผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ เครื่องดื่ม ชนิดต่างๆ มาเก็บไว้ในตู้เย็นคราวละมากๆนั้น ควรเลือกเก็บอาหารเหล่านี้ในช่องที่มีอุณหภูมิเหมาะสม รวมถึงระยะเวลาที่เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท เพื่อช่วยรักษาอาหารให้สดใหม่ ไม่เน่าเสีย อีกทั้งยังคงคุณค่าวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ไว้ได้ โดยใช้หลักในการเก็บอาหาร 3 ส. ดังนี้ 1. สะอาดปลอดภัย โดยภาชนะบรรจุ และสถานที่เก็บอาหารต้องสะอาด ปลอดภัยไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารได้ 2.สัดส่วน ควรแยกประเภทอาหารเป็นสัดส่วนเฉพาะไม่ปะปนกัน และ 3. สิ่งแวดล้อมเหมาะสม จัดเก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท เพื่อรักษาคุณภาพและยืดอายุอาหารให้เก็บไว้ได้นานๆ
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า เนื้อสัตว์ที่ซื้อมา หากจะเก็บควรล้างให้สะอาดก่อนแล้วนำมาตัดแบ่งหรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆก่อนบรรจุในภาชนะที่ป้องกันการรั่วซึมได้ในปริมาณที่พอเหมาะกับการนำไปใช้ในแต่ละครั้งแล้วจึงนำไปเก็บในตู้เย็นมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส แยกเป็นสัดส่วนจากอาหารประเภทอื่น ไม่ควรแช่เนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ๆหรือทั้งตัวในตู้เย็น เนื่องจากความเย็นอาจจะไม่เพียงพอ หากเป็นร้านอาหารที่มีตู้แช่ขนาดใหญ่และมีความจำเป็นที่ต้องแช่เนื้อสัตว์เป็นชิ้นใหญ่ๆ หรือทั้งตัวต้องเก็บในที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า-18 องศาเซลเซียส สำหรับอาหารทะเลประเภทปลา กุ้ง หอย ปลาหมึก ปู และสัตว์น้ำอื่นๆ การเก็บควรแช่แข็งที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ถ้าเป็นชิ้นเล็ก ตัวเล็ก หรือชนิดบด ควรใส่ถุงพลาสติกหรือภาชนะแช่ฝังอยู่ในน้ำแข็งตลอดเวลาและ ต้องหมั่นเติมน้ำแข็งและระบายน้ำที่ละลายแล้วออกเสมอๆ
"ผักและผลไม้เมืองร้อนประเภทกินหัวหรือรากควรเก็บในตะกร้าโปร่งสะอาดในบริเวณที่มีอุณหภูมิห้องปกติ วางสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร สำหรับผักสดใบเขียว หรือผักผลไม้เมืองหนาวควรนำมาตัดแต่งก่อนนำมาต้องบรรจุในถุงพลาสติกที่สะอาดเก็บในตู้เย็นเป็นสัดส่วนที่มีอุณหภูมิประมาณ 7-10 องศาเซลเซียส ส่วนผักที่พร้อมสำหรับการนำไปปรุงประกอบอาหาร ควรนำมาล้างทำความสะอาด ตัดแต่งหรือหั่นแล้ว เก็บในภาชนะที่สะอาดมีการปกปิดเป็นสัดส่วนในตู้เย็น” นายแพทย์วชิระ กล่าว
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า ระยะเวลาในการจัดเก็บอาหารที่เหมาะสม หากเป็นผักและผลไม้เก็บได้ 3-5 วัน เนื้อสัตว์ในช่องแช่แข็งเก็บได้นาน 3-5 วัน ไข่อยู่ได้ประมาณ 1 สัปดาห์นับจากวันผลิต นอกจากนี้ ควรหมั่นสำรวจวันหมดอายุของอาหารที่เก็บไว้ในตู้เย็น และไม่ควรเก็บอาหารไว้มากเกินไป จนทำให้การถ่ายเทอากาศในตู้เย็นเป็นไปอย่างลำบาก