ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการเลือกอาหารว่างที่ดีต่อสุขภาพว่า ร่างกายคนเราต้องการอาหารครบ 3 มื้อ แต่บางครั้งก็ยังได้รับสารอาหารและพลังงานไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีอาหารว่างระหว่างมื้อ เป็นตัวช่วยเสริมสำหรับคนที่รับประทานอาหารได้น้อยเพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารอย่างเพียงพอ แต่อาหารว่างที่บริโภคส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ให้พลังงานสูงอุดมไปด้วยแป้งและคาร์โบไฮเดรต
อาทิ ขนมปัง ขนมเค้กหน้าครีม เป็นต้น เมื่อกินในปริมาณที่มากเกินไปและขาดการออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนได้ เพราะจากการสำรวจสถานการณ์การจัดอาหารว่าง พบว่า อาหารว่างที่จัดส่วนใหญ่ให้พลังงานสูง
โดยข้อแนะนำการจัดอาหารว่างสำหรับผู้ใหญ่ ไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน โดยผู้ชายไม่ควรได้พลังงานจากอาหารว่างเกิน 200 กิโลแคลอรี่ และผู้หญิงไม่ควรได้พลังงานเกิน 150 – 160 กิโลแคลอรี่ แต่ผลจากการสุ่มตรวจพบร้อยละ 75 ของอาหารว่างที่ตรวจให้พลังงานมากกว่า 200 กิโลแคลอรี่ และยังพบว่าร้อยละ 30 ของอาหารว่างที่ตรวจให้พลังงานมากกว่า 300 กิโลแคลอรี่ ซึ่งเกือบเท่ากับพลังงานจากอาหารมื้อหลัก แต่มีอาหารว่างเพียงร้อยละ 25 ที่ให้พลังงานน้อยกว่า 200 กิโลแคลอรี่
"อาหารว่างที่ดีมีประโยชน์ จึงควรเป็นอาหารที่กินง่ายๆ เช่น ผลไม้ที่หวานน้อย เพราะเป็นแหล่งของวิตามินและเกลือแร่ ใยอาหารจะช่วยเรื่องการขับถ่ายด้วย และควรเลือกที่มีน้ำตาลน้อย ส่วนเครื่องดื่มจะช่วยชะล้าง เศษอาหารที่ตกค้างในช่องปาก ทำให้ปากไม่แห้ง ลดปัญหากลิ่นปาก และเป็นผลดีต่อสุขภาพฟัน การดื่มน้ำเปล่าถือว่า ดีที่สุด แต่หากต้องการเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ ให้เลือกดื่มนมไขมันน้อยและไม่ปรุงแต่งรส ส่วนเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ ให้เลือกใช้น้ำตาลซองขนาด 4 กรัม เพื่อลดการบริโภคหวาน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ทางด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การจัดอาหารว่างเพื่อสุขภาพให้คำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการ มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย พลังงานไม่เกินร้อยละ 10 ต่อวัน หากเป็น เบเกอรี่ ควรเลือกขนมปังชนิดที่มีธัญพืชเป็นส่วนประกอบ อาทิ โฮลวีท ข้าวโอ๊ต งา ให้หลีกเลี่ยงที่มีไขมันสูง รสหวานจัด อาทิ คุกกี้ พัฟ พาย แต่ถ้าจัดขนมไทยให้เน้นที่มีธัญพืช ถั่ว ผัก ผลไม้เป็นส่วนประกอบ เช่น ถั่วแปบ ขนมตาล ขนมกล้วย หลีกเลี่ยงขนมไทยที่มีกะทิ หรือน้ำตาลมาก เช่น ตะโก้ ขนมหม้อแกง ฝอยทอง เป็นต้น
ทั้งนี้ อาหารที่ดีต่อสุขภาพ จะให้พลังงานที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย เช่น ขนมตาล 2 ชิ้น นมถั่วเหลืองหวานน้อย 1 แก้ว ให้พลังงาน 189 กิโลแคลอรี ฟักทองนึ่ง 1 ชิ้น ข้าวโพดต้ม 1 ชิ้น กล้วยน้ำว้าต้ม 1 ชิ้น น้ำฝรั่ง 1 แก้ว ให้พลังงาน 192 กิโลแคลอรี นอกจากนี้ การจัดอาหารว่างที่เป็นประโยชน์ ถือเป็นการผ่อนคลายความง่วงได้อีกทางหนึ่งระหว่างการประชุม สัมมนา และการกินทีละน้อยจะช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด อินซูลิน ไขมัน และฮอร์โมนไม่ให้สูงเกินไป แต่ต้องขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารว่าง เวลา และความถี่ในการกินด้วย