สำนักข่าวเอพีรายงานว่ามีการวิจัยล่าสุดออกมาว่าผู้บริจาคโลหิตที่มีอายุน้อยหรือกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความต้องการของกาชาดมักจะเกิดอาการแทรกซ้อนจากการบริจาคโลหิตในอัตราที่บ่อยกว่าผู้บริจาคโลหิตวัยผู้ใหญ่
อาการแทรกซ้อนที่มักพบในผู้บริจาคโลหิตอายุน้อยได้แก่ อาการหน้ามืด เป็นลม และล้มฟุบลงไป ทั้งนี้เป็นผลการวิจัยที่ออกมาในช่วงที่หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดหาเลือดบริจาคกำลังต้องหันมาพึ่งพาโลหิตจากผู้บริจาคที่เป็นคนกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวกันมากขึ้นเนื่องจากจำนวนโลหิตบริโจคจากคนวัยผู้ใหญ่ลดลงไปอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
การวิจัยนี้ทำขึ้นมาโดยกาชาดอเมริกันโดยในตอนแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนวัยรุ่นหนุ่มสาวที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมหันมาช่วยกันบริจาคเลือดให้มากขึ้น
แพทย์หญิงแอนเน่ เอดเดอร์ ผู้นำการวิจัยจากกาชาดอเมริกัน สำนักงานใหญ่ในวอชิงตันดีซีกล่าวว่าถึงแม้ว่าผู้บริจาควัยรุ่นหนุ่มสาวจะมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาอาการแทรกซ้อนได้มากกว่าผู้บริจาควัยผู้ใหญ่แต่ความเสี่ยงนี้ก็ยังถือว่ายังว่าน้อยอยู่
“เราเพียงต้องการให้ผู้บริจาคโลหิตได้ทราบว่าอะไรบ้างที่อาจเกิดขึ้นได้กับพวกเขาและต้องการให้ผู้บริจาคโลหิตเหล่านี้มีประสบการณ์ที่ดีกับการบริจาค” พญ.เอดเดอร์กล่าว
อาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดจริง ๆ มักเป็นอาการแทรกซ้อนที่ไม่ค่อยมีอันตรายได้แก่ รู้สึกโหวงเหวงในหัว เหงื่อไหล และแผลจากรอยเข็ม ส่วนอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่าและมักจะเกิดขึ้นกับผู้บริจาคโลหิตกลุ่มวัยรุ่นได้แก่ เป็นลม หมดสติ ล้มฟุบทำให้เกิดอาการบาดเจ็บต่อศีรษะและขากรรไกร
สำหรับสาเหตุที่ว่าทำไมว่าอาการแทรกซ้อนเหล่านี้จึงพบได้มากกว่าในกลุ่มผู้บริจาคโลหิตที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวนั้นนักวิจัยระบุว่ายังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นไปได้ว่าเด็ก ๆ อาจจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดมากกว่าผู้ใหญ่ น้ำหนักตัวและส่วนสูงที่น้อยกว่าบางทีก็จะจะมีส่วน
สำหรับจำนวนผู้บริจาคโลหิตที่เป็นวัยรุ่นในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นพบว่า 15 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริจาคเป็นคนอายุระหว่าง 16 ถึง 19 ปี และรัฐส่วนใหญ่ในสหรัฐฯได้อนุญาตให้ผู้มีอายุ 17 ปีขึ้นไปสามารถบริจาคโลหิตได้ ในขณะที่เกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนรัฐทั้งหมดอนุญาตให้คนอายุ 16 ปีขึ้นบริจาคเลือดได้
ด้านนพ.ปีเตอร์ โทมาซูโล หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของบริษัทบลัดซิสเต็มส์ ซึ่งจัดการหาเลือดบริจาคให้รัฐจำนวน 18 รัฐ กล่าวว่าผู้บริจาคที่เริ่มบริจาคตั้งแต่เมื่อตอนเป็นวัยรุ่นมีแนวโน้มสูงกว่าผู้ที่จะบริจาคโลหิตไปเรื่อย ๆ จนตลอดชีวิตเมื่อเทียบกับผู้บริจาคที่เริ่มตอนอายุมากแล้ว