xs
xsm
sm
md
lg

หอยแมลงภู่เพาะเลี้ยงฝั่งอ่างศิลา ปนเปื้อนแคดเมียมกว่ามาบตาพุด แต่ไม่เกินมาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อึ้ง! หอยแมลงภู่เพาะเลี้ยงฝั่งอ่างศิลาเจอสารแคดเมียมมากกว่า ฝั่งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่ สธ. กำหนด แต่ควรเร่งศึกษาการปนเปื้อนแคดเมียม

หอยแมลงภู่เพาะเลี้ยงฝั่งอ่างศิลา ปนเปื้อนแคดเมียมกว่ามาบตาพุด แต่ไม่เกินมาตรฐาน

น.ส.วราพร ชลอำไพ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี เสนอผลการศึกษา เรื่อง “ระดับแคดเมียมในหอยแมลงภู่ที่เพาะเลี้ยงในฟาร์มบริเวณชายฝั่งทะเลเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เปรียบเทียบกับบริเวณชายฝั่งทะเลอ่างศิลา จ.ชลบุรี ปี 2555 - 2557” ในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 22 ประจำปี 2557 ว่า จากการเก็บตัวอย่างหอยแมลงภู่ที่เพาะเลี้ยงในฟาร์มบริเวณชายฝั่งทะเลทั้ง 2 แหล่ง เป็นเวลา 3 ปี จำนวน 240 ตัวอย่าง โดยเก็บตัวอย่างหอยแมลงภู่ขนาดเล็กความยาวเปลือกน้อยกว่า 6 เซนติเมตร และมากกว่า 6 เซนติเมตร ขนาดละ 20 ตัวอย่างต่อปี โดยนำไปตรวจวิเคราะห์ระดับสารแคดเมียมด้วยเครื่องอะตอมมิกแอปวอปชันเทคนิคกราไฟต์ พบว่า ระดับแคดเมียมในเนื้อเยื่อหอยแมลงภู่จากทั้งสองแหล่งไม่มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานอาหารที่กำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 ซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม น้ำหนักเปียก

น.ส.วราพร กล่าวอีกว่า แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง 2 แหล่งแล้ว หอยแมลงภู่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่างศิลามีระดับแคดเมียมเฉลี่ยสูงกว่าชายฝั่งทะเลนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดทั้ง 3 ปี คือ สูงกว่า 11 เท่า 4 เท่า และ 6 เท่าตามลำดับ บ่งชี้ว่าบริเวณชายฝั่งทะเลอ่างศิลาควรจะมีการศึกษาแหล่งที่มาของการปนเปื้อนแคดเมียม

ทั้งนี้ ระดับแคดเมียมในเนื้อเยื่อหอยแมลงภู่บริเวณชายฝั่งทะเลเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีค่าเฉลี่ยในปี 2555 เท่ากับ 0.0099 ปี 2556 เท่ากับ 0.0120 และปี 2557 จำนวน 0.0114 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักเปียก ส่วนที่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่างศิลา มีค่าเฉลี่ยปี 2555 เท่ากับ 0.1086 ปี 2556 เท่ากับ 0.0499 และปี 2557 เท่ากับ 0.0705 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม น้ำหนักเปียก
กำลังโหลดความคิดเห็น