นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ไอศกรีมเป็นของหวานที่สร้างความสดชื่นในช่วงหน้าร้อนได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีส่วนประกอบหลักคือ ครีม น้ำนม หรือผลิตภัณฑ์นม เช่น ครีม นมผง หางนม โยเกิร์ต นมเปรี้ยว และมีส่วนผสมของสารให้รสหวานนอกจากน้ำตาล ยังมีกลูโคสไซรับ ฟรุกโตส น้ำผึ้ง หรืออาจมีไขมันพืช ไข่ กะทิเพิ่มด้วย ซึ่งล้วนแต่เพิ่มน้ำหนักให้กับผู้บริโภคทั้งสิ้น จึงควรเลือกชนิดของไอศกรีมที่เหมาะสมหรือหลีกเลี่ยงไอศกรีมชนิดที่มีไขมันสูง เพราะไอศกรีมบางประเภทโฆษณาว่ามีไขมัน 0% แต่กลับมีน้ำตาลสูงถึง 3.5-6.5 ช้อนชา จึงควรระมัดระวังและไม่ควรกินบ่อย
นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า ผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง ควรเลือกไอศกรีมที่มีส่วนผสมที่มีไขมันน้อย หรือไอศกรีมที่ไม่มีไขมันเลย เช่น ไอศครีมเชอร์เบท หรือไอศครีมหวานเย็น สำหรับผู้ที่มีไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ ควรกินไอศกรีมเป็นครั้งคราวและจำกัดปริมาณไอศกรีมทุกชนิด เนื่องจากส่วนผสมของไขมันและน้ำตาลที่มีอยู่ในปริมาณมากมีผลทำให้ระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูงขึ้นได้ และสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ควรหลีกเลี่ยงไอศกรีมที่มีไขมันสูง หรือไอศกรีมที่มีน้ำตาลสูง
ทั้งนี้ ไอศกรีมดัดแปลง 1 แท่ง ประกอบด้วย ไขมันอิ่มตัว นมผง หางนม น้ำตาล ให้พลังงาน 150-230 กิโลแคลอรี น้ำตาล 4-5.5 ช้อนชา และไอศครีมหวานเย็น บางประเภทแม้จะมีไขมัน 0% แต่ประกอบด้วยน้ำตาลเป็นส่วนใหญ่ ให้พลังงาน 60-100 กิโลแคลอรี น้ำตาล 3.5-6.5 ช้อนชา ซึ่งใน 1 วันเราไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา ในขณะเดียวกันควรดูฉลากโภชนาการเป็นส่วนประกอบก่อนการบริโภค เพื่อให้ทราบปริมาณพลังงาน น้ำตาลหรือไขมัน จะได้หลีกเลี่ยงไม่ให้กินมากเกินไป และเลือกกินไอศกรีมจากผู้ผลิตที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ เพื่อลดความเสี่ยงโรคระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากไอศกรีมไม่สะอาด
“สิ่งที่ช่วยคลายร้อนได้ดีอีกอย่างหนึ่ง คือ น้ำแข็ง แต่ควรเลือกบริโภคน้ำแข็งที่มีวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ ได้มาตรฐาน GMP เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ และเมื่อน้ำแข็งละลายจะต้องใส ไม่มีตะกอนขาวขุ่นๆ อยู่ก้นแก้ว เพราะความเย็นของน้ำแข็งไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารได้ โดยเฉพาะเชื้ออหิวาตกโรคสามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำแข็งเป็นเวลานานถึง 2 วัน ก่อนจะดื่มน้ำที่ผสมน้ำแข็งจึงต้องคำนึงถึงความสะอาดปลอดภัยด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว