xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง! ผู้ใหญ่ภูมิคอตีบอ่อนลง เสี่ยงป่วยมากขึ้น คร.จัดวัคซีน 28 ล้านโดสทยอยฉีดภายในปี 58

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันนี้ (27 มี.ค.) ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กุดโง้ง อ.เมือง จ.มุกดาหาร นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการนำร่องการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบแก่ประชาชนกลุ่มอายุ 20-50 ปี ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ว่า โรคคอตีบเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน บางรายอาจมีอาการรุนแรง หายใจไม่ออกต้องเจาะคอ หรือเสียชีวิตได้ โรคนี้ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเกิดขึ้นเฉพาะในเด็ก แต่จริงๆ แล้วเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งปี 2555 พบการระบาดในผู้ใหญ่จำนวนมากในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่งกับเด็ก จึงได้มีการตรวจเลือดประชาชน พบว่า กลุ่มอายุ 20-50 ปี บางส่วนภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอต่อการป้องกัน ที่สำคัญคือกลุ่มที่เกิดก่อนปี 2520 ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สถานการณ์โรคคอตีบของไทย ตั้งแต่ปี 2520 ผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ปี 2552-2555 กลับเพิ่มขึ้น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้ให้วัคซีนเพื่อควบคุมการระบาดทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้ปี 2556 ผู้ป่วยจำนวนลดลง ส่วนปี 2557 ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา ณ วันที่ 13 มี.ค. มีผู้ป่วย 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย คร.จึงทำโครงการรณรงค์วัคซีนป้องกันโรคคอตีบแก่ประชาชนอายุ 20 - 50 ปี ทั่วประเทศ โดยจัดทำเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา นำร่องที่ จ.มุกดาหารก่อน เนื่องจากไม่เคยมีการระบาดของโรคและมีจำนวนประชากรเหมาะสมกับการดำเนินโครงการคือ 1.6 แสนคน โดยจะให้วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยักรวมกันในเข็มเดียว ซึ่งนอกจากนำร่องที่ จ.มุกดาหารแล้ว ยังดำเนินการก่อนที่ จ.แม่ฮ่องสอนด้วย เนื่องจากต้นเดือน มี.ค.มีเคสคอตีบเกิดขึ้น

"หลังจากนี้ วันที่ 1 มิ.ย. จึงจะเริ่มดำเนินโครงการต่อทั่วทั้งภาคอีสาน โดยปีนี้ได้ตั้งจำนวนวัคซีนไว้ที่ 10 ล้านโดส ส่วนภาคเหนือ กลาง และใต้ จะเริ่มดำเนินการในปี 2558 ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 ได้ตั้งจำนวนวัคซีนไว้ที่ 18 ล้านโดส ในการดำเนินโครงการ ส่วนในเด็ก สธ.มีมาตรการป้องกันอยู่แล้ว โดยให้วัคซีนตั้งแต่ อายุ 2 เดือน รวม 6 ครั้ง ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองพาเด็กไปรับวัคซีนตามที่กำหนดให้ครบ ซึ่งจะมีวัคซีนป้องกันโรคสำคัญอีกหลายโรค และขอให้เก็บสมุดบันทึกสุขภาพเด็กไว้ตลอดไป เพื่อเป็นหลักฐานในการเข้าเรียน หากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจสอบประวัติแล้วพบว่า ยังได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วน จะได้ติดตามให้เด็กได้รับจนครบต่อไป" อธิบดี คร.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น