มุกดาหาร - สธ.นำร่องรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ในกลุ่มอายุ 20-50 ปี เริ่มจังหวัดแรกที่มุกดาหาร เป้าหมาย 1.6 แสนคน ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่เด็กในครอบครัวได้
วันนี้ (27 มี.ค.) ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กุดโง้ง อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงโครงการนำร่องการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบแก่ประชาชนกลุ่มอายุ 20-50 ปี ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ว่า โรคคอตีบ เป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน บางรายอาจมีอาการรุนแรงหายใจไม่ออก ต้องเจาะคอ หรือเสียชีวิตได้
โรคนี้ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเกิดขึ้นเฉพาะในเด็ก แท้ที่จริงแล้วโรคนี้เป็นได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูคุ้มกันต่อโรค ซึ่งในปี 2555 เคยมีการระบาดของโรคคอตีบเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ จากการระบาดในครั้งนั้นได้มีการตรวจเลือดในประชาชน พบว่า ในกลุ่มอายุ 20-50 ปี บางส่วนมีภูมิคุ้มกัน ไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรคคอตีบ
ส่วนสถานการณ์โรคตอตีบของประเทศไทย พบว่า ตั้งแต่ ปี 2520 ผู้ป่วยโรคคอตีบ มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 2,290 ราย ในปี 2550 ลดลงเหลือไม่เกินปีละ 10 ราย ในช่วงระหว่างปี 2548 ถึง 2557 แต่หลังจากปี 2552 ถึง 2555 จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีผู้ป่วย 12-77 ราย เป็นผู้ป่วยเด็ก ยกเว้นปี 2555 ที่เด็กกับผู้ใหญ่ มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน
โดยในช่วงที่มีการระบาดใน ปี 2555 มีผู้ป่วย จำนวน 63 ราย กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ให้วัคซีนเพื่อควบคุมการระบาดของโรคคอตีบ ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นผู้ป่วยโรคคอตีบก็ลดลง ปี 2556 เหลือ 29 ราย
สำหรับปีนี้ ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ณ วันที่ 13 มีนาคม 2557 มีผู้ป่วย จำนวน 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่ออีกว่า กรมควบคุมโรคได้กำหนดให้รณรงค์วัคซีนป้องกันโรคคอตีบแก่ประชาชน อายุ 20-50 ปีทั่วประเทศ โดยปี 2557 ดำเนินการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และขยายต่อในภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคกลางในปี 2558 ด้วยการจัดทำเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา
ซึ่งในปีแรกนี้นำร่องในจังหวัดมุกดาหาร เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ไม่มีการระบาดของโรคคอตีบในระยะที่ผ่านมา และยังไม่ได้รณรงค์ให้วัคซีนนี้ในกลุ่มผู้ใหญ่เป็นวงกว้าง อีกทั้งจำนวนประชากรกลุ่มเป้าหมายมีประมาณ 160,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่เหมาะสมต่อการดำเนินโครงการนำร่อง
โดยวัคซีนที่ให้ในครั้งนี้เป็นวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ และบาดทะยัก 2 โรครวมกันอยู่ในเข็มเดียวกัน ซึ่งก็จะทำให้ประชาชนได้รับการป้องกันทั้งโรคคอตีบ และบาดทะยักไปในคราวเดียว