...การรับประทานอาหารที่หมดอายุบ่อยคงไม่ดีแน่ครับ แต่จะส่งผลต่อการเจ็บป่วยหรือเปล่า แล้วจะได้รับคุณค่าทางอาหารหรือไม่ คงต้องมาพิจารณากันครับ
ผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อบริโภคอาหารที่หมดอายุแล้ว อาจจะพบได้ตั้งแต่ "ไม่เกิดผลกระทบต่อร่างกาย" ไปจนกระทั่ง "ส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างรุนแรง" โดยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่รับประทานเข้าไป
ลองยกตัวอย่างดูง่าย ๆ เช่น หากเรารับประทานแยมผลไม้ที่เพิ่งเลยวันที่ระบุบนฉลากไปเมื่อเมื่อวานนี้ หรือนำเนยแข็งที่เลยวันที่ระบุไว้เมื่อสองวันก่อนมาปรุงอาหาร สองกรณีนี้แทบจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หรือการเจ็บป่วยแต่อย่างใด
แต่หากนำเนื้อปลาแช่เย็นที่หมดอายุเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนมาปรุงอาหาร หรือนำนมโคที่หมดอายุ 1 สัปดาห์ก่อนมาผสมกับธัญพืช ก็อาจจะทำให้เกิดอาการท้องร่วง อาเจียน ปวดท้อง เนื่องจากอาหารเป็นพิษจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเลยก็เป็นได้ ดังนั้นก่อนซื้ออาหารหรือนำอาหารมาปรุงก็ต้องตรวจสอบวันหมดอายุเสียก่อน
การระบุวันหมดอายุบนฉลากผลิตภัณฑ์มีรูปแบบที่แตกต่างกันไป ในประเทศไทยที่พบบ่อยมีอยู่สองแบบคือ "ควรบริโภคก่อน" และ "หมดอายุ"
โดยทั่วไปหากฉลากมีการระบุว่า "ควรบริโภคก่อนวันที่" หมายความว่า อาหารจะมีรสชาติดี ยังคงคุณค่าทางอาหารครบถ้วนตามที่ระบุไว้บนฉลากอาหารจนถึงวันนั้น หลังจากวันนั้นไปรสชาติ คุณภาพ และคุณค่าทางอาหารจะลดลง แต่ไม่มีปัญหาในเชิงความปลอดภัย จึงยังสามารถบริโภคได้โดยไม่มีอันตราย แต่อาจไม่ได้รับประโยชน์ตามที่ระบุไว้บนฉลากอาหาร และจะกำหนดวันล่วงหน้าไว้ระยะหนึ่งก่อนที่อาหารนั้น จะหมดอายุหรือเน่าเสีย
ส่วน "หมดอายุ" หมายถึง วันที่อาหารนั้นหมดอายุ หลังจากวันนั้นแล้วอาหารจะเน่าเสียหรือบูด ห้ามรับประทาน ควรนำไปทิ้ง อาหารที่หมดอายุแล้วจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย เช่น เกิดอาการอาหารเป็นพิษ ทำให้ปวดท้อง อาเจียน มีไข้ มึนศีรษะ ถ่ายเหลว อาการอาจรุนแรงจนเกิดภาวะขาดน้ำ และถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลเลยก็ได้
ดังนั้นการตรวจสอบฉลากระบุวัน "หมดอายุ" หรือ "ควรบริโภคก่อน" เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารที่เราจะรับประทานนั้นไม่เน่าเสีย ไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย น่าจะเป็นทางที่ดีที่สุดครับ