ภก.จิระ วิภาสวงศ์ เภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ลำพูน ให้สัมภาษณ์ในงานประชุมสมัชชาเภสัชกรรมไทย “100 ปีวิชาชีพเภสัชกรรมและการศึกษาเภสัชศาสตร์: บทบาทเภสัชกรต่อสังคมไทยในศตวรรษที่ 2” จัดโดยสภาเภสัชกรรม ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ปัญหาของวิชาชีพเภสัชกรรมเรื่องหนึ่งคือ การรับจ้างเภสัชกรแขวนป้ายหน้าร้านยา โดยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่จริง ซึ่งแต่ละจังหวัดยอมรับว่ามีจำนวนไม่น้อย อย่าง จ.ลำพูน เคยลงพื้นที่ตรวจสอบเมื่อปี 2553 พบมากถึง 60% อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการตรวจอย่างเข้มงวดก็พบว่ามีการกระทำผิดน้อยลง ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะกลัวโทษปรับอันน้อยนิด แต่กลัวถูกส่งเรื่องเข้าไปยังสภาวิชาชีพคือ สภาเภสัชกรรม และถูกพักใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมเป็นเวลา 6 เดือน - 1 ปี ซึ่งหมายความว่าไม่สามารถทำงานได้เลยเป็นเวลา 1 ปี
แฉ! ขบวนการเภสัชวิ่งรอกเฝ้าร้านยา-รับจ้างแขวนป้ายชื่อ
“การกระทำผิดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเข้มงวด ซึ่งบางจังหวัดพบว่าแทบไม่มีการตรวจตราเลย เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งไม่อยากจับกุมพี่น้องร่วมวิชาชีพกันเอง หรือบางคนก็เป็นครูอาจารย์มาก่อน ยิ่งไปกว่านั้นคือมีผลประโยชน์ของตัวเองรวมอยู่ด้วย คือเปิดร้านเอง แขวนป้ายเองเช่นกัน ขณะที่คนที่ดำเนินการตรวจสอบก็มักจะโดนสวนกลับเยอะ” ภก.จิระกล่าว
ภก.จิระกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องหาเภสัชกรมาอยู่ร้านยาแทน อย่างสมัยก่อนจะเอาเภสัชกรที่เป็นเซลล์แมนละแวกนั้นมาอยู่รับหน้าเวลาพนักงานลงพื้นที่ตรวจ แม้จะดูเหมือนว่ามีเภสัชกรในร้านยาถูกต้อง แต่ความจริงถือว่าผิด เพราะเภสัชกรประจำร้านจะต้องเป็นเภสัชกรที่มีชื่อในใบอนุญาต ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะหยวนให้กับกรณีนี้ แต่ความจริงแล้วผู้ตรวจจะต้องเข้มงวด และไม่ยอม เพราะปัจจุบันทำกันเป็นขบวนการ อย่างการลงพื้นที่ตรวจที่กรุงเทพฯ เมื่อ ธ.ค. 2556 พบว่า มีการรับจ้างมาอยู่หน้าร้าน เมื่อตรวจร้านหนึ่งเจอคนนี้เฝ้าร้าน พอไปตรวจอีกร้านก็เจอคนเดิมมาเฝ้าร้านให้อีก
“จริงๆ กรณีแบบนี้เอาผิดได้ ถือว่าเป็นการหลอกลวง เพราะเพียงแค่มาอยู่รับหน้าเฉยๆ ไม่ได้มาขายยา หรือต่อให้มาขายยาจริงก็ผิด เนื่องจากหากเภสัชกรประจำร้านไม่อยู่ร้าน จะต้องมีการทำเรื่องให้เภสัชกรมาอยู่ร้านแทนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากเป็นร้านยาใน กทม.ต้องแจ้ง อย. และต่างจังหวัดต้องแจ้ง สสจ. และต้องแจ้งล่วงหน้า 7 วัน และกำหนดให้ชัดว่าให้อยู่แทนตั้งแต่วันใดถึงวันใด โดยผู้ตรวจจะต้องเข้มงวด ทำเรื่องส่งสภาเภสัชกรรมเอาโทษทางจรรยาบรรณที่รุนแรงกว่า” ภก.จิระกล่าว
ภก.จิระกล่าวด้วยว่า หากไม่ทำเรื่องหาเภสัชกรมาอยู่ร้านยาอย่างถูกกฎหมาย เห็นควรให้รณรงค์ให้เภสัชกรปิดร้านแบบประเทศญี่ปุ่น เช่น จะไปเสียภาษี ไปกินข้าว ก็ต้องปิดร้านเลย แต่บ้านเราปิดชั่วคราวก็ไม่ยอม เพราะส่วนใหญ่กลัวคู่แข่งได้เปรียบ เลยต้องหาคนหรือจ้างคนมาอยู่ร้าน ซึ่งต่างจากคนรุ่นเก่าอย่างตอนเช้าทำงานเภสัชกรในโรงพยาบาลก็ปิดร้าน พอตอนเย็นเลิกงานจึงค่อยมาเปิดร้านและมาอยู่ร้านจริง แต่ทุกวันนี้ตอนเช้าร้านก็เปิด แต่ตัวไม่อยู่ร้านไปทำงานในโรงพยาบาล