xs
xsm
sm
md
lg

10 สิ่งต้องทำ! เพื่อ “คัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


1.ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย

สิ่งแรกที่ต้องทำเกี่ยวกับประเด็นพ.ร.บ.นิรโทษกรรมก็คือการศึกษาข้อมูลความเป็นมาของพ.ร.บ.นี้ จากแรกเริ่มที่ปรากฏในหลายร่างซึ่งมีเงื่อนไขและกรอบที่แตกต่างกันไป โดยพ.ร.บ.ที่ใช้ชื่อว่า “นิรโทษกรรม” มีชื่อเต็มๆ ว่า“พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ....” เกิดขึ้นเพื่อจุดประสงค์ทำให้เกิดความปรองดองขึ้นในสังคมหลังเหตุความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

โดยร่างพ.ร.บ.ที่ผ่านวาระแรกนั้นเป็นฉบับของวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยซึ่งมีการนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนทั่วไปที่ร่วมชุมนุมแสดงออกทางการเมืองโดยไม่รวมแกนนำคนสั่งการ แต่เมื่อพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านสู่การประชุมสภาวาระ 2 และ 3 กลับกลายเป็นพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยหรือ Set zero ซึ่งมีใจความสำคัญอยู่ที่ มาตรา 3 ซึ่งระบุไว้ดังนี้

“ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”

ซึ่งเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดการตีความได้มากมาย จนเป็นที่กังวลว่าจะยกโทษให้กับผู้กระทำผิดที่ยิ่งจะกลายเป็นการซ้ำเติมบาดแผลของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว

2.ร่วมชุมนุมคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเมืองภาคสนามนอกสภากลายเป็นสิ่งที่สร้างแรงกดดันให้กับการเมืองในสภามาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ถึงครั้งนี้จุดแตกหักของพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยจึงเกิดเป็นการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่มากมาย

โดยในกรุงเทพฯ มีการชุมนุมที่แยกอุรุพงษ์ของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) การชุมนุมที่สามเสนของกลุ่มพรรคประชาธิปปัตย์ แม้แต่กลุ่มเสื้อแดงก็มีการชุมนุมคัดค้านในวันที่ 10 พฤศจิกายนที่แยกราชประสงค์ นอกจากนี้ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศก็เริ่มมีการรวมตัวชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดตรัง การชุมนุมที่สี่แยกพระพุทธศรีสงขลานครินทร์ที่จังหวัดสงขลา และการชุมนุมศาลากลางจังหวัดลำพูน

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมทางการเมืองก็มีข้อควรระวังอยู่ที่ต้องประเมินจากสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้จากทุกฝ่าย

3.ติดตามความเคลื่อนอย่างใกล้ชิด

การเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้นมีขั้นตอนอยู่พอสมควร โดยสถานการณ์ล่าสุดคือการผ่านการประชุมสภาวาระ 3 ไปแล้ว แต่ยังคงมีขั้นตอนที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา โดยในขั้นตอนเหล่านั้นก็ยังมีช่องทางในการต่อสู้ของประชาชนเหลืออยู่

ดังนั้นการติดตามข่าวสารความคืบหน้าของพ.ร.บ.นี้รวมถึงความเคลื่อนไหวในการต่อสู้เพื่อคัดค้าน ทั้งการชุมนุม การล่ารายชื่อ การฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญจนถึงการแสดงออกต่างๆ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนรวมพลังต่อสู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

4.โซเชียลมีเดีย

การโพสต์แสดงความคิดเห็นและแสดงเจตนาว่า “คัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม” มีหลายรูปแบบด้วยกัน ทั้งการแชร์ข้อมูลหรือภาพที่แสดงออกถึงจุดยืนไม่เห็นด้วย สำหรับโลกยุคนี้กระแสในโซเชียลมีเดียไม่ใช่เพียงกระแสในโลกเสมือนที่จับต้องไม่ได้อีกต่อไป หากกลับเป็นกระแสที่สั่นสะเทือนมาถึงโลกแห่งความจริงที่หลายสื่อในกระแสหลักก็หันมาให้ความสนใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

ที่ผ่านมาพลังจากโซเชียลมีเดียก็ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปมากกว่าเพียงข้อความบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ จนถึงตอนนี้บุคคลในวงการบันเทิงหลายคนต่างพากันพูดถึงประเด็นนี้มากขึ้น ทั้งการโพสต์ข้อความ โพสต์รูปประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนผ่านทางช่องทางโซเชียลมีเดียทั้ง เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม

5.แสดงสัญลักษณ์

การใช้สัญลักษณ์ในการสื่อสารแทนความคิดทางการเมืองมีให้เห็นในหลายยุคสมัย ตั้งแต่การสวมเสื้อเหลือง เสื้อแดง จนถึงสัญลักษณ์มือตบ

มาถึงประเด็นคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในโซเชียลมีเดียก็มีปรากฏรูปภาพโลโก้ป้ายพร้อมข้อความ “คัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกอย่างเรียบง่ายและชัดเจน นอกจากนี้ทางฝ่ายประชาธิปัตย์ก็มีการประกาศให้แนวร่วมติดธงชาติไว้หน้าบ้านเป็นสัญลักษณ์ในการร่วมคัดค้านอีกด้วย

6.ชักชวนผู้อื่นเข้าร่วม

หลังจากปฏิบัติการแสดงจุดยืนด้วยตัวเองแล้ว การหาแนวร่วมเพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนสังคมก็ถือเป็นสิ่งจำเป็น อาจชักชวนเพื่อน ญาติ พี่น้อง พูดคุยเพื่อให้เข้าใจถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อร่วมส่งต่อความเข้าใจรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนในการคัดค้านความไม่ชอบธรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นในสังคมไทยครั้งนี้

7.ร่วมลงชื่อแสดงความเห็นคัดค้าน

การลงชื่อเพื่อแสดงเจตนาในการคัดค้านถือเป็นหนทางหนึ่งในแสดงออกที่เป็นไปตามกลไกทางกระบวนการที่เปิดช่องให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด

โดยตอนนี้การลงชื่อเพื่อรณรงค์ในหลายๆประเด็นในสังคมก็มีอยู่ในเว็บไซต์ Change.org ตั้งแต่ประเด็นด้านสาธารณประโยชน์อย่างสวนสาธารณะมักกะสัน จนถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมทั้งเขื่อนแม่วงก์ และการบังคับใช้เครื่องแบบทรงผม

ตอนนี้ประเด็นคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมมีการตั้งแคมเปญในชื่อ “ล้านชื่อหยุดกฎหมายล้างผิดคดีโกง” มีผู้ลงชื่อแล้วกว่า 3 แสนคนแล้ว

8.เปิดใจแลกเปลี่ยนความเห็นต่างทางการเมือง

การแบ่งฝั่งฝ่ายทางการเมืองเกิดขึ้นมาตลอดหลายปี แต่กับประเด็นคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมครั้งนี้อาจเป็นเพียงไม่กี่ครั้งที่กลุ่มก้อนต่างขั้วต่างฝ่ายทางการเมืองจะมีความเห็นที่ตรงกัน

ทั้งนี้ ในประเด็นที่มีจุดร่วมของการคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในรายละเอียดก็ยังคงมีความแตกต่าง บางฝ่ายมองว่า ไม่ควรนิรโทษให้กับผู้สั่งฆ่าประชาชน บางฝ่ายก็มองว่าไม่ควรนิรโทษให้กับคดีทุจริตที่มีการตัดสินไปแล้ว บางฝ่ายกังวลถึงขั้นว่าพ.ร.บ.นี้จะส่งผลไปถึงอนาคตด้วยกรอบพิจารณาที่กว้างและไม่แน่ชัด อาจล้างผิดในคดีทุจริตจำนำข้าว หรือถึงขั้นไปล้างอดีตอย่างกรณีตากใบ

อย่างไรก็ตาม โอกาสในการแลกเปลี่ยนกับความเห็นที่แตกต่างอาจช่วยเยียวยาความขัดแย้งในสังคมให้ทุเลาอุณหภูมิของความต่างและเพิ่มความเข้าใจเพื่อสร้างความปรองดองที่แท้จริงให้เกิดขึ้นในอนาคตได้

9.แสดงออกด้วยบทบาทตามหน้าที่ของตนเอง

นอกจากบทบาทในฐานะประชาชนแล้ว แน่นอนว่า ทุกคนย่อมมีบทบาทในหน้าที่ของแต่ละคนที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร หรือยังเป็นนิสิตนักศึกษาอยู่ก็ตาม การแสดงออกด้วยบทบาทหน้าที่ของตนเองก็สามารถสะท้อนจุดยืนทางการเมืองและขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมได้ ตัวอย่างเช่น ดารา นักแสดงหลายๆคนที่แสดงจุดยืนของตัวเองโดยใช้พื้นที่สื่อส่วนตัว

แม้แต่การรวมตัวในกลุ่มวิชาชีพในชื่อของสมาคมทางวิชาชีพต่างๆ และแสดงเจตจำนงในการคัดค้านก็สามารถทำได้ ตัวอย่างเช่น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (National Institute of Development Administration: NIDA) กลุ่มนักธุรกิจย่านสีลม กระทั่งการรวมตัวเป็นกลุ่มนักศึกษาก็สามารถทำได้เช่นกัน

10.ต่อสู้ตามกลไกรัฐธรรมนูญ

การต่อสู้ตามกลไกที่มีให้ของรัฐธรรมนูญถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ทดสอบความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยขั้นตอนหลังจากผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ต่อไปคือการผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา โดยระหว่างนั้นยังมีกลไกในการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความกฎหมายดังกล่าวว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากศาลตัดสินว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และกฎหมายสามารถผ่านการเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาไปได้ ยังมีกลไกในการรวบรวมรายชื่อ 20,000 ชื่อเพื่อเสนอถอดถอนส.ส.หรือส.ว. ที่คงคะแนนเห็นชอบกับร่างกฎหมายดังกล่าว

“เพื่อเป็นการลงโทษตบหน้าส.ส. ส.ว.เหล่านั้น แม้ในทางปฏิบัติแล้วการเสนอถอดถอนท้ายที่สุดจะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาฯซึ่งคงไม่มีทางทำได้ แต่มันก็จะถูกบันทึกไว้ในเชิงสัญลักษณ์ว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ขนาดไหน” ผศ.ดร.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เอ่ยถึงกรณีการต่อสู้ของประชาชน “มันเป็นจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น ก็หวังว่าระบบมันจะดีต่อไป ส.ส.ฟังเสียงประชาชนมากขึ้น มันก็เป็นกระบวนการของการเมืองที่อยู่บนตัวบทกฎหมาย”

ทั้งนี้ เขายังเผยต่อว่า ในรัฐธรรมนูญยังมีการระบุถึงอำนาจของประชามติที่สามารถใช้ได้ ประชาชนลงชื่อร้องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้ทำประชามติเกี่ยวกับการเสนอกฎหมายก็เป็นอีกหนทางที่เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ของฝั่งประชาชนกับนักการเมือง

….

จากกรณีพ.ร.บ.นิรโทษกรรมทำให้เห็นถึงความอัปยศของปัญหาการเมืองที่เต็มไปด้วยความบอบบางของอำนาจประชาชน แม้หลายเสียงหลายฝ่ายจะทัดทานแต่ท่าทีของนักการเมืองกลับยังคงมองข้ามเสียงที่ประกาศก้องเหล่านั้น ทางออกที่ดูสิ้นหวังคงมีเพียงแต่ประชาชนเท่านั้นจะร่วมกันคิดหาหนทางออกที่เหมาะสมที่สุดให้กับประเทศนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น