xs
xsm
sm
md
lg

สาเหตุเเละอาการโรคตาเหล่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รคตาเหล่เกิดขึ้นได้อย่างไร
สาเหตุของโรคตาเหล่เกิดจากการที่กล้ามเนื้อตาทำงานไม่สมดุลกัน หรืออาจเกิดจากกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ในเด็กบางคนอาจเกิดเป็นมาตั้งแต่กำเนิด ในบางรายเกิดจากสายตายาว ในเด็กที่มีสายตายาวเวลาดูใกล้ๆ เด็กต้องเพ่งมากเพื่อให้เห็นภาพชัดๆ ก็อาจเป็นผลทำให้เกิดตาเหล่เข้าได้ ในบางรายแม้ไม่มีสายตายาวแต่ถ้ากำลังในการเพ่งมองวัตถุใกล้ๆ มีมากผิดปกติ ก็จะทำให้เกิดตาเหล่เข้าได้ ส่วนในเด็กที่มีสายตาสั้นมากๆ อาจทำให้เกิดตาเหล่ออกได้ บางรายเกิดจากกรรมพันธุ์จากการที่มีบิดามารดาเป็นตาเหล่ บางรายเกิดจากมีโรคทางสมองที่มีผลทำให้กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
ถ้าท่านสงสัยว่าบุตรหลานของท่านอาจจะเป็นโรคตาเหล่ ไม่ว่าจะเป็นจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม ควรรีบพามาตรวจกับจักษุแพทย์โดยไม่ต้องรอให้เด็กโตก่อนแล้วค่อยพามา จักษุแพทย์สามารถตรวจตาเด็กเล็กๆ ได้ละเอียดพอสมควรเพื่อว่าจะได้รับการดูแลรักษาเสียแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดตาขี้เกียจตามมาได้

โรคตาเหล่มีประเภทใดบ้าง
ตาเหล่พบได้หลายแบบคือ ตาเหล่เข้า ตาเหล่ออก ตาเหล่ขึ้นบน ตาเหล่ลงล่าง โดยอาจเป็นชนิดตาเหล่สลับข้าง เช่นในบางเวลาตาขวาเหล่ ตาซ้ายก็จะตรงแต่บางเวลาตาซ้ายเหล่ ตาขวาก็จะตรง หรืออาจเป็นชนิดที่มีตาเหล่เพียงข้างเดียวตลอดเวลา ซึ่งชนิดนี้มักทำให้เกิดตาขี้เกียจในตาข้างที่เหล่ได้
ในบางคนอาจจะไม่เห็นว่ามีตาเหล่อยู่ตลอดเวลาแต่จะเห็นเป็นบางครั้ง เช่นในเวลาเหม่อ ในเวลาป่วย เหนื่อย อ่อนเพลีย หรือกำลังจ้องมองวัตถุใกล้ๆ ในผู้ที่เป็นตาเหล่เข้า หรือกำลังมองวัตถุไกลๆ ในผู้ที่เป็นตาเหล่ออก
ตาเหล่นอกจากจะมีอาการที่เห็นว่าตาไม่ตรงแล้วยังอาจทำให้มีอาการคอเอียงได้ด้วย โดยในเด็กบางคนพยายามปรับตาให้หายเหล่ด้วยการเอียงคอ อาจมีการหันหน้าไปทางด้านข้าง มีการก้มหรือเงยคางร่วมด้วย
นอกจากตาเหล่ลักษณะต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วยังพบว่าเด็กที่ตาไม่ได้เหล่ แต่ดูคล้ายกับว่ามีตาเหล่ได้เรียกว่าตาเหล่เทียม เกิดเนื่องจากเด็กเล็กๆ มีดั้งจมูกแบนกว้างไปปิดส่วนหัวตาที่เป็นตาขาว จึงทำให้ดูว่าตาดำเข้ามาอยู่ชิดกันคล้ายกับมีตาเหล่เข้าใน ทั้งที่ตาไม่ได้เหล่ เมื่อเด็กโตขึ้นจมูกโด่งขึ้นลักษณะดังกล่าวจะหายไปลักษณะของตาเหล่เทียมนี้เองที่ทำให้มีผู้เข้าใจผิดคิดว่าโรคตาเหล่ในเด็กนั้นหายไปได้เอง เมื่อเด็กโตขึ้นโดยไม่ต้องมารับการรักษาซึ่งไม่ถูกต้อง



โรคตาเหล่ที่เกิดเป็นมาตั้งแต่เด็กถูกปล่อยทิ่งไว้ โดยไม่ได้รับการรักษาจนถึงวัยผู้ใหญ่จะทำการรักษาได้หรือไม่
ยังทำการรักษาได้ โดยการผ่าตัดกล้ามเนื้อตาทำให้ตาดูตรงเป็นปกติ ซึ่งก็จะมีผลดีทางด้านสังคมและจิตใจ ทำให้บุคลิกดีขึ้น บางคนที่มีอาการปวดตาเวลาใช้สายตา เมื่อผ่าตัดแล้วจะทำให้หายปวดตาได้

ผลการรักษาแตกต่างกับการรักษาตั้งแต่เด็กหรือไม่
ในกรณีที่เกิดเป็นตาขี้เกียจในตาข้างที่เหล่แล้วคือตาข้างนั้นมัว มองเห็นไม่ชัด จะไม่สามารถทำให้ตาข้างนั้นกลับมาเห็นดีได้ ซึ่งเรื่องของตาขี้เกียจนั้นจะต้องรักษามาตั้งแต่เด็กๆ แต่สามารถทำการผ่าตัดให้ตาตรงได้
นอกจากนั้นในบางรายก็อาจจะเกิดการเห็นภาพซ้อนในระยะหลังผ่าตัดได้ คือเห็นคนๆ เดียวเป็นสองคนเกิดเนื่องจากตาไม่ได้ใช้งานร่วมกันมาเป็นเวลานาน พอผ่าตัดเลื่อนตามาให้ตรงหรือเป็นการเลื่อนตามายังตำแหน่งใหม่ ตาทั้งสองข้างยังอยู่ในภาวะที่ต่างคนต่างใช้จึงเห็นภาพเป็นสองภาพ แต่ส่วนใหญ่มักเป็นเพียงชั่วคราว จะหายไปได้ในเวลาไม่นาน มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นอยู่นาน ทำให้เกิดความรำคาญและรบกวนการใช้ตาในการมองสิ่งต่างๆ

โรคตาเหล่ที่เกิดเป็นภายหลัง คือเกิดในวัยผู้ใหญ่ มีวิธีการรักษาอย่างไร
โรคตาเหล่ที่เกิดในวัยผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคทางสมองที่ทำให้เส้นประสาทสมองเป็นอัมพาตกล้ามเนื้อตาของคนเรามี 6 มัดในตาแต่ละข้างเกาะอยู่รอบๆ ลูกตา ทำหน้าที่ในการกลอกตาโดยมีเส้นประสาทสมองมาเลี้ยงทั้งหมด 3 เส้น ได้แก่เส้นที่ 3, 4 และ 6 ถ้ามีโรคเกิดขึ้นกับเส้นประสาทสมองเหล่านี้ จะทำให้กล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาตก็จะมีตาเหล่เกิดขึ้น กลอกตาไปทางด้านของกล้ามเนื้อตาที่เป็นอัมพาตไม่ได้ หรือไปได้ไม่สุด และอาการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่รบกวนผู้ที่เป็นโรคนี้อย่างมากคือการเห็นภาพซ้อน สาเหตุของโรคทางสมองที่ทำให้เกิดอาการต่างๆ เหล่านี้ที่พบบ่อยๆ ได้แก่โรคของหลอดเลือดสมอง เช่น หลอดเลือดสมองอุดตัน ทำให้สมองส่วนนั้นขาดเลือดมาเลี้ยง เกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้สมองได้รับการกระทบกระเทือน เกิดจากเนื้องอกในสมอง เป็นต้น
ตาเหล่ที่เกิดจากกล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาตดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่แพทย์จะเฝ้าดูอาการประมาณ 6 เดือน -1 ปีเผื่อว่าอาการจะดีขึ้นมาเอง หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาทำการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งทำโดยการย้ายกล้ามเนื้อตามัดอื่นที่ปกติดี มาเย็บติดไว้กับกล้ามเนื้อตาที่เป็นอัมพาตเพื่อช่วยในการทำหน้าที่กลอกตา

สรุป
โรคตาเหล่ทำให้เกิดผลเสียสองประการ ประการแรก คือในด้านการทำงานของตา ทำให้การทำงานร่วมกันของตาทั้งสองข้างผิดปกติไป ผู้ที่เป็นตาเหล่จะใช้ตาได้เพียงข้างเดียวในการมอง และอาจทำให้เกิดตาขี้เกียจในตาข้างที่เหล่ได้ ผลเสียอีกประการหนึ่งคือเรื่องของความสวยงาม บุคลิกภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีซึ่งก็เป็นเรื่องที่ควรคำนึงถึงในสังคมปัจจุบัน ดังนั้นการรักษาตาเหล่ให้หาย ท่านก็จะได้ประโยชน์ถึงสองประการดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น