เอพี - แม่น้ำโขงเป็นเส้นเลือดใหญ่สำหรับผู้คนหลายล้านชีวิตใน 6 ประเทศที่แม่น้ำโขงไหลผ่านจากต้นน้ำสู่ทะเล ค้ำจุนแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกและนาข้าวอันอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม
แผนการของกัมพูชาที่จะสร้างคลองขนาดใหญ่เชื่อมแม่น้ำโขงกับท่าเรือบนชายฝั่งทะเลของตนเองในอ่าวไทย กำลังส่งสัญญาณเตือนว่าโครงการดังกล่าวอาจทำลายระบบน้ำท่วมตามธรรมชาติของแม่น้ำ ทำให้เกิดภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น และทำให้เกษตรกรในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงขาดตะกอนที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ทำให้เวียดนามเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก
กัมพูชาหวังว่าโครงการคลองฟูนันเตโชมูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์ ที่สร้างขึ้นด้วยความช่วยเหลือจากจีน จะช่วยสนับสนุนความทะเยอทะยานของกัมพูชาในการส่งออกสินค้าจากโรงงานต่างๆ ตามแนวแม่น้ำโขงได้โดยตรงโดยไม่ต้องพึ่งพาเวียดนาม ที่จะเชื่อมกรุงพนมเปญ กับ จ.แกบ ทางชายฝั่งตอนใต้ของประเทศ
ในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการขุดคลองเมื่อวันที่ 5 ส.ค. นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต กล่าวว่าคลองฟูนันเตโชจะต้องถูกสร้างขึ้นไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งไปยังท่าเรือสีหนุวิลล์ ที่เป็นท่าเรือน้ำลึกเพียงแห่งเดียวของประเทศ และคลองฟูนันเตโชสายนี้จะช่วยส่งเสริมศักดิ์ศรีของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน และการพัฒนากัมพูชา ผู้นำกัมพูชาระบุ
แต่อย่างไรก็ตาม เป้าหมายเหล่านั้นมาพร้อมกับความเสี่ยง
แม่น้ำโขงไหลจากจีนผ่านพม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม แม่น้ำโขงช่วยสนับสนุนการประมงที่คิดเป็น 15% ของการจับปลาน้ำจืดทั่วโลก ที่มีมูลค่ากว่า 11,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ตามข้อมูลของกองทุนสัตว์ป่าโลก น้ำท่วมในช่วงฤดูฝนทำให้สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีผลผลิตสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก
แม่น้ำโขงถูกรบกวนจากเขื่อนที่สร้างขึ้นทางต้นน้ำในลาวและจีน ที่จำกัดปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่ตอนล่างของแม่น้ำ ขณะเดียวกัน ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นกำลังกัดเซาะบริเวณขอบด้านใต้ของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
ไบรอัน อายเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Stimson Center ในวอชิงตัน เตือนว่าคันดินสูงตลอดแนวคลองกว้าง 100 เมตร ลึก 5.4 เมตร จะขัดขวางน้ำท่วมพร้อมดินตะกอนไหลลงสู่เวียดนาม ซึ่งอาจทำให้ภัยแล้งในบริเวณแหล่งปลูกข้าวของเวียดนามและที่ราบน้ำท่วมถึงของกัมพูชามีความรุนแรงยิ่งขึ้น
พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่แห้งแล้งขึ้น เป็นปัญหาสำหรับภาคการเกษตรของเวียดนาม ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศถึง 12% จังหวัดอาจซยาง และ จ.เกียนซยาง พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โครงข่ายแม่น้ำของพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่ตัดผ่านทุ่งนามีความสำคัญสำหรับแผนปลูกข้าวคุณภาพสูงและปล่อยมลพิษต่ำของเวียดนาม บนพื้นที่ 1 ล้านเฮกตาร์ภายในปี 2573 ที่มีเป้าหมายเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลกำไรให้เกษตรกร
น้ำจากแม่น้ำมีความจำเป็นไม่เพียงสำหรับประชาชนมากกว่า 100 ล้านคนของเวียดนามเท่านั้น แต่ยังสำหรับความมั่นคงด้านอาหารของโลกด้วย เหวียน วัน ญึต ผู้อำนวยการบริษัทส่งออกข้าวแห่งหนึ่งในเวียดนาม กล่าว
การส่งออกข้าวของเวียดนาม 8.3 ล้านตันในปี 2566 คิดเป็น 15% ของการส่งออกทั่วโลก
ข้าวส่วนใหญ่ปลูกในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ปัจจุบันปริมาณตะกอนที่ถูกพัดพาโดยแม่น้ำได้ลดลงแล้ว หากมีการหยุดชะงักเพิ่มเติมจะยิ่งทำให้สถานการณ์การรุกล้ำของน้ำเค็มในพื้นที่แย่ลงและส่งผลกระทบต่อเกษตรกร
“นี่จะเป็นข้อกังวลหลักสำหรับภาคการเกษตรของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง” ผู้อำนวยการบริษัทส่งออกข้าว ระบุ
กัมพูชากล่าวว่าคลองฟูนันเตโชเป็นโครงการสาขาที่เชื่อมกับแม่น้ำบาสักใกล้กรุงพนมเปญ ซึ่งฮุนเซนระบุว่าโครงการนี้ไม่มีผลกระทบต่อการไหลของแม่น้ำโขง
แต่แบบแผนของโครงการได้แสดงให้เห็นว่าคลองจะเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขงสายหลัก และไม่ว่ากรณีใด แม่น้ำบาสักก็ประกอบด้วยน้ำจากแม่น้ำโขงทั้งหมด อายเลอร์กล่าว
ทางการกัมพูชาพยายามลดความสำคัญของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการ ด้วยการชี้แจงว่าไม่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขง อายเลอร์ระบุ
เอกสารที่ส่งไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในเดือน ส.ค.2566 ไม่ได้กล่าวถึงการใช้น้ำจากคลองเพื่อการชลประทาน แต่กัมพูชาระบุในเวลาต่อมาว่าได้วางแผนที่จะทำเช่นนั้น
คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่าโครงการใหญ่ทั้งหมดบนแม่น้ำโขงควรได้รับการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจเกิดขึ้น และว่าคณะกรรมาธิการกำลังให้การสนับสนุนทางเทคนิคเพื่อเพิ่มความโปร่งใสและความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
นอกจากผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ทางการกัมพูชายังปฏิเสธกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อโครงการคลองฟูนันเตโช ที่ถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นความพยายามของชนชั้นปกครองของประเทศที่จะสร้างแรงสนับสนุนต่อนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ที่สืบทอดตำแหน่งต่อจากฮุนเซน พ่อของเขาที่ปกครองกัมพูชามานาน 38 ปี
แม้ว่าคลองดังกล่าวจะสร้างขึ้นร่วมกันโดยบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของจีน China Road and Bridge Corporation และบริษัทของกัมพูชา แต่โครงการนี้กลับเต็มไปด้วยวาทกรรมชาตินิยม ดังที่ฮุนเซนระบุว่าคลองสายนี้จะช่วยให้กัมพูชาหายใจได้ด้วยจมูกของตัวเองด้วยการลดการพึ่งพาเวียดนาม
เวียดนามหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อนบ้านอย่างเปิดเผย และใช้วิธีสื่อสารความกังวลของตนอย่างเงียบๆ โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนาม กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อเดือน พ.ค. ว่าฮานอยได้ขอให้กัมพูชาแบ่งปันข้อมูลและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการดังกล่าว เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองทางผลประโยชน์ของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง
นักวิเคราะห์จากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ชาวกัมพูชาจำนวนมากยังคงสงสัยเจตนาของเวียดนาม ด้วยเชื่อว่าอาจต้องการผนวกดินแดนของกัมพูชา อันเนื่องจากความขัดแย้งในอดีตระหว่างสองประเทศ เวียดนามเป็นประเทศใหญ่กว่าและร่ำรวยกว่าจึงระมัดระวังไม่ให้ดูเหมือนว่ากำลังละเมิดอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา
“แต่ในเวียดนามก็มีความกังวลมากมายต่อโครงการนี้” นักวิเคราะห์ กล่าว.