xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำกัมพูชาซัดกลุ่มสิทธิมองข้ามความผิดผู้ชุมนุมมีเจตนาโค่นล้มรัฐบาล หลังถูกวิจารณ์ไม่เคารพสิทธิประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - ผู้นำกัมพูชาตำหนิกลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่วิพากษ์วิจารณ์การจับกุมคนเกือบ 100 คน ที่ประท้วงต่อต้านข้อตกลงการพัฒนาภูมิภาคกับประเทศเพื่อนบ้าน

องค์การนิรโทษกรรมสากลและฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ออกคำแถลงร่วมถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการจับกุมโดยพลการตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา กับผู้ประท้วงอย่างน้อย 94 คน จากการวิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงที่รัฐบาลกัมพูชาลงนามร่วมกับลาวและเวียดนาม

“ผู้ที่ถูกจับกุมตัวอย่างน้อย 59 คน ที่รวมถึงนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และกลุ่มอื่นๆ ยังคงถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และถูกตั้งข้อหาจากการแสดงความคิดเห็นของพวกเขาอย่างสันติ รวมทั้งเด็กหลายคน” คำแถลงร่วมระบุ

“การกักขังและตั้งข้อกล่าวหาที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้แสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ไม่เคารพสิทธิของชาวกัมพูชา และพันธะผูกพันด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศ” คำแถลงระบุ

ฮุน มาเนต ได้กล่าวปกป้องการปราบปรามดังกล่าวโดยระบุว่า ทางการต้องปกป้องความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมและความมั่นคงเพื่อประโยชน์ของชาวกัมพูชาทุกคน และกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมประท้วงพยายามโค่นล้มรัฐบาลของเขา

ข้อตกลงพื้นที่สามเหลี่ยมการพัฒนากัมพูชา-ลาว-เวียดนาม (CLV-DTA) เป็นแผนพัฒนาที่มุ่งอำนวยความสะดวกด้านความร่วมมือทางการค้าและการย้ายถิ่นฐานใน 4 จังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา และพื้นที่ชายแดนในลาวและเวียดนาม ข้อตกลงดังกล่าวลงนามในปี 2542 และมีผลเป็นทางการในปี 2547

นักวิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์มุ่งเป้าที่การสัมปทานที่ดิน โดยกล่าวหาว่าข้อตกลงให้สิทธิพิเศษแก่ผลประโยชน์ต่างชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อตกลงดังกล่าวจะยกที่ดินและอำนาจอธิปไตยให้เวียดนาม ซึ่งถือเป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างยิ่ง

นักการเมืองฝ่ายค้านบางคนเคยใช้ถ้อยคำปลุกปั่นให้เกิดการต่อต้านเวียดนาม แต่รัฐบาลดำเนินคดีกับนักการเมืองและบุคคลอื่นๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของประเทศที่มีต่อเวียดนาม

การโต้เถียงเกี่ยวข้องข้อตกลงดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งบนโลกโซเชียลในเดือน ก.ค. โดยเฉพาะในหมู่ชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ที่นักการเมืองฝ่ายค้านเป็นที่นิยม ชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศได้ออกมาประท้วงในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลถอนข้อตกลงดังกล่าว

ฝ่ายต่อต้านข้อตกลงได้ตั้งกลุ่มบนเทเลแกรมเพื่อเรียกร้องให้ชาวกัมพูชาชุมนุมกันในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 18 ส.ค.

เหตุการณ์ดังกล่าวได้จุดชนวนให้เกิดการปราบปรามครั้งใหญ่ด้วยการจับกุม และมีการส่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหลายพันนายเข้าประจำการตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะในกรุงพนมเปญ

“กลุ่มสิทธิมนุษยชนท้องถิ่นกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐทั่วประเทศกำลังจับตาดูนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิที่ดินและประชาสังคม รวมถึงสั่งห้ามหลายคนเดินทางออกนอกชุมชนของตนเอง และข่มขู่สมาชิกครอบครัวของพวกเขา ทางการยังปิดทางหลวงที่เข้าสู่กรุงพนมเปญ และตรวจค้นรถตู้และแท็กซี่ที่เข้าสู่เมืองหลวงโดยพลการ” คำแถลงจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน ระบุ

ฮุน มาเนต กล่าวว่าเขาได้เห็นแถลงการณ์ดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ได้เอ่ยชื่อถึงกลุ่มใด

“คุณควรเห็นข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนเพราะมีหลักฐานมากมายที่จะตั้งข้อหาพวกเขา (ผู้ประท้วง) ก่อนวันที่ 18 ส.ค. พวกเขารวมตัวกันและนำอาวุธเข้ามา โดยมีเป้าหมายที่จะเผาอาคารและตั้งใจที่จะโค่นล้มรัฐบาล” ผู้นำกัมพูชา ระบุ

เขากล่าวหาว่ากลุ่มสิทธิมนุษยชนมมองข้ามความผิดทางกฎหมายของกิจกรรมของผู้ประท้วง

“คุณนิ่งเงียบ แต่เมื่อทางการบังคับใช้กฎหมาย คุณกลับบอกว่ามันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน” ฮุน มาเนต กล่าว

ฮุน มาเนต กล่าวว่ามีผู้ถูกจับกุมตัว 66 คน จากความเกี่ยวข้องในการจัดการชุมนุมประท้วงในกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 18 ส.ค. แต่มี 57 คน ได้รับการปล่อยตัวหลังจากสอบปากคำ และมีเพียงผู้วางแผน 9 คนเท่านั้นที่ถูกส่งตัวไปศาลและถูกตั้งข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการ.
กำลังโหลดความคิดเห็น