xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มสิทธิชี้กองทัพพม่ายังได้รับน้ำมันเครื่องบิน แม้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรขัดขวางการเข้าถึง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR ออนไลน์ - การขนส่งน้ำมันอากาศยานยังคงมาถึงพม่า แม้มีเสียงเรียกร้องให้กีดกันการเข้าถึงของกองทัพต่อทรัพยากรที่จำเป็นในการดำเนินการโจมตีทางอากาศอย่างผิดกฎหมายต่อกลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้เพื่อยุติการปกครองของทหาร กลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศระบุ

องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่า นักวิจัยของหน่วยงานพบแนวทางใหม่ที่รัฐบาลทหารเลี่ยงการคว่ำบาตร ด้วยการจัดส่งน้ำมันเครื่องบินโดยตรงจากเวียดนามมาถึงพม่าอย่างน้อย 7 ครั้งในปี 2566 และรูปแบบการขนส่งดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป โดยมีการขนส่งน้ำมันเครื่องบินอย่างน้อย 2-3 ครั้งมายังพม่าระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.

“เช่นเดียวกับการขนส่งก่อนหน้าที่ระบุโดยองค์การนิรโทษกรรมสากลในเดือน ม.ค. เชื้อเพลิงดังกล่าวถูกซื้อขายหลายครั้งก่อนมาถึงช่วงสุดท้ายของการเดินทางในเวียดนาม ก่อนที่จะขนส่งมายังพม่า” กลุ่มระบุในรายงาน

พม่าตกอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในต้นปี 2564 ที่ยุติการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินมาได้เพียงทศวรรษ

นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยหันไปจับอาวุธและเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ที่แสวงหาสิทธิในการปกครองตนเอง และพวกเขาได้ร่วมกันต่อสู้กับกองกำลังของรัฐบาลทหารในหลายพื้นที่ของประเทศในปีนี้

แต่กองกำลังเหล่านี้มีอาวุธที่มีประสิทธิภาพเพียงไม่กี่ชนิดสำหรับใช้ป้องกันตนเองจากการโจมตีทางอากาศ

ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในพม่าของสหประชาชาติกล่าวเมื่อเดือนก่อนว่าการโจมตีทางอากาศของทหารต่อเป้าหมายพลเรือนเพิ่มขึ้น 5 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แม้ว่าสหรัฐฯ และอังกฤษจะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรบริษัทน้ำมันที่นำเข้าเชื้อเพลิงเครื่องบินให้กับรัฐบาลทหารในเดือน ส.ค.2566 ก็ตาม

องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่า 2 กรณีในปีนี้คือเรือบรรทุกน้ำมันของจีนที่ขนส่งเชื้อเพลิงเครื่องบินจากเวียดนามไปยังพม่า และผู้ค้ามันในสิงคโปร์ที่ดูเหมือนจะมีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานดังกล่าว

“เช่นเดียวกับการจัดส่งในปี 2566 การจัดส่งปี 2567 เกี่ยวข้องกับการซื้อและการขายต่อน้ำมันเดียวกันหลายครั้ง ทำให้ยากที่จะติดตามซัปพลายเออร์แรกเริ่ม” กลุ่มสิทธิมนุษยชน ระบุ

“กองทัพพม่าพึ่งพาเรือจีนและบริษัทเวียดนามในการนำเข้าน้ำมันเครื่องบิน แม้ว่าองค์การนิรโทษกรรมสากลจะเปิดโปงห่วงโซ่อุปทานเหล่านี้ก็ตาม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการไม่ต้องรับโทษของกองทัพพม่าต่อสิ่งที่ดำเนินการอยู่ และการสมรู้ร่วมคิดของรัฐที่รับผิดชอบ รวมถึงเวียดนาม จีน และสิงคโปร์” เลขาธิการขององค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุ.
กำลังโหลดความคิดเห็น