MGR ออนไลน์ - ฮุนเซน ประธานพฤฒสภา (สภาสูง) ของกัมพูชา ขู่ว่าจะจับกุมใครก็ตามที่พยายามจัดการชุมนุมประท้วงในประเทศต่อต้านข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเวียดนามและลาว ที่กลายเป็นประเด็นถกเถียงในโลกออนไลน์ในช่วงเดือนที่ผ่านมา
ข้อตกลงปี 2542 ระหว่าง 3 ประเทศ มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา และจังหวัดใกล้เคียงที่อยู่ฝั่งตรงข้ามชายแดน
เมื่อเดือนที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหว 3 คน ถูกจับกุมในข้อหายุยงปลุกปั่น หลังจากพวกเขาพูดถึงความกังวลว่าพื้นที่พัฒนาสามเหลี่ยมกัมพูชา-ลาว-เวียดนาม หรือ CLV อาจทำให้กัมพูชาสูญเสียดินแดนหรือการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้เวียดนาม
นักเคลื่อนไหวได้แสดงความเห็นดังกล่าวในคลิปวิดีโอความยาว 11 นาที ทางเฟซบุ๊ก ที่ทำให้ฮุนเซนไม่พอใจอย่างมากและสั่งจับกุม และพูดถึงข้อตกลง CLV ต่อสาธารณะหลายครั้งตั้งแต่นั้นมา
เมื่อต้นสัปดาห์ ฮุนเซนได้โพสต์ข้อความเตือนบนเฟซบุ๊กว่าจะมีการจับกุมเพิ่มเติมอีก หลังจากที่ชาวกัมพูชาในต่างประเทศได้จัดตั้งกลุ่มสนทนาบนแอปพลิเคชัน Telegram เพื่อหารือเกี่ยวกับแผนการชุมนุมประท้วง CLV ในกรุงพนมเปญ วันที่ 18 ส.ค.
กลุ่ม Telegram ดังกล่าวสร้างขึ้นหลังจากมีการประท้วงต่อต้าน CLV ในช่วงสุดสัปดาห์ในหมู่ชาวกัมพูชาในต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น แคนาดา และออสเตรเลีย
“ผมอยากบอกพี่น้องทุกคนในกลุ่มนี้ว่าผมได้ฟังการสนทนาของคุณในกลุ่มมานานพอแล้ว พวกคุณกำลังถูกยุยงปลุกปั่นโดยคนต่างชาติ” ฮุนเซน กล่าว
ฮุนเซนระบุว่าเขามีสายลับในกลุ่ม Telegram ที่ส่งบทสนทนาและชื่อไปยังบัญชีส่วนตัวของเขา และเขาเสริมว่าเขาจะไม่สั่งจับกุมใครก็ตามที่ออกจากกลุ่ม
“เราไม่สามารถปล่อยให้คนเพียงไม่กี่คนทำลายความสงบสุขของประชาชน 17 ล้านคนได้ บางคนเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบังกลาเทศและเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในกัมพูชา ลองดูสิ! ถ้าคุณคิดว่าเป็นคนแข็งแกร่ง ก็ลองดู” ฮุนเซน กล่าว
ฮุนเซนก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปีที่แล้ว แต่ยังคงรักษาอำนาจในประเทศ ขณะที่ฮุน มาเนต ลูกชายของเขา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนเขา
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ฮุน มาเนต เตือนชาวกัมพูชาไม่ให้ชุมนุมประท้วงรัฐบาล โดยอ้างถึงการชุมนุมประท้วงของบังกลาเทศเมื่อไม่นานนี้ ที่กลายเป็นการปะทะกันอย่างรุนแรงและทำให้ผู้นำต้องออกจากประเทศ
ฮุน มาเนต ยังพยายามสร้างความมั่นใจให้ชาวกัมพูชาเกี่ยวกับ CLV ว่าข้อตกลงนี้จะไม่ส่งผลให้เกิดการสูญเสียดินแดนใดๆ
ด้านอดีตโฆษกของกลุ่มสิทธิมนุษยชน Adhoc กล่าวว่าชาวกัมพูชาทั้งในและนอกประเทศมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ โดยได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ
“การใช้กำลังขัดขวางประชาชนจากการแสดงความคิดเห็นไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศที่รัฐบาลอ้างว่ามีประชาธิปไตยและสันติภาพ” อดีตโฆษกของ Adhoc กล่าว.