เอเอฟพี - สื่อพม่าและคนในท้องถิ่นรายงานว่าเกิดเหตุปะทะใกล้กับกองบัญชาการทหารภูมิภาคในพื้นที่ตอนเหนือของประเทศในวันพุธ (3) ที่ดูเหมือนจะเป็นการขยายวงโจมตีของฝ่ายต่อต้านต่อกองกำลังของรัฐบาลทหาร
เสียงปืนดังสนั่นในเมืองล่าเสี้ยว ที่อยู่ทางตอนเหนือของรัฐชาน ที่เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการทหารภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกองทัพ ตั้งแต่คืนวันอังคาร (2) ตามการเปิดเผยของชาวบ้านรายหนึ่ง
“ตั้งแต่เมื่อคืนนี้เราได้ยินเสียงยิงปืนใส่กองบัญชาการทหารภูมิภาค พวกเราไม่กล้าออกไปข้างนอก” ชาวบ้านระบุ
การต่อสู้เกิดขึ้นนอกเมือง ชาวบ้านอีกคนบอกกับผู้สื่อข่าวของเอเอฟพี ที่ได้ยินเสียงระเบิดดังหนึ่งครั้งทางโทรศัพท์
เธอกล่าวว่า ทหารปิดถนนทุกสายที่มุ่งมายังเมืองล่าเสี้ยว แต่ร้านค้าบางแห่งในเมืองยังคงเปิดอยู่
คลิปวิดีโอที่อัปโหลดลงสื่อสังคมออนไลน์เผยให้เห็นอาคารไม้หลังหนึ่งถูกทำลายและมีไฟไหม้บางส่วน และสื่อท้องถิ่นรายงานว่ามีพลเรือน 6 คน เสียชีวิตจากการยิงปืนใหญ่
เมืองล่าเสี้ยวตั้งอยู่บนทางหลวงสายหลักที่ตัดจากเมืองมัณฑะเลย์ ไปยังมณฑลยูนนานของจีน
เที่ยวบินจากนครย่างกุ้งไปยังเมืองล่าเสี้ยวถูกยกเลิกทั้งหมดตั้งแต่เช้าวันพุธ (3) แหล่งข่าวสนามบินย่างกุ้งเผยกับเอเอฟพี โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่เรียกตนเองว่า “พันธมิตรสามภราดรภาพ” ได้เปิดฉากโจมตีทหารในปลายเดือน ต.ค. ใกล้เมืองล่าเสี้ยวและตามแนวชายแดนจีน
กลุ่มพันธมิตรยึดพื้นที่ได้เป็นบริเวณกว้าง รวมถึงจุดผ่านแดน ที่ส่งผลให้รัฐบาลทหารได้รับความเสียหายครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ยึดอำนาจในปี 2564
จีนเป็นคนกลางในการเจรจาหยุดยิงระหว่างกองทัพและพันธุมิตรกลุ่มชาติพันธุ์ในเดือน ม.ค. ที่ประกอบด้วยกองทัพอาระกัน (AA) กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า (MNDAA) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA)
เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา TNLA เปิดฉากโจมตีครั้งใหญ่ในรัฐชาน และภาคมัณฑะเลย์ที่อยู่ติดกัน
ทั้งนี้ เอเอฟพีได้สอบถามไปยัง พล.อ.ตาร์ โพน จ่อ ของ TNLA ว่ากลุ่ม TNLA มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบในเมืองล่าเสี้ยวหรือไม่ เขาตอบว่าทั้ง 3 กลุ่มอยู่ร่วมกัน และไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดเพิ่มเติม
เอเอฟพียังติดต่อไปยังโฆษกของ AA เพื่อขอความคิดเห็น แต่ไม่สามารถติดต่อ MNDAA หรือรัฐบาลทหารได้
พื้นที่ชายแดนของพม่าเป็นที่ตั้งของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์จำนวนมาก ที่หลายกลุ่มต่อสู้กับทหารตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491 เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองและการควบคุมทรัพยากร.