xs
xsm
sm
md
lg

หนุ่มสาวพม่าครวญทางเลือกเหลือน้อย หากไม่หนีไปต่างประเทศก็ตาย หลังรัฐบังคับเกณฑ์ทหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - ครูสาวชาวพม่าวัย 25 ปี เผยว่าเธอมีทางเลือกเหลืออยู่น้อยมาก หลังจากกองทัพพม่าประกาศว่าจะดำเนินการเกณฑ์ทหารเพื่อเสริมกำลังพลให้กองทัพที่กำลังรับมืออยู่ในหลายแนวรบ

“ในฐานะบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้ ฉันมีเพียง 2 ทางเลือกเท่านั้น คือ ไปต่างประเทศอย่างผิดกฎหมายหรือตายอยู่ที่นี่” ตเวล กล่าวกับสำนักข่าวเอพีทางโทรศัพท์ ขณะเดินทางไปยังพื้นที่ชายแดนเพื่อลองข้ามไปยังฝั่งไทยพร้อมกับกลุ่มคนที่มีความคิดเช่นเดียวกัน

ผู้สังเกตการณ์บางคนเชื่อว่า การอพยพยของคนหนุ่มสาวที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมากกำลังเกิดขึ้น และอาจกลายเป็นปัญหาทางสังคมได้ การออกจากประเทศของพวกเขายิ่งเพิ่มความไม่มั่นคงให้ประเทศหลังการยึดอำนาจของทหารที่ขณะนี้เปรียบได้กับสงครามกลางเมือง

บ้านเกิดของตเวลคือรัฐมอญ ที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศ เป็นสถานที่ที่มีการสู้รบเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวระหว่างกองทัพและกองกำลังต่อต้าน และเช่นเดียวกับคนในอาชีพอื่นๆ เธอเข้าร่วมในขบวนการอารยขัดขืนที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านการปกครองของรัฐบาลทหารหลังกองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีในปี 2564

นับตั้งแต่นั้น กองกำลังทหารได้กระจายกำลังออกต่อสู้ในหลายแนวรบท่ามกลางแรงกดดันที่เพิ่มสูงขึ้นจากกองกำลังต่อต้านสนับสนุนประชาธิปไตยและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ

ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มต่อต้านได้ชัยชนะอย่างมีนัยสำคัญและยึดดินแดนสำคัญทางยุทธศาสตร์ในรัฐชาน ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศติดกับจีน และในรัฐยะไข่ ทางตะวันตก

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย มีคำสั่งบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารปี 2553 เพื่อเสริมตำแหน่งในส่วนที่ว่างลงในกองทัพ ในความพยายามที่จะปราบปรามการก่อความไม่สงบที่ผุดขึ้นทั่วประเทศ ผู้ชายที่มีสุขภาพแข็งแรงอายุ 18-35 ปี และผู้หญิงอายุ 18-27 ปี จะต้องลงทะเบียนเข้ารับราชการทหารเป็นเวลา 2 ปี และการหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหารมีโทษจำคุก 3-5 ปี และปรับ

จากประชากร 56 ล้านคนของพม่า มีประมาณ 14 ล้านคนที่มีสิทธิรับราชการทหาร แบ่งเป็นผู้ชาย 6.3 ล้านคน และผู้หญิง 7.7 ล้านคน ตามที่ ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารระบุ และกล่าวว่ารัฐบาลจะเกณฑ์ทหาร 60,000 คนต่อปี โดยพลเรือนชุดแรกจำนวน 5,000 คน จะถูกเรียกตัวหลังการเฉลิมฉลองเทศกาลติงจานในช่วงกลางเดือน เม.ย.

แม้ ซอ มิน ตุน ระบุว่ายังไม่มีแผนที่จะเรียกตัวผู้หญิงเข้ารับราชการทหารในตอนนี้ แต่หลายคน รวมถึงตเวลก็กระตือรือร้นที่จะหาวิธีหลบหนี

ถนนหน้าสถานทูตไทยในนครย่างกุ้งเต็มไปด้วยผู้คนที่ต้องการยื่นขอวีซ่าเข้าคิวเพื่อรับหมายเลขนัดหมาย ซึ่งสถานทูตประกาศว่าจะรับนัดหมายวีซ่าเพียง 400 รายต่อวัน และจะต้องดำเนินการทางออนไลน์ ตามข้อมูลของกระทรวการต่างประเทศของไทย ขณะที่สื่อไทยรายงานเมื่อวันพฤหัสฯ ว่ามีชาวพม่าราว 7,000 คน ได้ยื่นขอวีซ่าแล้ว

ในแต่ละวันสำนักงานหนังสือเดินทางในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของพม่า มีผู้คน 4,000-5,000 คน เข้าแถวเพื่อรับบัตรนัดหมายที่ออกเพียง 200-250 ใบต่อวัน และมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตเป็นหญิง 2 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 1 ราย หลังจากพวกเขาตกลงไปในคูน้ำช่วงก่อนรุ่งสางขณะรีบไปเข้าแถวเพื่อให้ได้คิวเป็นคนแรกๆ




นักแปลข่าวอายุ 32 ปี จากนครย่างกุ้งกล่าวว่า เขาตัดสินใจทันทีที่จะเดินทางออกนอกประเทศหลังการประกาศบังคับเกณฑ์ทหาร และเดินทางมาไทยในอีกไม่กี่วันต่อมา

เขากล่าวว่ารู้สึกกังวลมาก เพราะการเป็นทหารก็เหมือนเข้าไปในเขาวงกตที่ไม่มีทางออก พร้อมยกตัวอย่างลุงของเขาที่ถูกเกณฑ์ทหาร 5 ปี แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากกองทัพมานานกว่า 40 ปีแล้ว

นักข่าววัย 26 ปี ที่ทำงานอย่างลับๆ ในมัณฑะเลย์กล่าวว่ากฎหมายเกณฑ์ทหารทำให้เขาตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก มีนักข่าวมากกว่า 150 คน ถูกจับกุมตัวหลังกองทัพยึดอำนาจ และมากกว่า 1 ใน 3 ยังคงถูกคุมขังจนถึงตอนนี้ ตามการระบุขององค์กรนักข่าวไร้พรมแดน

“ผมพยายามสุดความสามารถที่จะอยู่ในประเทศในช่วง 2-3 ปีมานี้ ขณะที่นักข่าวคนอื่นๆ หนีไปต่างประเทศ หรือไปยังพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์” นักข่าววัย 26 ที่ขอไม่เปิดเผยตัวตนกล่าว

“แต่ครั้งนี้เราไม่สามารถหลบซ่อนตัวที่ไหนได้อีก ไม่สามารถหลบพ้นสายตา ไม่เหลือทางเลือก” นักข่าวรายเดิมกล่าว และว่าเขากำลังวางแผนที่จะหนีไปไทย

สถาบันยุทธศาสตร์และนโยบายที่เป็นองค์กรคลังสมองอิสระกล่าวว่า การเกณฑ์ทหารอาจส่งผลให้เกิดการอพยพของคนจำนวนมาก การละเมิดสิทธิมนุษยชนในวงกว้างมากขึ้น และเพิ่มการทุจริตและการขู่กรรโชกในทุกระดับ นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าคนหนุ่มสาวที่อยู่ใกล้พื้นที่สู้รบอาจเข้าร่วมกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์และกลุ่มต่อต้านที่สนับสนุนประชาธิปไตย

สถาบันคลังสมองระบุว่า กองทัพมีทหารประมาณ 160,000 นาย ก่อนการยึดอำนาจ แต่ตอนนี้เหลือน้อยกว่า 100,000 นาย เนื่องจากการบาดเจ็บล้มตาย การละทิ้งหน้าที่ และการแปรพักตร์

เช่นเดียวกับตเวล แพทย์อายุ 35 ปี จากย่างกุ้งเข้าร่วมขบวนการอารยขัดขืน เขาถูกจำกัดไม่ให้รักษาผู้ป่วย เนื่องจากร่วมคว่ำบาตรโรงพยาบาลรัฐ ขณะที่คลินิกและโรงพยาบาลเอกชนเสี่ยงถูกปิด ถ้าพวกเขาจ้างคนเหล่านี้ นอกจากนี้ เขายังถูกขึ้นบัญชีดำจากหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง ทำให้ไม่สามารถออกหนังสือเดินทางเพื่อเดินทางออกนอกประเทศได้อย่างถูกกฎหมาย

กฎหมายเกณฑ์ทหารจำกัดอายุของผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพ เช่น แพทย์และวิศวกร ไว้สูงกว่า โดยผู้ชายจำกัดอายุสูงสุดที่ 45 ปี และผู้หญิงที่ 35 ปี โดยมีระยะเวลาเข้าเป็นทหารนาน 3 ปี

“สำหรับผมการประกาศกฎหมายดังกล่าวเป็นแรงผลักดันให้ตัดสินใจไปต่างประเทศ” แพทย์คนเดิมกล่าว และว่าเขากำลังค้นหาวิธีที่ดีที่สุดในการหลบหนีไปต่างประเทศหรือไปยังพื้นที่ชายแดนที่ควบคุมโดยกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์

กลุ่มต่อต้านชาติพันธุ์ เช่น กองทัพอาระกันจากรัฐยะไข่ และพรรคก้าวหน้ารัฐชาน ได้เชิญชวนผู้คนให้ลี้ภัยในดินแดนที่พวกเขาควบคุมอยู่ ขณะที่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ในรัฐกะเหรี่ยง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศก็เสนอให้ความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติที่เป็นรัฐบาลเงาของพม่า ประกาศว่าประชาชนไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว และเรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับการปกครองของทหารมากยิ่งขึ้น

กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) สาขาย่างกุ้งได้ประกาศรับสมัครสมาชิก ซึ่งพวกเขากล่าวว่าได้รับใบสมัครทางออนไลน์ประมาณ 10,000 ใบภายใน 12 ชั่วโมง

โม จ่อ จากสมาคมช่วยเหลือแรงงานพม่าในต่างประเทศ เชื่อว่ามีชาวพม่าวัยทำงานมากกว่า 1,000 คน ข้ามเข้าไปในฝั่งไทยทุกวันนับตั้งแต่มีประกาศบังคับเกณฑ์ทหาร

“นี่ไม่ใช่สัญญาณที่ดีที่ทรัพยากรมนุษย์และปัญญาชนออกจากประเทศ” โม จ่อ กล่าว

เขายังเห็นพ้องกับการคาดการณ์ของเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์อื่นๆ ว่าจะมีผู้คนเดินทางเข้าไปเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นการเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มมากขึ้น และจะเกิดความขัดแย้งขึ้นเมื่อผู้ที่เดินทางเข้าไปใหม่แข่งกันหางาน ในขณะที่มีแรงงานพม่ามากถึง 3 ล้านคนแล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น